ทำธุรกิจตามปกติเหมือนที่เคยๆ

6214
ม้วนฟิล์มของ kodak | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • ธุรกิจฟิล์มถูก disrupt จากการเข้ามาของดิจิทัล และทำให้ธุรกิจของโกดัก (Kodak) ต้องเจ๊งไป แต่กิจการของบริษัทอย่างฟูจิ (Fuji) กลับยังไปได้ดีอยู่ นั่นเพราะสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสองบริษัทคือทัศคติและวัฒธรรมองค์กรที่สนับสนุนการลองผิดลองถูก
  • การทำ Prototype หรือสร้างสินค้าหรือบริการต้นแบบคือการทำให้ไอเดียเป็นของจริง โดยมีวิธีคิด 3 อย่างคือ ทำแบบหยาบๆไม่ต้องละเอียด ทำให้เร็ว และทำแค่พอใช้ได้
  • หลายคนอาจมองว่าการลองทำอะไรใหม่ๆเป็นอะไรที่เสี่ยง แต่ที่จริงแล้วการทำธุรกิจตามปกตินี่แหละที่เสี่ยงที่สุด

เวลาเราพูดเรื่องนวัตกรรมอะไรพวกนี้เคสของโกดัก (Kodak) มักโดนยกมาพูดถึงเสมอๆ เรียกว่าเกือบทุกคลาส หนังสือเกือบทุกเล่มที่พูดเรื่องนี้ ต้องมีเฉียดๆเข้าไปหาโกดักบ้าง จะว่าไปก็น่าเศร้าแทนเหมือนกันนะครับ

แต่จริงๆแล้วอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้โกดักเจ๊ง?

โกดักไม่ได้เจ๊งเพราะ R&D ไม่ดี จริงๆแล้วทีม R&D ของโกดักเก่งมากๆเลยด้วยซ้ำ พวกเขาเป็นคนแรกที่คิดกล้องดิจิทัลออกมาได้ แต่เป็นเพราะปัญหาในองค์กร ด้วยวัฒธรรมในองค์กรที่ไม่ซัพพอร์ตการลองผิดลองถูก

Advertisements

พอเรานึกถึงโกดัก เราก็จะต้องนึกอีกบริษัทนึงคือ ฟูจิ (Fuji) ซึ่ง ฟูจิยังไม่เจ๊ง และกิจการยังดูไปได้ดี เราก็ลองมาพิจารณากันดูว่าทำไมฟูจิยังไปได้ ทั้งโกดักและฟูจิต่างก็โดน disruption ครั้งใหญ่ทั้งคู่ แล้วอะไรคือสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสองบริษัทนี้ครับ?


ทัศนคติ และ วัฒธรรม

ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปก็ต้องบอกว่าเป็น ทัศนคติ (Attitude) และ วัฒธรรม (Culture) ของการลงมือทำและการลองผิดลองถูก ต้องบอกว่านี่คือจุดที่แตกต่างกันของสองบริษัทนี้ที่เราเห็นได้ชัด ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจของฟูจิมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ส่วนด้วยกันคือ

  1. ธรุกิจเกี่ยวกับการถ่ายภาพ (digital)
  2. ธุรกิจเกี่ยวกับเอกสาร (document)
  3. ธุรกิจฟิล์ม (film)
Fuji film
FUJIFILM | รูปภาพจาก shutterstock.com

จะแปลกใจไหมครับ ถ้าจะบอกว่าธุรกิจที่สร้างอนาคตให้ฟูจิที่สุดคือธุรกิจฟิล์ม

ฮะ! เดี๋ยวก่อน ธุรกิจฟิล์มที่ทำโกดักเจ๊งไปน่ะเหรอ?? 

ใช่แล้วครับ ฟิล์มอันเดียวกันนั้นแหละ เพราะธุรกิจถ่ายภาพดิจิทัลและธุรกิจเกี่ยวกับเอกสารนั้นมีโอกาสถูก disrupt สูง แต่ธุรกิจฟิล์มที่ฟูจิเคยใช้ในการถ่ายภาพนั้น ทุกคนเลิกใช้ถ่ายภาพไป แต่ฟูจิยังไม่หยุดพัฒนาต่อ

โดยฟูจิพัฒนาฟิล์มให้ไปใช้ในอีกหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ฟิล์มบางในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ไปจนถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การทำ Recombinant Peptide (RCP) หรือ Hydro Ag ซึ่งเป็นการเคลือบเพื่อป้องกันแบคทีเรีย (antibacterial coating) ที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่าเทคโนโลยีแบบดั่งเดิมกว่า 100 เท่า และอื่นๆอีกมากมาย

โดยอุตสาหกรรมการแพทย์นั้นยังมีความสามารถในการเติบโตอีกมหาศาล และเรียกได้ว่าจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของฟูจิไปอีกนาน กลับมาที่คำถามเดิมอีกครั้ง อะไรที่ทำให้ฟูจิอยู่รอดจากการถูก disruption ในธุรกิจฟิล์มมาได้?

คำตอบคงมีหลายอย่างครับ แต่เรื่องที่สำคัญมากคือ ทัศนคติ และวัฒธรรมที่สนับสนุนการลองผิดลองถูก หรือการลงมือทำนั่นเอง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่ามันจะถูกไหม

Advertisements

ไอเดียมีราคาถูก

เวลาพูดถึง “การปรับตัว” มันจะดูกว้างมาก แต่ถ้าให้สรุปสั้นๆ มันคือ “การทำหรือไม่ทำ” เพราะ “ไอเดียใครๆ ก็มีได้” แต่อยู่ที่องค์กรจะสนับสนุนเรื่องนี้หรือเปล่า อย่างที่พวกสตาร์ทอัพเขาชอบพูดกันครับว่า “ไอเดียมีราคาถูก แต่การลงมือทำต่างหากที่เป็นทุกอย่าง” (idea is cheap, execution is everything)

ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ และเราแทบจะคาดการณ์อะไรกันไม่ถูกแล้ว การลองผิดลองถูกและการทำ Prototype (โปรโตไทป์ – สินค้าหรือบริการต้นแบบ) บนสมมติฐานของเราจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรียกว่า มันคือหัวใจของ “นวัตกรรม” เลยก็ว่าได้

การทำต้นแบบที่ดีคือการลองผิดลองถูกแบบไม่แพง เร็ว และเรียนรู้ได้ทันที

“การสร้างตัวต้นแบบอย่างรวดเร็ว” คือจะมุ่งเน้นไปที่การหาทางแก้ปัญหาให้ลูกค้า และพยายามลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ การทำต้นแบบที่ดีต้อง เร็ว ถูก และเรียนรู้ได้ทันที โดยความสำเร็จไม่ใช่ประเด็นหลัก


[Prototyping] การสร้างสินค้าหรือบริการต้นแบบ

ความหมายของ Prototyping คือ “ทำให้ไอเดียเป็นของจริง” เพราะการมีไอเดียอย่างเดียวไม่ใช่จะพอ แต่ต้องทำให้จริงด้วย ซึ่งการทำให้จริงก็ต้องอาศัย Prototyping

อย่างที่บอกครับ กุญแจคือการทำ Prototype คือทำอย่างไรให้เจ็บตัวน้อยที่สุด (ใช้เงินน้อย) และเร็วกว่าคนอื่น

Prototype RC
ต้องทำไอเดียให้ออกมาเป็นของจริง | รูปภาพจาก shutterstock.com

โดยมีวิธีคิดคือ 3R หรือที่เรียกว่า The Power of Prototyping (พลังแห่งการสร้างต้นแบบ) ได้แก่

  1. Rough คือทำแบบหยาบๆ ไม่ต้องละเอียด
  2. Rapid ทำให้เร็ว
  3. Right เอาให้แค่ว่าใช่ หรือใช้ได้ (just good enough to answer the questions at hand)

ยกตัวอย่าง หน้าเว็บแรกๆของอะเมซอนหน้าตาแย่สุดๆ ลองไปค้นกูเกิลดูได้ครับ และพอมีคนสั่งซื้อมา สิ่งที่ เจฟฟ์ เบโซส์ ทำคือเดินไปซื้อหนังสือที่ร้านหนังสือจริงๆ แล้วส่งไปรษณีย์ไปให้ลูกค้าครับ สิ่งที่ เจฟฟ์ เบโซส์ ต้องการทดสอบไม่ใช่เว็บที่สวยงาม แต่ต้องการทดสอบว่าการขายหนังสือออนไลน์นั่นมันจะมีคนซื้อไหม

ผู้บริหารต้องมี mindset (วิธีคิด) ก่อนว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคนี้ที่จะมี Innovation (นวัตกรรม) ที่ไม่เคยล้มเหลวมาก่อนเลย การลองผิดลองถูกอย่างมีระบบจึงต้องถูกฝังอยู่ในวัฒธรรมขององค์กร

แต่หลายคนบอกว่าการลองทำอะไรใหม่ๆเป็นอะไรที่เสี่ยง ซึ่งผมโคตรไม่เห็นด้วยเลยครับ เพราะธุรกิจทุกวันนี้ผมว่าการทำธุรกิจตามปกติ (business as usual) นี่แหละ เสี่ยงที่สุดแล้ว!!

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่