10 เรื่องเศรษฐกิจ ธุรกิจ สังคม ที่น่าจับตามองในปี 2022 

2529
น่าจับตามอง

“ถ้าหากปี 2021 เป็นปีที่โลกของเราหันหน้าเข้าต่อสู้กับโรคระบาด ปี 2022 คงเป็นปีที่เราจะต้องปรับตัวเข้ากับความเป็นไปใหม่ๆ”

เมื่อเวลาวนมาถึงปลายปีทีไร แน่นอนว่าเราก็มักจะเห็นการคาดการณ์เทรนด์ในปีหน้าออกมามากมาย ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2022 นับเป็นปีที่เราแต่ละคนต่างคาดหวังกันว่าจะมีสิ่งดีๆ อะไรเกิดขึ้น และถ้าหากเรารู้เทรนด์ก่อนก็คงจะดีไม่น้อยทั้งกับธุรกิจ ทั้งกับวิถีชีวิตของเราแต่ละคนเอง

บทความ “Ten Trends to Watch in the Coming Year” ของ The Economist ได้สรุปถึง 10 ประเด็นที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 จาก 10 บทความที่เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญ ภายใต้หัวข้อใหญ่อย่าง The World Ahead 2022 ที่พูดตั้งแต่เรื่องการเมือง สังคม ธุรกิจ เศรษฐกิจ การทำงาน การท่องเที่ยวไปจนถึงการแข่งขันทางอวกาศ ทำให้ในบทความนี้เราก็จะพาไปดูกันว่ามีประเด็นอะไรกันบ้างที่ต้องจับตามองในปีหน้า

Advertisements

ประเด็นที่น่าจับตามอง

1. การเผชิญหน้ากันของประชาธิปไตย (Democracy) และเผด็จการ (Autocracy)

อย่างที่เรารู้กันว่าสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีนนั้นเป็นสองคู่แข่งที่โลกต่างจับตามองกันมาหลายปีแล้ว ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่าต่อจากนี้ประเทศไหนจะสามารถสร้างความมั่นคง การเติบโต และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ดีกว่ากัน? 

ซึ่งเขาก็ได้ระบุว่าในปีหน้า สองคู่แข่งนี้จะดำเนินการแข่งขันในแทบจะทุกส่วน ตั้งแต่เรื่องของกฎเกณฑ์ทางด้านการค้า กฎเกณฑ์ด้านเทคโนโลยี การผลิตวัคซีน และไปจนถึงการแข่งขันทางด้านอวกาศเลยทีเดียว

2. จากการระบาดใหญ่ (Pandemic) สู่การเป็นเพียงโรคประจำถิ่น (Endemic)

นอกจากการคาดการณ์ของ The Economist แล้ว ยังมีบริษัทที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ที่ได้มีการคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ท้ายที่สุดแล้วโควิด-19 นั้นจะไม่หายไป แต่จะกลายเป็นเพียงโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งเป็นโรคที่สามารถคาดการณ์ได้และมีอัตราการป่วยคงที่ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น สืบเนื่องมาจากการผลิตคิดค้นและการพัฒนายาต้านไวรัสและวัคซีนชนิดใหม่ๆ ที่ช่วยให้เราป้องกันและรักษาจากโรคระบาดนี้ได้ดีขึ้นจนมันกลายเป็นโรคธรรมดาๆ ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2022 นี้ จะยังคงมีความแตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ความอันตรายของไวรัสโควิด-19 จะไม่ถึงแก่ชีวิตอีกต่อไป แต่จะยังคงมีความอันตรายต่อประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลกอยู่ 

“เว้นแต่จะมีการกระจายวัคซีนที่มากขึ้น ไวรัสโควิด-19 จะกลายมาเป็นโรคทั่วๆ ไปที่สร้างความทุกข์ให้กับคนจนไม่ใช่คนรวย”

3. ความกังวลที่มากขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ

การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและความต้องการด้านพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นได้ผลักให้ราคานั้นสูงตามขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ตาม ทางด้านธนาคารกลางในยุโรปและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนได้บอกว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อนั้นจะอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผู้เขียนก็ได้ระบุเพิ่มเติมว่า แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครจะเชื่อพวกเขาเลยว่ามันจะอยู่เพียงแค่ชั่วคราว ซึ่งสหราชอาณาจักรก็เป็นประเทศที่เสี่ยงที่สุดที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากการขาดแคลนแรงงานจำนวนมากหลังจาก Brexit และการพึ่งพาต่อก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง

4. อนาคตการทำงานที่เปลี่ยนไป

“ไฮบริด” คงเป็นรูปแบบการทำงานที่ใครหลายคนคาดว่าจะเป็นเทรนด์การทำงานในปีหน้าและปีต่อๆ ไป อย่างไรก็ตาม มันยังมีขอบเขตการทำงานในรูปแบบไฮบริดที่ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอยู่ในรายละเอียดต่างๆ เช่น ต้องเข้าออฟฟิศกี่วัน ใครต้องเข้าบ้าง แล้วมันจะแฟร์กับทุกคนจริงไหม?

จากการสำรวจก็พบว่าผู้หญิงนั้นมีแนวโน้มที่จะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศน้อยกว่า ดังนั้น พวกเขาอาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ทำให้เกิดคำถามว่าแล้วการประเมินผลในยุคไฮบริดต้องทำอย่างไร? นอกจากประเด็นนี้ความคลุมเครือยังครอบคลุมถึงเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงการมอนิเตอร์การทำงานของพนักงานจากทางไกลอีกด้วย 

เมื่อการทำงานรูปแบบใหม่ออกมา ก็ต้องมาดูกันต่อว่าแต่ละบริษัทจะมีมาตรการมารองรับการทำงานที่ครอบคลุม แฟร์ และมีประสิทธิภาพกันจริงหรือไม่ เพราะแน่นอนว่ามันก็ยังเป็นเรื่องใหม่ของทุกๆ บริษัท ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่ที่บริษัทต้องจัดการให้ได้

5. กระแสตีกลับบริษัทเทคโนโลยี (Techlash)

จากอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ทำให้หน่วยงานในทั้งฝั่งสหรัฐฯ และฝั่งยุโรปก็ได้มีการพยายามที่จะควบคุมบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มาหลายปีแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าความพยายามเหล่านี้ยังไม่ได้สร้างความเสียหายหรือผลกระทบในบริษัทเหล่านี้มากสักเท่าไหร่ 

Advertisements

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าตอนนี้ จีนก็ได้เริ่มที่จะเข้ามาเป็นผู้นำในการควบคุมบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้บ้างแล้ว หากใครตามข่าวก็จะเห็นการลงมือของจีนในช่วงปีที่ผ่านมาอยู่บ้าง ซึ่งทางผู้เขียนก็ได้ระบุว่าเป็นผลมาจากการที่ สี จิ้นผิง นั้นต้องการที่จะให้บริษัทเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) มากกว่า เพื่อที่จะให้ผลประโยชน์ทางด้านภูมิยุทธศาสตร์ แทนที่จะไปโฟกัสทางด้านอื่นๆ ทำให้เกิดคำถามว่าความพยายามเช่นนี้เป็นการส่งเสริมนวัตกรรมของจีน หรือเป็นยับยั้งการขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมนี้กันแน่? ทำให้เราก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าประเด็นร้อนระอุในจีนนี้จะมุ่งไปในทิศทางไหนในปีหน้า แล้วในประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ จะมี Techlash เพิ่มขึ้นมาอีกหรือไม่?

6. การเติบโตของคริปโทเคอร์เรนซี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมาคริปโทเคอร์เรนซีก็เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงและดูเหมือนจะเข้ามาดิสรัปต์การเงินในรูปแบบเดิมๆ อยู่บ้าง ทำให้ในตอนนี้คริปโทเคอร์เรนซีก็โดนจับตามองจากหน่วยงานต่างๆ แต่ในอีกทางหนึ่งเราก็เริ่มเห็นกันแล้วว่า มีความพยายามของธนาคารกลางบางประเทศที่กำลังมองหาช่องทางที่จะเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าเรื่องของคริปโทฯ บล็อกเชน และ DeFi ยังคงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองในปีหน้า และคาดว่าในประเด็นของ “เทคโนโลยีการเงิน”  ในปีหน้าจะยิ่งทวีคูณความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก

7. วิกฤตทางด้านสภาพภูมิอากาศ

ถึงแม้ว่าจะเกิดไฟป่า คลื่นความร้อนที่สูง หรือน้ำท่วมรุนแรง แต่เมื่อพูดถึงเรื่องของ “สภาพภูมิอากาศ” ทีไร ก็ดูเหมือนว่านักนโยบายต่างๆ ก็ไม่ได้มีท่าทีที่แสดงถึงความเร่งด่วนสักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม เรื่องของความขาดแคลนของทรัพยกรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่อง Greenflation (Green + Inflation)  ก็ยังเป็นเรื่องใหม่ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากใน ณ ขณะนี้ และเป็นที่น่าจับตามองอยู่ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป นโยบายต่างๆ ควรจะอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมากกว่านี้หรือไม่ และจะมีเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือปัญหาทางด้านสภาพภูมิอากาศหรือเปล่า

8. วิกฤตการท่องเที่ยว

“การเดินทางข้ามประเทศจะไม่กลับมาอยู่ในระดับเหมือนตอนปี 2019 ไปจนกว่าปี 2023 อย่างเร็วที่สุด และคาดว่าจะกลับมาเหมือนเดิมในปี 2024 มากกว่า”

ถึงแม้ว่าประโยคทางด้านบนจะทำให้จิตใจของใครหลายคนห่อเหี่ยว แต่ขอบอกเลยว่าในปี 2022 การเดินทางภายในประเทศนั้นก็จะดีขึ้นกว่าปี 2021 เป็นแน่ อย่างในประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐฯ ที่ในตอนนี้การเดินทางก็เริ่มกลับมาดีขึ้นเกือบเท่าตอนก่อนเกิดการระบาดแล้ว ในจีนยิ่งแล้วใหญ่ที่การเดินทางได้พุ่งสูงเกินระดับก่อนโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวในภูมิภาคเอเชียโซนอื่นๆ ยังมีความล่าช้าอยู่ ทำให้การเดินทางระยะไกลจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ นอกเหนือ ซะจากว่าการฉีดวัคซีนจะมีความทั่วถึงมากกว่านี้ แต่ข่าวร้ายก็คือ ในขณะที่การเดินทางยังคงถูกจำกัด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็เริ่มที่จะล้มหายตายจากไปกว่าครึ่งแล้ว

9. การแข่งขันทางอวกาศ

ปี 2022 จะเป็นปีแรกที่มีคนที่จ่ายเงินเพื่อที่จะไปอวกาศและได้ไปนอกโลกมากกว่าพนักงานของรัฐเสียอีก โดยโครงการเหล่านี้ก็จะถูกดำเนินการโดยบริษัทท่องเที่ยวอวกาศ ทำให้อาจมีการแข่งขันทางด้านนี้ที่สูงขึ้น ในฝั่งของจีนเองก็กำลังที่จะสร้างสถานีอวกาศสำเร็จ ธุรกิจต่างๆ ก็พยายามที่จะสร้างรายได้หรือมีส่วนร่วมกับอวกาศมากขึ้น ทำให้เรื่องนี้ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ค่อนข้างน่าจับตามองมากๆ ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป เนื่องจากเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับธุรกิจและเราทุกคน

10. การเมืองการกีฬา

ในปีหน้า โอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งและฟุตบอลเวิร์ลคัพที่กาตาร์จะเป็นอีเวนต์ใหญ่ที่รวมหลายๆ ประเทศเข้าด้วยกันอีกครั้ง แต่ในอีกทางหนึ่งกีฬาเหล่านี้มักจบลงด้วยการเป็นกีฬาที่พ่วงเรื่องของการเมืองอยู่เสมอ โดยเฉพาะจีนที่เป็นเจ้าภาพในปีหน้า ที่กำลังมีเรื่องร้องเรียนด้านมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์อยู่ ทำให้มีนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทั่วโลกต้องการที่จะแบนการจัดโอลิมปิกในครั้งนี้

จากทั้ง 10 ข้อนี้ก็ทำให้เราเห็นเรื่องราวของปีหน้าคร่าวๆ แล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง บางอย่างก็อาจจะเกิดขึ้นจริง แต่บางอย่างก็ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดในปัจจุบันก็ยังมีความไม่แน่นอนสูงในหลายๆ ประเทศ การระบาดมีผลมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาวะเงินเฟ้อ เรื่องอนาคตของการทำงาน เรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของการทำธุรกิจ ซึ่งหลายๆ เรื่องก็เป็นประเด็นใหม่ๆ ประเด็นสำคัญที่เราทุกคนก็ต้องจับตามองต่อไปว่าในปี 2022 จะเป็นอย่างไร

แปลและเรียบเรียง
https://econ.st/30gqYw9
https://econ.st/3wLy1sS
https://econ.st/3FjqSDm
https://econ.st/3Di8YA4
https://econ.st/3wMq0Eb

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่