รีวิวหนังสือ: 52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม และ 52 วิธีตัดสินใจไม่ให้พลาด

11585
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือ The Art of Thinking Clearly 1-2 เขียนโดย Rolf Dobelli ทั้งสองเล่มนี้จะช่วยให้เราเข้าในกระบวนการในการคิด วิเคราะห์ สิ่งต่างๆ ของสมองมากยิ่งขึ้นครับ

The Art of Thinking Clearly เล่น 1 ชื่อไทยว่า: 52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม ส่วนเล่ม 2 ชื่อไทยว่า 52 วิธี ตัดสินใจไม่ให้พลาด เขียนโดย Rolf Dobelli

ทั้งสองเล่มนี้เป็นหนังสือที่ช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการของสมองในการคิดมากยิ่งขึ้นครับ ผมขอเลือกบทที่ผมชอบๆ มารีวิวดูครับ

Will Rogers Phenomenon

ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ดูครับ

สมมติว่าคุณต้องดูแลสำนักงานขายรถยนต์สองแห่ง โดยมีพนักงานขาย 1, 2, 3 อยู่ในสาขาที่ 1 และพนักงานขาย 4, 5, 6 อยู่ในสาขาที่สอง โดยแต่ละคนขายรถได้ตามหมายเลขของตัวเองเลยคือ

  • พนักงานขายหมายเลข 1 ขายได้ 1 คัน
  • พนักงานขายหมายเลข 2 ขายได้ 2 คัน
  • พนักงานขายหมายเลข 3 ขายได้ 3 คัน
  • พนักงานขายหมายเลข 6 ขายได้ 6 คัน

โดยยอดขายของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคลไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ตั้งของสาขาแต่อย่างใด แบบนี้เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าสาขาแรก พนักงานขาย ขายได้เฉลี่ย 2 คันต่อคน ส่วนสาขาที่สองขายได้เฉลี่ย 5 คันต่อคน

ถ้าคุณได้รับคำสั่งมาให้เพื่มยอดขายต่อคนให้ได้ คุณจะทำยังไงครับ
คำตอบง่ายมากครับ แค่ย้ายพนักงานหมายเลข 4 มาสาขาแรก
สาขาแรกยอดขาดต่อคนก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 คัน
ส่วนสาขาที่สอง ยอดขายต่อคนก็เพิ่มเช่นกันเป็น 5.5 คัน

ทั้งหมดนี้ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลยให้กับบริษัท แต่ถ้าคนดูข้อมูลไม่ละเอียด อาจตกหลุมพรางนี้ได้

ลองมาดูอีกตัวอย่างครับ

ผู้จัดการกองทุนมีกองทุนให้จัดการสามกองทุนได้แก่ A, B, C โดย A มีผลตอบแทนเยี่ยมมาก ส่วน B ก็กลางๆ ส่วน C นั้นผลตอบแทนแย่

ทำยังไงจะทำให้ผลตอบแทนของแต่ละกองทุนดีขึ้น

เลือกหุ้นบางส่วนของกองทุน A ที่ฉุดผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุน A แต่ได้ผลตอบแทนที่ดีพอ ที่จะทำให้ค่าเฉลี่ยของกองทุน B และ C สูงขึ้นได้

เพียงเท่านี้ค่าเฉลี่ยของทั้งสามกองทุนก็จะดีขึ้นเลย ทั้งที่จริงๆ แล้วกองทุนทั้งสามไม่ได้ให้ผลตอบแทนมากขึ้นซักนิดเดียว


Sunk Cost Fallacy

เวลาเราตัดสินใจขายหุ้น เรามักอ้างอิงจากราคาที่ซื้อมา โดยจะขายก็ต่อเมื่อราคาสูงกว่าที่ซื้อมาซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นอาการ “ติดดอย” อยู่บ่อย ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจจะซื้อเพิ่มหรือจะขายนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ “ราคาที่เราซื้อมา” เพราะเราต้องดูอนาคตของหุ้นตัวนั้นต่างหาก

สิ่งที่น่าสนใจคือยิ่งขาดทุนเท่าไร เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะเก็บหุ้นตัวนั้นไว้มากขึ้น

นี่คือเราตกเป็นเหยื่อของ “sunk cost fallacy” เข้าให้แล้ว ซึ่งเป็นกับดักทางการเงินที่รุนแรงมาก

มีตัวอย่างเรื่องแบบนี้มากมายตั้งแต่เรื่องใหญ่ๆ จนถึงเรื่องเล็กๆ เช่น

  • การพัฒนาเครื่องบิน คองคอร์ด (concorde) ที่เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ซึ่งรู้อยู่ตั้งนานแล้วว่าทำยังไงก็ไม่รอด แต่ก็ยังทุ่มเงินพัฒนาลงไป เพียงเพราะว่า “เราลงเงินมาตั้งเยอะแล้ว”
  • สงครามเวียดนามที่มีแนวโน้มว่าจะแพ้ตั้งนานแล้ว แต่เราเสียทหารไปตั้งเยอะแล้วจะยอมตอนนี้ได้ยังไง
  • แคมเปญโฆษณาที่ดูแล้วไม่น่าจะไปต่อไป แต่เราลงทุนไปตั้งเยอะแล้ว เพิ่มอีกหน่อยละกัน
  • หนังสือที่อ่านไปก็รู้ว่าห่วย แต่ขออ่านให้จบละกันเพราะอ่านมาตั้งครึ่งเล่มแล้ว
  • ดูหนังที่ดูสักพักก็รู้อยู่แล้วว่าไม่สนุก แต่ทนดูจนจบ เพราะจ่ายค่าตั๋วมาแล้ว ทั้งๆ ที่ จริงๆ ค่าตั๋วไม่ควรเป็นเหตุผลด้วยซ้ำเพราะในความเป็นจริงเราเอาเงินคืนมาไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ดูต่อคุณจะประหยัดเวลาชีวิตไปได้

เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ให้ระวังคำว่า “เรามาตั้งไกลแล้ว ต้องไปต่อซิ” ไว้ให้ดีครับ


Contrast Effect

ตอนเด็กๆ เคยเล่นมือจุ่มน้ำอุ่นน้ำเย็นไหมครับ
เทน้ำอุ่นใส่ถึงใบแรก เทน้ำเย็นจัดๆ ใส่ถังใบที่สอง
จุ่มมือขวาในถังน้ำเย็นแล้วแช่ไว้หนึ่งนาที
จากนั้นจุ่มมือทั้งสองไปในถังน้ำอุ่น
คุณจะรู้สึกว่ามือซ้ายอุ่นสบาย แต่มือขวาร้อนจี๋​

นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า Contrast Effect ครับ

มันเคยมีการทดลองเรื่องนี้ครับ โดยพบว่าคนเราจะยอมเดินเพิ่มอีก 10 นาที เพื่อซื้ออาหารที่ราคาถูกลง 10 เหรียญ จากราคาเต็ม 50 เหรียญ แต่เราจะไม่ยอมเดินอีก 10 นาทีเพื่อซื้อเสื้อที่ถูกลง 10 เหรียญจากเสื้อราคาเต็ม 1000 เหรียญ

ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากเพราะมันเป็นการประหยัดเงิน 10 เหรียญเท่ากัน

เหมือนกับเวลาเราบอกว่าหุ้นตัวนี้ตอนนี้ “ราคาถูก” เพราะมันราคาแค่ 5 บาท ลดจากจุดสูงสุดที่ 15 บาท ลงมาตั้งเยอะมาก แต่ในความเป็นจริงหากดูจากราคาตอนนี้ เราไม่มีทางรู้ได้ว่าเลยหุ้นตัวนี้ “ถูก” หรือ “แพง” เพราะที่จริงแล้วมันขึ้นอยู่กับอนาคตต่างหากว่ามันจะขึ้นหรือลง

เวลามันมาในรูปแบบที่เห็นง่ายเราอาจจะรู้ตัวเช่น เสื้อผ้าลดราคา หรือ ของที่ซื้อตามทีวี ที่ลดจาก 10,000 เหลือ 999 แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าซื้อตอนนี้ แถมไปเลยอีกหนึ่งชิ้น (อันนี้เราเรียกว่า fake original price)

แต่ถ้ามันมาในรูปแบบที่ซ้บซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่น โอกาสในการลงทุน บางทีเราอาจมองข้ามเรื่องนี้ไปได้เฉยๆ

Advertisements

Simple Logic – สัญชาติญาณหลอกคุณ

ลองมาตอบคำถามง่ายๆ สามข้อกันครับ

  1. ถ้าเครื่องจักร 5 เครื่องของโรงทอผ้า สามารถผลิตเสื้อเชิ้ต 5 ตัวได้ภายใน 5 นาที แล้วเครื่องจัก 100 ตัว จะใช้เวลากี่นาทีในการผลิตเสื้ตเชิ้ต 100 ตัว
  2. ถ้าดอกบัวในสระน้ำ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกินเนื้อที่ในสระเพิ่มขึ้นวันละ 2 เท่า และใช้เวลา 48 วัน ดอกบัวจะขึ้นเต็มสระ คำถามคือต้องใช้เวลากี่วันดอกบัวถึงจะกินพื้นที่ไปครึ่งสระ
  3. ไม้ปิงปองและลูกปิงปองราคา 1.1 เหรียญ ไม้ปิงปองแพงกว่าลูกปิงปอง 1 เหรียญ ลูกปิงปองราคาเท่าไร

ถ้าเราใช้สัญชาติญาณหรือสิ่งที่เรียกว่า “สมองส่วนอัตโนมัติ” ในการตอบ คนส่วนใหญ่มักตอบว่า 100 นาที 24 วัน และ 0.1 เหรียญ ตามลำดับ

แต่คำตอบที่ถูกต้องคือ 5 นาที 47 วัน และ 0.05 เหรียญ
ลองหยิบเครื่องคิดเลขของคุณมาเช็คได้ครับ
เราถูกสัญชาติญาณหลอกๆง่ายกันแบบนี้เลยครับ

เอาใหม่

ถ้าคุณขับรถจากจุด A ไปจุด B ด้วยความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เดินทางกลับด้วยความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความเร็วโดยเฉลี่ยของการเดินทางคือเท่าไร
ตอบ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันใช่ไหมครับ

มันถูกไหมนะ

คำตอบที่ถูกต้องคือ 66.66 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ


การมองข้ามความเป็นไปได้ (Neglect of Probability)

มีเกมส์เสี่ยงโชคอยู่สองเกม เกมแรกมีรางวัลอยู่ที่ 10 ล้านเหรียญ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตคุณเลย เกมที่สองรางวัลอยู่ที่ 100,000 เหรียญ

  • ความเป็นไปได้ในการชนะเกมแรกอยู่ที่ 1 ใน 100 ล้าน
  • ความเป็นไปได้ในการชนะเกมที่สองอยู่ที่ 1 ใน 10,000

คุณจะเลือกเล่นเกมส์ไหนครับ

ถ้าเป็นคนปกติจะเลือกเล่นเกมส์แรก แต่ถ้าหากพิจารณาจากสถิติแล้ว เกมที่สองมีโอกาสชนะมากกว่าถึง 10 เท่า

สรุปโดยง่ายเลยก็คือว่า ไม่ว่าจะมีโอกาสชนะมากน้อยแค่ไหน คนเรามักจะเลือกเล่นเกมส์ที่มีรางวัลใหญ่กว่าเสมอ

การมองข้ามความเป็นไปได้เกิดขึ้นในหลายเหตุการณ์ครับ ถ้าเราไม่มองเรื่องนี้ เราจะลงทุนโดยมองที่ผลตอบแทนเป็นหลัก โดยลืมมองเรื่องความเสี่ยงไปครับ

เอาจริงๆ การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่แทบไม่ให้ความสำคัญเลย

อ่อ หน่วยงานที่ส่งรายได้ให้รัฐบาลมากที่สุดคือ กองสลาก ครับ ซึ่งมากกว่าอันดับสองคือ กฝผ ถึงเท่าตัวเลยทีเดียว


กฏว่าด้วยเรื่องจำนวนน้อย (The Law of Small Number)

สมมติว่าคุณเป็นผู้บริหารของร้านค้าปลีกที่มีสาขาถึง 1,000 สาขา และวันนี้เป็นการประชุมเรื่องเกี่ยวกับสินค้าถูกขโมยจากร้าน พอคุณดึงตัวเลขขึ้นมาคุณก็พบว่าสาขาที่มีขโมยมากที่สุด 100 สาขา มาจากชนบทท้ังสิ้น โดยดูจาก “ยอดของหาย ต่อ ยอดขาย”

แปลว่าเราควรจะติดกันขโมยเพิ่มในสาขาชนบทใช่หรือไม่

คำตอบคือไม่แน่ครับ

เพราะว่าถ้าเราดึง 100 สาขาที่มีการขโมยน้อยที่สุดมา ก็จะเป็น 100 สาขาที่อยู่ในชนบทเช่นกัน

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

เพราะว่าร้านค้าปลึกในชนบทนั้นเล็กกว่าในเมืองมาก การที่ของหายหนึ่งชิ้นจึงส่งผลต่อตัวเลขมากกว่าเยอะ และในทางกลับกันก็เป็นจริงเช่นเดียวกัน

นี่คือสิ่งที่เรียกว่ากฏว่าด้วยจำนวนน้อย หรือ the law of small number ครับ

ดังนั้นเวลามีสถิติทำนองนี้มาต้องระวังถูกหลอกด้วยกฏว่าด้วยจำนวนน้อยนะครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่