รีวิวหนังสือ: สร้างไอเดียไหนก็ได้ใจลูกค้าใน 5 วัน | Sprint

2418
หนังสือ sprint สร้างไอเดียไหนก็ได้ใจลูกค้าใน 5 วัน
หนังสือ sprint สร้างไอเดียไหนก็ได้ใจลูกค้าใน 5 วัน
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • สปรินท์เป็นกระบวนการที่มีไว้ตอบคำถามสำคัญโดยสร้างชิ้นงานต้นแบบและนำไอเดียไปทดสอบกับลูกค้า เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงสูง เวลาไม่พอ หรือมีเรื่องติดขัดทั่วไป
  • ทีมงานของสปรินท์ประกอบด้วยผู้ตัดสินใจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกค้า ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือการขนส่ง และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ซึ่งต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น วันจันทร์ถึงพฤหัสบดี
  • สามารถตรวจสอบเช็คลิสต์ก่อนทำสปรินท์ได้ที่ http://bit.ly/2h9duKZ

หนังสือเรื่อง สร้างไอเดียไหนก็ได้ใจลูกค้า (Sprint) เขียนโดย เจค แนปป์ จอห์น เซรัทสกี บราเดน โควิทส์ เป็นหนังสือที่ผมจัดให้เป็นสุดยอดหนังสือในลิสต์อีกเล่มครับ เพราะถ้าคุณเป็นเหมือนผม บางทีหนังสือเล่มนี้จะเปลี่ยนทัศนคติของคุณได้

ผมคิดว่าทัศนคติซึ่งเป็นรากฐานของสปรินท์นั้นคือหลักการสำคัญมากของการทำธุรกิจในยุคนี้ที่อะไรๆก็เปลี่ยนแปลงเร็วและคาดเดาได้ยากเหลือเกินครับ

Sprint หรือ สปรินทร์ คือกระบวนการ 5 วัน อันเป็นเอกลักษณ์ของบริษัทเครือกูเกิ้ล เป็นกระบวนการที่มีไว้ตอบคำถามสำคัญโดยอาศัยการสร้างชิ้นงานต้นแบบ และนำไอเดียไปทดสอบกับลูกค้า เป็นการผสมผสานกันทั้งกลยุทธ์ทางธุรกิจ นวัตกรรมใหม่ๆ พฤติกรรมศาสตร์ การออกแบบและอีกหลายเรื่อง เป็นกระบวนการที่มีขั้นตอนชัดเจนและไม่ว่าทีมงานไหนก็นำไปใช้ได้ 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่หาได้ยากมาก เพราะเป็นหนังสือประเภท “จับมือทำ” คือคนเขียนเขียนละเอียดขนาดที่เราสามารถทำตามได้เป็นขั้นเป็นตอนจริงๆ แต่เพราะอยากจะทำความเข้าใจมากขึ้นอีกหน่อย และอยากจะย่อให้ทุกคนได้อ่านง่ายขึ้น (และจริงๆ ผมอยากย่อไว้เพื่อไปรวมในสมุดงานองค์กรของศรีจันทร์ด้วย) จึงเป็นที่มาของบทความที่ยาวมากอันนี้ ซึ่งคือบทสรุปของหนังสือเล่มนี้นั่นเองครับ 

สำหรับคนที่อยากเข้าใจจริงๆ แนะนำให้ซื้อมาอ่านนะครับ หนังสือเล่มนี้ดีจริงๆ ครับ 


กระบวนการทำสปรินท์

กระบวนการของสปรินท์ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์กับปฏิกิริยาของลูกค้าจะเป็นอย่างไร โดยยังไม่ต้องรีบลงทุนเต็มตัวในราคาแพง เมื่อใช้สปรินท์ทดสอบไอเดียเสี่ยงๆ แล้วพบว่าไอเดียนั้นประสบความสำเร็จค่อยลงทุนต่อ ถ้าไม่สำเร็จก็ยังถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่าอยู่ดี เพราะเสียเวลาแค่ 5 วันและเวลาของคนแค่  7 คน (กับเงินลงทุนอีกนิดหน่อย) 

จริงๆ การได้พบข้อผิดพลาดร้ายแรงนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก  มันคือการเรียนรู้จากความล้มเหลวโดยไม่ต้อง “ล้มเหลวจริงๆ” 

เอาจริงๆ ประโยคข้างบนนี่เปิดโลกผมมากเลยนะครับ 

Sprint นั้นเหมาะกับงานที่ท้าทาย โดยสถานการณ์สามอย่างที่เหมาะมากกับการทำคือ

  1. ความเสี่ยงสูง: การทำสปรินท์คือการได้ตรวจสอบแผนที่นำทางก่อนเริ่มเดินเครื่องเต็มกำลัง
  2. เวลาไม่พอ: สปรินท์ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาในเวลาที่รวดเร็วสมกับชื่อของมัน
  3. เรื่องติดขัดทั่วๆไปของโครงการ: โครงการสำคัญบางอย่างเริ่มต้นได้ยาก ในสถานการณ์แบบนี้  สปรินท์จะช่วยทำหน้าที่เป็นจรวดเพิ่มแรงส่ง  หรือเป็นแนวทางแปลกใหม่ในการแก้ปัญหาได้  

อนึ่ง เนื่องจากสปรินท์ต้องใช้สมาธิและพลังงานมาก จึงไม่เหมาะกับเรื่องเล็กๆ หรือโครงการประเภท “ถ้ามีก็ดี แต่หากไม่มีก็ไม่เป็นไร”


ทีมงาน

ทีมงานถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคุณกับทีมงานต้องทุ่มเทความสามารถ เวลาและพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องรับมือกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ และใช้สติปัญญา (กับเล่ห์เหลี่ยมเล็กน้อย) เพื่อที่จะเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างที่เข้ามาขวาง งานนี้จึงจะสำเร็จได้

เราพบว่าขนาดทีมงานที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำสปรินท์คือไม่เกิน 7 คน และจะประสบความสำเร็จสูงสุดก็ต่อเมื่อนำคนหลากหลายมารวมตัวกัน และมีผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่มีความรู้เฉพาะทางอีก 2-3 ราย 

ทีมงานของสปรินท์ประกอบไปด้วย

  1. ผู้ตัดสินใจ (decider) ผู้ตัดสินใจเหล่านี้มักเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง มีความคิดเห็นและบรรทัดฐานกำหนดไว้ชัดเจนเพื่อจะช่วยหาทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น CEO, ผู้ก่อตั้ง ผู้จัดการฝ่ายผลิต เป็นต้น 
  2. ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ใครคือบุคคลที่อธิบายได้ว่าเงินมาจากไหน และจะออกไปไหน 
  3. ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดใครจะเป็นผู้สร้างสรรค์ข้อความสื่อสารของบริษัท 
  4. ผู้เชี่ยวชาญด้านลูกค้า ใครที่พูดคุยกับลูกค้าเป็นการส่วนตัวอยู่เสมอ
  5. ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหรือการขนส่ง ใครเข้าใจดีที่สุดว่าบริษัทคุณผลิตและส่งมอบอะไรได้บ้าง
  6. ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ใครจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ของบริษัท 

ผู้เชี่ยวชาญคนไหนที่เกินมา ให้เชิญมาในวันจันทร์ ซึ่งเวลาครึ่งชั้่วโมงอาจจะเพียงพอแล้วสำหรับผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่าน

สุดท้ายต้องไม่ลืมเลือกผู้ดูแลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการบริหารเวลาการสนทนาและดูกระบวนการโดยรวม ผู้ดูแลต้องมีความมั่นใจเพื่อนำการประชุม กล่าวสรุปการอภิปราย และคอยบอกให้แต่ละคนหยุดเพื่อเปลี่ยนหัวข้อถัดไป ผู้ดูแลต้องคงความเป็นกลางในการตัดสินใจจึงไม่ควรยึดตำแหน่งผู้ตัดสินใจและผู้ดูแลไว้พร้อมๆ กัน 


เวลาและสถานที่

ทีมงานสปรินท์ต้องอยู่ร่วมห้องเดียวกัน ตั้งแต่ 10.00 ถึง 17.00 วันจันทร์ถึงพฤหัส และเริ่มต้นการทดสอบในวันศุกร์เวลาเช้ากว่านั้นเล็กน้อย (ประมาณ 9.00) กฏระเบียบต่างๆ อุปกรณ์วิธีการจัดห้อง ฯลฯ สามารถไปดูได้ในเช็คลิสต์ในลิงก์ที่แนบไว้ท้ายบทความนี้ครับ 


วันจันทร์ 

เริ่มต้นทุกอย่างจากผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นในตอนสุดท้าย (start with the end in mind) 

ในการกำหนดเป้าหมายทุกครั้ง สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการมีสมมติฐานที่ผิดพลาด ยิ่งปล่อยให้สมมติฐานแบบนั้นอยู่ต่อไปโดยไม่ยอมตรวจสอบ ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเวลาทำสปรินท์จึงเป็นโอกาสทองที่จะได้ตรวจสอบสมมติฐานทั้งหลาย ขอให้เปลี่ยนสมมติฐานเหล่านั้นเป็นคำถามแล้วค้นหาคำตอบออกมา 

– แผนที่ 

ถ้าคุณเคยอ่าน The Lord of The Rings คุณจะพบว่ามันเป็นหนังสือที่สนุกมาก แต่ในขณะเดียวกันมันก็ซับซ้อนมากเช่นกัน ซึ่งอ่านไปอ่านมาอาจจะทำให้คุณสับสนได้ง่าย เพื่อป้องกันปัญหานี้ ผู้เขียนจึงได้ทำแผนที่ไว้ในตอนต้นของหนังสือไว้เพื่อให้คุณคอยพลิกไปดูว่าเหตุการณ์ในหนังสือเกิดขึ้นที่ไหน และเรื่องราวทั้งหมดมาปะติดปะต่อกันอย่างไร 

แผนที่ที่คุณต้องสร้างในวันจันทร์นั้นก็มีวิธีคิดที่ไม่ต่างกันครับ มันคือแผนที่ง่ายๆ ที่ใช้แทนรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย แผนที่ที่ว่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใช้ตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะในตอนบ่ายวันจันทร์คุณต้องใช้แผนที่เพื่อคัดเลือกปัญหาต่างๆที่มีอยู่มากมายทิ้งไป จนเหลือเป็นจุดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับการทำสปรินท์ นอกจากนี้ในสัปดาห์นั้น แผนที่จะเป็นตัวกำหนดโครงสร้างการร่างแนวทางแก้ปัญหาและชิ้นงานต้นแบบ ช่วยติดตามว่าทุกอย่างปะติดปะต่อกันอย่างไร

– จัดทำแผนที่

เมื่อเขียนเป้าหมายระยะยาวกับคำถามในการทำสปรินท์เสร็จ คุณต้องร่างแผนที่ฉบับแรกในเช้าวันจันทร์ เราทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. เขียนรายชื่อตัวละครไว้ทางด้านซ้าย ตัวละครหมายถึงผู้มีบทบาทสำคัญทั้งหมดในเรื่องราว ส่วนใหญ่มักหมายถึงลูกค้าหลากหลายประเภท หรือบางกรณีอาจไม่ใช่ลูกค้าก็ได้ เช่น ทีมขาย หรือผู้ควบคุมจากหน่วยงานภาครัฐ
  2. เขียนผลลัพธ์สุดท้ายไว้ทางขวา การค้นหาตอนสุดท้ายของเรื่องราวมักทำได้ง่ายกว่าการหาตอนกลางของเรื่องหลายเท่า อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น  
  3. เขียนคำพูดและลูกศรไว้ตรงกลาง 
  4. เน้นความเรียบง่าย กระบวนการในแผนที่ควรมีตั้งแต่ 5-15 ขั้นตอน ถ้าเกิน 20  ขั้นตอนขึ้นไปก็น่าจะซับซ้อนเกินไป 
  5. ขอความช่วยเหลือ ขณะวาดแผนที่ควรหมั่นถามทีมงานว่า  “แผนที่นี้ถูกต้องหรือยัง” 

ควรใช้เวลา 30-60 นาทีในการร่างแผนที่ขึ้นมา และสามารถอัปเดตและแก้ไขร่างแผนที่นี้ได้ตลอดทั้งวัน

– ซักถามผู้เชี่ยวชาญ 

 บ่ายวันจันทร์เราจะทำกิจกรรมที่เรียกว่าซักถามผู้เขี่ยวชาญ (ask the experts)  

เพราะไม่มีใครรู้ทุกอย่าง ความจริงแล้วข้อมูลๆ ต่างนั้นต่างกระจายอยู่ในทีมและองค์กร ขณะทำสปรินท์คุณต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดพร้อมกับทำความเข้าใจ ซึ่งการซักถามผู้เชี่ยวชาญก็เป็นหนทางที่ดีและรวดเร็วที่สุด การตัดสินใจว่าจะคุยกับใครนั้นถือเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง สำหรับทำงานของคุณ คุณอาจจะรู้อยู่แล้วว่าใครคือคนที่เหมาะสม เราเชื่อว่าคุณควรมีผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยหนึ่งคนไว้พูดคุยในแต่ละหัวข้อดังนี้

  1. เรื่องกลยุทธ์
  2. เรื่องความคิดเห็นของลูกค้า 
  3. เรื่องการทำงานของสิ่งของต่าง ซึ่งโดยมากหมายถึงกลไกการทำงานด้านเทคนิคของผลิตภัณฑ์ 
  4. เรื่องความพยายามในครั้งที่ผ่านๆมา

ระหว่างนี้ทุกคนจะต้องทำการจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ต่อมาเราจะทำสิ่งที่เรียกว่า “how might we” (เป็นไปได้ไหมที่) ซึ่งเป็นเทคนิคที่พัฒนามาจากพีแอนด์จีในช่วงปี 1970 จุดประสงค์ก็เพื่อนำการจดบันทึกของทุกคนมาจัดเรียงและเรียงลำดับความสำคัญ

โดยวิธีการคือ แต่ละคนจะเขียนบันทึกของตัวเองในกระดาษโพสอิทขนาด 3*5 ทีละแผ่น พอหมดวันก็ทำการจัดบันทึกของทั้งกลุ่มมารวมกัน จัดข้อมูล และเลือกส่วนที่น่าสนใจที่สุดออกมา บันทึกที่โดดเด่นเหล่านี้จะช่วยคุณตัดสินใจว่าควรจะเข้าไปแก้ปัญหาอะไรในแผนที่ 

หลังจากผ่านกระบวนการโหวตต่างๆแล้ว ผู้ตัดสินใจต้องเลือกลูกค้าเป้าหมายหนึ่งกลุ่มและเหตุการณ์สำคัญหนึ่งอย่าง เพื่อที่ทุกคนในทีมสปรินท์จะได้รับข้อมูลตรงกันและเข้าใจวัตถุประสงค์ของสัปดาห์นี้ 


วันอังคาร   

– เช้าวันอังคาร

วันนี้คุณจะต้องคิดหาทางแก้ปัญหา เราจะเริ่มวันด้วยการค้นหาแรงบันดาลใจ นั่นคือการใช้ “remix and improve” หรือนำไอเดียที่มีอยู่แล้วมาผสมผสานกับไอเดียอื่น รวมทั้งนำไอเดียที่มีอยู่แล้วมาปรับปรุงให้ดีขึ้น พอช่วงบ่าย แต่ละคนต้องวาดแผนที่ตามกระบวนการ 4 ขั้นตอน 

เราเริ่มต้นเช้าวันอังคารด้วยการนำเสนอไอเดียต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว แล้วเอามาผสมผสานกัน เราเรียกขั้นตอนนี้ว่า “lighting demos” นั่นคือทีมงานของคุณต้องสลับกันมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับทางแก้ปัญหาที่ชื่นชอบเป็นเวลา 3 นาที 

ยกตัวอย่างเคสของกาแฟบลูบอทเทิลที่ต้องการให้ลูกค้าค้นหาเมล็ดกาแฟที่พวกเขาชื่นชอบบนเว็บไซต์ แต่ด้วยความที่เมล็ดกาแฟหน้าตาคล้ายกันหมด การใช้รูปภาพจึงไม่ค่อยช่วยอะไร ทีมงานจึงใช้ lighting demo โดยการเข้าไปดูเว็บไซต์ขายของหลายชนิด ตั้งแต่เสื้อผ้าไปถึงไวน์ เพื่อหาวิธีการบรรยายเกี่ยวกับกับลิ้มรส เช่น เรื่องรสชาติ กลิ่น และผิวสัมผัสของกาแฟ 

สุดท้าย กระดาษห่อช็อคโกแลตให้ไอเดียที่เป็นประโยชน์ที่สุด เพราะสามารถบอกรสชาติแบบง่ายๆด้วยคำเพียง 6 คำเช่น สดใส ผลไม้ ดอกไม้ แข้มข้น ถั่ว และช็อกโกแลต เป็นต้น 

Advertisements

– บ่ายวันอังคาร 

บ่ายวันอังคาร คือเวลาคิดหาแนวทางการแก้ปัญหา ทว่าไม่มีการระดมสมอง ไม่ต้องตะเบ็งเสียงแข่งกัน ไม่ต้องยอมเปลี่ยนความคิดตามใคร จึงแสดงความคิดประหลาดได้เต็มที่ คุณต้องทำงาน ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ แล้ววาดออกมา 

การเขียนออกมาบนกระดาษนั้นมีพลังมากกว่าที่คุณคิดมากนะครับ คุณไม่จำเป็นต้องวาดรูปเป็นคุณก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้สบายๆ ครับ น้องต้อง กวีวุฒิเคยบอกว่าการวาดหรือ “การคิดด้วยมือ” นั้นเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมาก  

เราเรียกขั้นตอนในบ่ายวันนี้ว่าการ “ทำงานเดี่ยวร่วมกัน” 

การทำสปรินท์ของเรานั้น แม้ต้องทำงานเดี่ยว แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอนที่เฉพาะเจาะจง ทุกคนจะได้มีเป้าหมายและก้าวไปข้างหน้า เวลาที่แต่ละคนวาดอยู่ตามลำพัง เขาจะมีเวลาใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง เมื่อทั้งทีมงานทำงานไปพร้อมกัน ก็มักคิดหลากหลายไอเดียมาประชันกัน โดยไม่จำเป็นต้องร่วมกันคิดเหมือนการระดมสมองแบบกลุ่ม นี่คือวิธีคิดแบบ “การทำงานเดี่ยวร่วมกัน” ครับ 

สำหรับผู้ดูแลวันนี้ต้องเริ่มหาลูกค้าที่จะมาสัมภาษณ์ในวันศุกร์แล้วด้วยนะครับ 


วันพุธ 

ช่วงเช้าคุณจะต้องวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการแก้ปัญหาแต่ละแบบ พร้อมกับตัดสินใจว่าทางออกใดมีโอกาสบรรลุเป้าหมายระยะยาวได้ดีที่สุด จากนั้นในช่วงบ่าย คุณต้องนำการวาดแนวทางการแก้ปัญหาที่ชนะการโหวตมาร้อยเรียงเป็นสตอรี่บอร์ดต่อไปครับ 

เป้าหมายหลักของเช้าวันพุธคือการตัดสินใจว่าจะเอาวิธีการแก้ปัญหาแบบไหนไปสร้างชิ้นงานต้นแบบ

– การตัดสินใจ  

ตลอดหลายปีทีผ่านมา เราพยายามทำให้กระบวนการการตัดสินใจในการทำสปรินท์มีประสิทธิภาพมากที่สุด เราได้มาเป็นกระบวนการ 5 ขั้นตอนต่อไปนี้ ซึ่งทั้งหมดบังเอิญเกี่ยวข้องกับ “การแปะ”

  1. โชว์ผลงาน: ใช้เทปกาวติดผลงานการวาดแนวทางแก้ปัญหารูปต่างๆไว้บนผนัง
  2. หาจุดที่น่าสนใจ: พิจารณาวิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดแบบเงียบๆ แล้วใช้สติกเกอร์วงกลมแปะไว้ที่จุดที่น่าสนใจ
  3. รีบวิจารณ์แบบเร่งด่วน: พูดคุยเรื่องจุดเด่นของแต่ละวิธีอย่างรวดเร็ว แล้วจดไอเดียสำคัญๆ ไว้ในกระดาษโพสอิท
  4. ลงคะแนนหยั่งเสียง: แต่ละคนเลือกวิธีแก้ปัญหาพร้อมกับใช้สติกเกอร์รูปวงกลมมาลงคะแนนเสียง
  5. ใช้ซูเปอร์โหวต: ผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจจะทำหน้าที่ตัดสินใจครั้งสุดท้าย

หลังจากนั้นให้นำไปทำสตอรี่บอร์ดครับ แล้ววันพุธก็เสร็จแล้วครับ ทีนี้คุณก็พร้อมสำหรับการทำต้นแบบแล้ว 


วันพฤหัสบดี 

การทำต้นแบบคือการสร้างแค่ฉากหน้าซึ่งต้องใช้เวลาเร็วๆ เพราะเรื่องมันเป็นแบบนี้ครับ ยิ่งคุณใช้เวลากับอะไรนานขึ้น ไม่ว่าจะสร้างต้นแบบหรือสร้างผลิตภัณฑ์จริงๆคุณจะยิ่งยึดติดกับสิ่งนั้นมากขึ้น และมีโอกาสมากขึ้นที่จะไม่ยอมรับผลการทดสอบที่ออกมาไม่ดี แต่ถ้าใช้เวลาแค่วันเดียว คุณจะมีโอกาสยอมรับความคิดเห็นมากกว่า 

ถ้าคุณมองโลกในแง่ดีและมีทัศนคติที่อยากจะสร้างแค่ขิ้นงานต้นแบบ คุณจะหาทางสร้างม้นได้แทบทุกครั้งไปครับ 

ต้นแบบที่ดีควรมีคุณภาพที่พอเหมาะ คือต้องไม่มีคุณภาพต่ำเกินไปจนผู้คนไม่เชื่อว่าต้นแบบนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์จริง ส่วนถ้าคุณภาพสูงเกินไป คุณใช้เวลาทำทั้งคืนก็คงยังไม่เสร็จ คุณจึงต้องการต้นแบบที่คุณภาพพอเหมาะ ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป แค่พอดีๆครับ 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากทำแอพลิเคชันสักตัว แค่วันเดียวคุณทำไม่ทันแน่นอนครับ แต่งานนี้เราไม่ได้ต้องการแอพของจริง เราแค่ต้องการอะไรก็ได้ที่ “ดูเหมือน” แอพลิเคชนของจริง ซึ่งเราสามารถใช้คีย์โน้ตในเครื่องแมคนี่แหละครับทำได้เลย แถมยังเล่นวิดีโอได้ด้วยการใส่สกรีนช็อคของแอพสโตร์ (app store) เข้าไปหน่อย จะเพิ่มความเหมือนจริงมากยิ่งขึ้น 

ถ้าอยากทำเว็บไซต์ก็เช่นกันครับ ไม่ต้องทำเว็บจริง แต่เอา keynote ทำนี่แหละครับ

ใน www.thesprintbook.com ยังแนะนำเครื่องมือสร้างตัวแบบไว้อีกหลายอันครับเช่น Marvel, InVision, Keynotopia เป็นต้น ลองไปเล่นดูได้ครับ

การทำต้นแบบหลักๆ แล้วกิจกรรมจะมีอยู่ 4 อย่างด้วยกันได้แก่

  1. เลือกเครื่องไม้เครื่องมือให้เหมาะสม
    • ถ้าชิ้นงานเป็นจอแสดงผล การใช้คีย์โน้ตนั้นง่ายและรวดเร็ว
    • ถ้าเป็นเอกสาร ก็ใช้คีย์โน้ตหรือเวิร์ดก็ได้
    • ถ้าเป็นการบริการ ให้เขียนบทพูดและให้ทีมงานแสดงเอา
    • ถ้าเป็นการใช้พื้นที่ ให้ปรับพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว
    • ถ้าเป็นวัตถุสิ่งของ ให้ใช้วัตถุเดิมที่มีอยู่แล้ว เครื่องพิมพ์สามมิติ หรือใช้แค่โบรชัวร์แล้วเล่าเรื่องเอาก็ได้ 
  2. แบ่งหน้าที่กันทำงาน
    • ผู้ทำส่วนประกอบ
    • ผู้ดูแลงานขั้นสุดท้าย
    • ผู้เขียนข้อมูล
    • ผู้สะสมวัตถุดิบ
    • ผู้สัมภาษณ์
  3. ปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน
  4. ทำการทดสอบ

ระหว่างการทำต้นแบบควรนำผลงานที่ได้ไไปเทียบกับสตอรี่บอร์ดอีกทีเพื่อตรวจสอบว่าทุกอย่างตรงกัน ไม่มีจุดใดบกพร่อง ขั้นตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะย้อนกลับไปดูคำถามในการทำสปรินท์เป็นการตรวจสอบครั้งสุดท้ายว่างานต้นแบบจะช่วยตอบคำถามคุณได้จริงๆ 


วันศุกร์

สปรินท์เริ่มต้นจากการเผชิญปัญหาอันแสนท้าทาย เริ่มต้นจากการมีทีมงานชั้นเยี่ยม พอถึงวันศุกร์ของสัปดาห์การทำสปรินท์ สิ่งที่คุณได้ทำไปแล้วคือ การสร้างแนวทางการแก้ปัญหาที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดตลอดจนได้สร้างชิ้นงานต้นแบบที่ดูสมจริง เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นสัปดาห์ที่ทำผลงานได้น่าประทับใจมากๆ แล้ว 

แต่ในวันศุกร์ คุณจะก้าวไปอีกขั้นนึงด้วยการสัมภาษณ์ลูกค้า พร้อมกับได้เรียนรู้จากการเฝ้าดูลูกค้าแสดง “ปฏิกิริยา” ต่อชิ้นงานต้นแบบ การทดสอบครั้งนี้ทำให้การทำสปรินท์ทั้งหมดคุ้มค่ากับแรงที่ลงไป พอบ่ายวันศุกร์ คุณจะได้รู้ว่าต้องเดินหน้าไปอีกไกลแค่ไหน และทราบแน่ชัดว่าต้องทำอะไรต่อไป 

การสัมภาษณ์วันศุกร์จะมีลักษณะการทำงานดังนี้คือ จะมีทีมงานหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นผู้สัมภาษณ์ ซึ่งจะสัมภาษณ์ลูกค้าเป้าหมายไปทีละคนจนกระทั่งครบ 5 คน ผู้สัมภาษณ์จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าแต่ละรายทดลองใช้ชิ้นงานต้นแบบจนครบถ้วน แล้วตั้งคำถามไม่กี่ข้อเพื่อทำความเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไรขณะปฏิสัมพันธ์กับชิ้นงานต้นแบบ ขณะเดียวกันสมาชิกคนอื่นก็ต้องเฝ้าดูภาพวิดีโอสัมภาษณ์สดจากอีกห้องหนึ่ง เพื่อจะจดบันทึกปฏิกิริยาตอบสนองของลูกค้า

แนวคิดเรื่องการทดสอบอะไรก็ตามกับผู้คนกลุ่มเล็กๆ อาจทำให้บางท่านรู้สึกไม่สบายใจ อาจมีคำถามว่าการพูดคุยกับลูกค้าแค่ 5 คน เพียงพอแล้วเหรอ ผลลัพธ์ที่ได้จะคุ้มค่ากับแรงงานที่ลงไปหรือเปล่า

อย่าลืมว่าเมื่อตอนต้นสัปดาห์ คุณได้คัดสรรและเลือกผู้เข้าร่วมการทดสอบที่ตรงตามคุณลักษณะของลูกค้าเป้าหมายอย่างพิถีพิถัน ดังนั้นเมื่อได้พูดคุยกับผู้คนที่เหมาะสม เราจึงมั่นใจจริงๆว่า คุณเชื่อคำพูดของเขาได้ และเรายังมั่นใจจริงๆว่าคุณจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายจากลูกค้าเพียงแค่ห้าคนนี้ 

จาคอป นีลเซน คือผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ ซึ่งเฝ้าดูการสัมภาษณ์ลูกค้ามาหลายพันครั้งและนึกสงสัยว่า ผู้สัมภาษณ์ต้องทำการสัมภาษณ์กี่ครั้งจึงจะมองเห็นแนวโน้มที่สำคัญที่สุดหรือลักษณะที่เหมือนๆกันในเรื่องนั้นๆ (แพทเทิร์นที่สำคัญที่สุด)

จาคอปจึงทำจึงทำการวิเคราะห์การศึกษาผลิตภัณฑ์ 83 ครั้งของตนเองด้วยการวาดแผนภาพว่า เขาค้นพบปัญหากี่จุดหลังสัมภาษณ์ไป 10 ครั้ง 20 ครั้ง และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นสอดคล้องกันอย่างน่าประหลาดใจนั่นคือ การสัมภาษณ์ผู้ใช้งานเพียงแค่ 5 ราย เท่านี้ก็สามารถเจอปัญหาได้ถึง 85 % แล้ว 

จาคอปสรุปว่า “ผลวิจัยที่ได้รับมานั้นมีประโยชน์ลดน้อยลง ในการศึกษาเรื่องเดียวกัน การทดสอบกับผู้ใช้งานเกินกว่า 5 คนจะให้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นน้อยมาก ผลตอบแทนต่อการลงทุนจะร่วงลงอย่างน่าใจหาย” แทนที่จะทุ่มเทเวลามากมายไปกับการค้นหาคำตอบอีก 15 เปอร์เซนต์ที่เหลือ จาคอปทราบดีว่าเขาสามารถแก้ปัญหา 85% แรกแล้วค่อยทำการทดลองใหม่ก็ได้ 

เลข 5 จึงเป็นเลขมหัศจรรย์

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ตลอดทั้งเล่ม คุณจะทำงานได้รวดเร็วและชาญฉลาดขึ้นที่ Google Ventures ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพเพราะเราอยากเห็นธุรกิจเหล่านั้นเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น เราเองก็อยากเห็นคุณเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นเช่นกันครับ 

อย่างที่ผมบอกครับ หนังสือที่อ่านแล้วเปลี่ยนทัศนคติของคนได้มีไม่มากจริงๆครับ

และเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ก่อนเริ่มทำสปรินท์สามารถเข้าไปตรวจสอบ checklist อีกทีได้ที่นี่ครับ http://bit.ly/2h9duKZ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่