รีวิวหนังสือ: เห็นได้ก่อนใครใน 1 ย่อหน้า

1181
หนังสือ เห็นได้ก่อนใครใน 1 ย่อหน้า
หนังสือ เห็นได้ก่อนใครใน 1 ย่อหน้า
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • บางทีในการทำธุรกิจก็เป็นเรื่องยากมากที่จะตอบว่าอะไรจะเปลี่ยนไปในอนาคต ลองถามตัวเองและคนรอบข้างดูว่า “อะไรที่จะไม่เปลี่ยน” อาจง่ายกว่า เช่น อะเมซอนที่รู้ว่าไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนไปแต่คนก็ยังต้องการของราคาไม่แพง มีให้เลือกเยอะ และส่งตรงเวลา จึงสร้างธุรกิจบนพื้นฐานเหล่านี้
  • การทำธุรกิจต้องเริ่มจากการมีวัตถุดิบชั้นยอด เช่น ข้อมูล นอกจากนี้ต้องมีคนปรุงชั้นยอดอย่างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีด้วย ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรนี้ไม่ได้มีไว้ท่องจำ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำแม้จะไม่ใช่เวลาทำงาน ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีผู้นำที่ดี
  • การมองโลกให้เป็นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ถัาเราทำอะไรตามความเคยชิน เราอาจะเปลี่ยนตามโลกไม่ทัน
  • คนที่ทำกับคนที่ไม่ทำนั้นต่างกันอย่างประมาณไม่ได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นหาความรู้ตั้งแต่วันนี้

หนังสือเล่มนี้ตัวอักษรอาจจะไม่เยอะ แต่อ่านแล้วต้องคิดตามเยอะมากๆครับ ดังนั้นก่อนอ่านผมขออนุญาตแนะนำนิดหนึ่งครับ ทำหัวโล่งๆ สบายๆ หยิบสมุดโน้ตมาเล่มนึง  

อ่านบทหนึ่งแล้วคิดตามว่าเราจะเอาไปดัดแปลงใช้กับชีวิต งาน หรือครอบครัวของคุณได้อย่างไร เพราะในความเห็นผมนี่คือเสน่ห์ที่เจ๋งที่สุดของหนังสือเล่มนี้ครับ

ปากกา กับ  กระดาษ พร้อมแล้วนะครับ

งั้นเราไปลุยกันเลยครับ

แนะนำผู้เขียนนิดนึง คุณต้อง กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ถ้าเอาตามประวัติแบบเป็นทางการ เขาคือหัวหน้าทีม Express Solution ของ ปตท. ที่มีหน้าที่คอยคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆให้กับ ปตท. จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นนักเขียน เจ้าของเพจ แปดบรรทัดครึ่ง มีหนังสือ และมีคอลัมน์เป็นของตัวเอง รวมถึงยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง CU innovation hub ด้วย และถ้าพูดคำว่า “design thinking” ในประเทศไทยชื่อของคุณต้อง จะเป็นคนแรกๆที่ทุกคนนึกถึง

แต่ถ้าคุณถามผมว่าคุณต้องเป็นอย่างไรเท่าที่ผมเคยสัมผัสมา ผมตอบสั้นคำเดียวเลยครับว่าผมคิดว่าคุณต้องคือ

“futurist” (ผู้ที่สามารถคาดการณ์อนาคตได้) ครับ

เราไปรู้จักเขาผ่านตัวอักษรกันครับ

คุณเคยคิดไหมว่าพรุ่งนี้อยากทำอะไรดี ? 

เวลาคิดถึงถึงว่าอยากทำอะไรดีเรามักคิดถึง อนาคต และเมื่อคิดถึงอนาคตเรามักคิดถึงเรื่องที่จะเปลี่ยนไป

นักข่าวเคยถาม เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู่ก่อตั้งอะเมซอนว่า “คุณคิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าอะไรจะเปลี่ยนไป?”

เจฟฟ์ ตอบว่า “เป็นเรื่องยากมากที่จะตอบว่าอีก 10 ปีอะไรจะเปลี่ยนไป แต่เรารู้ว่าอะไรที่อีก 100 ปีจะไม่เปลี่ยนแน่ๆ ผู้คนจะยังต้องการของที่ราคาไม่แพง มีให้เลือกเยอะตามต้องการ และส่งตรงเวลา”

อะเมซอนสร้างธุรกิจบนพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ 

บางทีถ้าคุณกำลังคิดจะทำธุรกิจ แทนที่จะคิดว่าอะไรจะเปลี่ยนบางซึ่งยากมาก ลองถามตัวเองและคนรอบข้างดูว่าอะไรที่จะไม่เปลี่ยนบ้าง

เวลาจะทำธุรกิจก็คงคล้ายๆทำอาหาร คือเราต้องเริ่มจากวัตถุดิบ ถ้าผืนแผ่นดินคือวัตถุดิบของยุคเกษตรกรรม และเหล็กคือวัตถุดิบของยุคอุตสาหกรรม ข้อมูลคงเป็นวัตถุดิบของยุคดิจิทัล แม้มันไม่มีรูป ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส จับต้องไม่ได้ แต่มันมีพลังมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นอูเบอร์ แอร์บีเอ็นบี หรือ กูเกิ้ล ล้วนมีวัตถุดิบชั้นยอดกันทั้งนั้น

แล้วบริษัทคุณละมีวัตถุดิบชั้นยอดรึเปล่า?

มีวัตถุดิบแล้วก็อย่าลืมคนปรุงด้วย องค์กรทุกวันนี้ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นคน อะไรที่ทำให้คนสร้างมูลค่าให้องค์กรได้มากที่สุด คำตอบคงจะเป็นวัฒนธรรมองค์กร 

วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร 

คืนหนึ่งมีฝนตกหนักในชิคาโก รถติดยาวไม่ขยับ รถโตโยต้าคันหนึ่งที่ปัดน้ำฝนหัก คนขับมองไม่เห็นทางและเริ่มลุกลี้ลุกลนทำอะไรไม่ถูก 

Advertisements

ทันใดนั้นชายคนหนึ่งก็เปิดประตูลงมาจากรถคันข้างๆ และช่วยซ่อมที่ปัดน้ำฝนให้ท่ามกลางพายุฝนที่โหมกระหน่ำ พอสอบถามว่าชายคนนั้นเป็นใครก็ได้รับคำตอบว่า

“ผมเป็นพนักงานที่เกษียณแล้วของโตโยต้า ผมทนไม่ได้เวลาเห็นลูกค้าลำบากก็เลยลงมาช่วย”

วัฒนธรรมองค์กรไม่ได้มีไว้ให้ทุกคนท่องจำ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำแม้ไม่ใช่เวลาทำงาน วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขี้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีผู้นำที่ดี

แซม วอลตัน (Sam Walton) เจ้าของห้างวอลมาร์ท มหาเศรษฐีลำดับต้นๆของโลกเคยถูก รปภ. ของห้างคู่แข่งในประเทศบราซิลโยนออกมานอกร้าน ขณะที่กำลังคุกเข่าอยู่และใช้สายวัดวัดขนาดของช่องทางเดินที่คนเดินผ่านไปผ่านมา

ก็ถ้าเจ้านายเล่นทุ่มสุดตัวเพื่อศึกษาคู่แข่งขนาดนี้ มีหรือลูกน้องคนไหนจะไม่ปลื้ม นี่แหละครับผู้นำที่ใครๆอยากเดินตาม

ผู้นำดีแล้ว คนดีแล้ว วัตถุดิบดีแล้ว วิสัยทัศน์ต้องดีด้วย ต้องมองโลกให้เป็น

คำถาม: ถ้าบ้านหลังคารั่ว คุณจะซ่อมเมื่อไร?

แจ็ค หม่า (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งอาลีบาบาบอกว่า จงซ่อมหลังคาในวันแแดดออก “ตอนเศรษฐกิจดีผมจะไปกู้เงินมาเก็บไว้ พอเศรษฐกิจไม่ดีผมจะเอาเงินที่กู้มาลงทุนจนหมดหน้าตัก”

คิดการณ์ไกลสวนทางชาวบ้านอย่างนี้ ไม่แปลกที่อาลีบาบาจะโตวันโตคืนสวนทางกับเศรษฐกิจโลก เห็นแล้วกลับมามองที่ตัวเรา วันนี้เรายังทำอะไรที่เคยชินมากแค่ไหน เรากล้าที่จะเปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนมากแค่ไหน

เมื่อลูกช้างเกิดมาในโรงละครสัตว์ ขาข้างนึงของมันจะถูกมัดไว้กับเสา ในช่วงแรกช้างน้อยจะพยายามสู้กับเชือกอย่างสุดแรงเพื่ออิสรภาพ ทว่าเมื่อสู้จนเหงื่อไหลอาบแต่ก็ไม่สำเร็จ ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์มันก็เริ่มเรียนรู้แล้วว่าขอบเขตที่เดินไปได้มีอยู่แค่นั้น ที่น่าสนใจคือเมื่อมันโตขึ้นและมีเรี่ยวแรงพอที่จะดึงเชือกขาดได้ง่ายๆ มันกลับไม่เดินออกไปแม้แต่ก้าวเดียว

คุณคิดว่าสิ่งที่จำกัดอิสรภาพคืออะไร เชือกหรือความเคยชิน

ขอปิดท้ายด้วยคำถามว่า คุณอยากพาตัวเองไปไกลแค่ไหน ?

เรื่องนี้เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพสุดๆ

เพื่อนคุณอ่านหนังสือสองเล่ม คุณอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม คุณจะมีความรู้น้อยกว่าเพื่อนครึ่งหนึ่ง (2 หารด้วย 1) เพื่อนคุณอ่านหนังสือหนึ่งเล่ม แต่คุณไม่คิดจะอ่านเลย (1 หารด้วย 0) ความแตกต่างไม่ใช่หนึ่งเท่า แต่เป็น “อนันต์” เลย

ประเด็นก็คือคนที่ทำกับไม่ทำนั้นต่างกันอย่างประมาณไม่ได้ หมั่นหาความรู้ตั้งแต่วันนี้เถอะครับ

หนังสือเล่มนี้ ร้อยคนอ่านจะได้ร้อยบทสรุปที่แตกต่างกันครับ 

ลองหาบทสรุปของคุณเองนะครับ

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่