รีวิวหนังสือ: ปัญญางาน จัดการตน | Managing Oneself

5963
หนังสือ ปัญญางาน จัดการตน | Managing Oneself
หนังสือ ปัญญางาน จัดการตน | Managing Oneself
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • หนังสือเล่มนี้กล่าวว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ล้วนแล้วแต่รู้จักวิธีการจัดการตนเองทั้งสิ้น ได้แก่
  • รู้จักจุดแข็งของตัวเอง แล้วมุ่งพัฒนาที่จุดแข็งนั้นแทน จะดีกว่าพัฒนาจุดอ่อนที่ทำได้ยากกว่า
  • รู้จักวิธีการทำงานของตัวเรา เราว่าเหมาะกับการเป็นนักอ่านหรือนักฟัง เรามีวิธีการเรียนรู้อย่างไร เราเหมาะกับทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานคนเดียว และเราสร้างผลงานในฐานะคนตัดสินใจหรือฐานะที่ปรึกษา

ที่ช่วงนี้หายๆไปไม่ใช่อะไรนะครับ ไปแงะหนังสือ Principle อยู่ และนอกจากนั้นยังตกหลุมดำไปสามวันเพราะดันเปิดไปดู สเตรนเจอร์ ธิงส์ (Stranger Things) ในเน็ตฟลิกซ์ ใครยังไม่มีเวลาว่างๆอย่าเผลอไปกดดูนะครับ

วันนี้เลยรู้สึกว่าไม่ได้การแล้ว ต้องอ่านหนังสืออะไรให้จบสักเล่ม เลยหยิบเล่มบางสุดมาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวเอง หนังสือเล่มนี้อาจจะบางก็จริง แต่เนื้อหาแน่นมาก อ่านจบแล้วต้องบอกว่า หยิบมาอ่านได้ถูกจังหวะมาก เพราะจะมีอะไรดีไปกว่าของขวัญที่จะให้ตัวเองได้ในปีใหม่นี้ นอกจากการรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นอีกนิดหนึ่งครับ

ปัญญางาน จัดการตน | Managing Oneself เขียนโดย สุดยอดปรมาจารย์ด้านการจัดการอย่าง ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ซึ่งชื่อนี้ไม่มีใครไม่รู้จักแน่นอน

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกว่า 13 ประเทศ และเขียนหนังสือมาประมาณ 40 เล่ม

ก่อนอ่านหนังสือเล่มนี้ผมแนะนำอย่างหนึ่งครับว่าควรจะทำตัวเองให้มีสมาธิสูงสุด อย่างเช่นผมถ้าต้องการสมาธิสูงมากผมจะฟังเพลงในสปอติฟาย (Spotify) ที่มีเพลย์ลิสต์ชื่อ Perfect Concentration (สมาธิที่สมบูรณ์แบบ) เพราะหนังสือเล่มนี้ถ้าจะอ่านให้ดีต้องการพลังงานทางความคิดที่เข้มข้นมากครับ อ่านแล้วไม่คิดตามหรืออ่านชิลๆอาจจะเสียของได้

หนังสือเล่มนี้กล่าวว่า ผู้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ศิลปะ ดนตรี กีฬา การเมือง หรือธุรกิจ ล้วนแล้วแต่รู้จักวิธีการจัดการตนเองทั้งสิ้น

นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราต้องเรียนรู้วิธีการจัดการตนเอง อันนี้ผมขอแบ่งหมวดหมู่ตามแบบของผมเลยละกันนะครับ

คำถามที่ 1: อะไรคือจุดแข็งของเรา? 

เพราะคนเรานั้นสร้างผลงานจากจุดแข็งเท่านั้น เราไม่สามารถสร้างผลงานจากจุดอ่อนทั้งหลายของเราได้เลย และหนทางเดียวในการค้นหาจุดแข็งของเราได้คือการวิเคราะห์ทบทวนตนเอง หรือที่เราเรียกว่า Feedback Analysis ซึ่งจะส่งผลสู่การนำไปปฏิบัติหลายประการอันได้แก่

1.1 การรวมพลังไปที่จุดแข็ง

คุณจะต้องวางตัวเองไปในตำแหน่งที่จะใช้จุดแข็งสร้างผลงานให้ได้ และการทบทวนตัวเองอยู่ตลอดจะทำให้เรารู้แน่ๆว่าอะไรคือจุดแข็งของเรากันแน่

1.2 การทุ่มเทพัฒนาจุดแข็งของคุณ

บทวิเคราะห์จะทำให้คุณเห็นอย่างรวดเร็วว่าจุดไหนที่คุณจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ ทักษะไหนที่คุณจำเป็นต้องศึกษาเพิ่ม มันจะแสดงให้เห็นความรู้ของคุณที่ขาดหายไป อันเป็นความรู้ที่สามารถเติมเต็มได้ 

1.3 มันจะช่วยให้คุณพบความอหังการทางปัญญา 

อันนำไปสู่ อวิชชาและหาทางก้าวข้ามมันไปให้ได้

ทำไมเราควรมุ่งพัฒนาจุดแข็ง?

เพราะการพัฒนาจากจุดที่ไร้ความสามารถไปสู่จุดกึ่งดิบกึ่งดี จะใช้พลังงานมากกว่าการพัฒนาจากจุดที่เยี่ยมให้ไปสู้จุดที่ยอดเยี่ยม 

คำถามที่ 2: เรามีวิธีการทำงานอย่างไร 

น่าแปลกใจมากที่มีคนเพียงน้อยนิดรู้ว่าตนเองทำงานสำเร็จได้อย่างไร 

ความจริงแล้ว พวกเราส่วนใหญ่แทบไม่รู้ตัวเลยว่าเราต่างคนต่างมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน และมีคนจำนวนมากเกินไปที่ทำงานในวิถีที่ไม่ใช่วิธีของเขา นั่นแทบจะเป็นการยืนยันถึงงานอันไร้ผล 

คนเราทำงานสำเร็จได้ดีเพราะได้ทำในสิ่งที่ชอบฉันใด คนเราย้อมต้องการทำงานในวิธีการที่ตนเองถนัดด้วยฉันนั้น 

2.1 เราเป็นนักอ่านหรือนักฟัง?

ผมชอบเรื่องนี้มาก เพราะไม่เคยนึกถึงมุมนี้เลย เป็นการเขียนที่น่าสนใจมาก

สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อนคือ คุณเป็นนักอ่านหรือนักฟัง มีคนน้อยมากเหลือเกินที่รู้ว่าโลกนี้มีทั้งนักอ่านและนักฟัง และน้อยคนนักที่จะเป็นไปได้ทั้งสองประเภท

ตัวอย่างในหนังสือกล่าวถึง ดไวท์ ไอเซนฮาวร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังสัมพันธมิตรภาคพื้นยุโรปซึ่งเป็นขวัญใจสื่อมวลชนและมีคะแนนนิยมสูงมาก ลีลาการแถลงข่าวของเขาสร้างชื่อเสียงกระฉ่อน 

แต่ภายหลังที่ไอเซนฮาวร์ได้รับการรับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ กลับล้มเหลวกับสื่ออย่างสิ้นเชิง เขาได้รับการล้อเลียนเสมอว่าตอบคำถามได้แย่ ไม่ตรงประเด็น อีกทั้งกระท่อนกระแท่นและผิดไวยากรณ์ จนแทบจะต้องฉีกตำราภาษาอังกฤษทิ้ง

Advertisements

เกิดอะไรขึ้นกับ ดไวท์ ไอเซนฮาวร์?

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ บอกว่าเห็นได้ชัดว่า ไอเซนฮาวร์ ไม่รู้ตัวเองเป็นนักอ่านไม่ใช่นักฟัง

ตอนเป็นผู้บัญชาการทหาร ผู้ช่วยของเขาต้องแน่ใจว่าสื่อต่างๆจะส่งคำถามทุกคำถามเป็นลายลักษณ์อักษรให้ล่วงหน้าอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนการแถลงข่าวจะเริ่ม ซึ่งทำให้เขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

เมื่อเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาดำรงตำแหน่งต่อจากสองนักฟังอย่าง แฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ และ แฮรรี่ ทรูแมน ทั้งสองรู้ดีว่าเป็นนักฟัง จึงสนุกกับการแถลงข่าวแบบเปิดรับทุกคำถาม

ไอเซนฮาวร์อาจรู้สึกว่าต้องทำเช่นเดียวกับประธานาธิบดีสองคนก่อนหน้า แต่ผลลัพธ์กลับกลายเป็นว่าเขาไม่เคยได้ยินคำถามที่นักข่าวถามเลย จึงตอบคำถามที่กลายเป็นหายนะมากๆ

แล้วประธานาธิบดีที่เป็นนักอ่านทำอย่างไร ?

จอห์น เอฟ. เคนนาดี้ คือประธานาธิบดีที่เป็นนักอ่าน เขาจะรวบรวมนักเขียนที่เฉียบแหลมมาเป็นผู้ช่วย และก่อนที่จะถกกันส่วนตัว นักเขียนเหล่านั้นต้องส่งร่างสุนทรพจน์มาให้เขาอ่าน

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ สรุปว่า

มีนักฟังจำนวนน้อยมากที่จะถูกสร้างหรือสร้างตัวเองให้กลายเป็นนักอ่านที่มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่มีนักอ่านน้อยมากที่ถูกสร้างหรือสร้างตนเองให้กลายเป็นนักฟังที่ดีได้ปีเตอร์ ดรักเกอร์

เราต้องกลับมานั่งถามตัวเองจริงๆจังๆเลยว่า ตกลงเราเป็นนักอ่านหรือนักฟังที่ดีกันแน่

ส่วนตัวผมแม้ว่าผมจะชอบอ่านหนังสือมาก แต่ถ้าวิเคราะห์ตัวเองดีๆผมคิดว่าผมเกิดมาเป็นนักฟังมากกว่าครับ

2.2 เราเรียนรู้อย่างไร?

ก่อนเราจะรู้ว่าเราจะสร้างสรรค์งานอย่างไร เราต้องรู้ก่อนว่าเราเรียนรู้อย่างไร? บุคคลผู้ประสบความสำเร็จหลายคนเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาปกติ เพราะว่าการเรียนรู้แบบนั้นไม่ใช่วิธีการของเขา และมันสร้างความน่าเบื่อให้กับเขา

เช่น นักเขียน เรียนรู้ได้ดีที่สุดด้วยการเขียน แต่โรงเรียนไม่อนุญาตให้เขาเรียนรู้ด้วยวิธีการนี้ ผลการเรียนก็ย่ำแย่ บทเรียนก็น่าเบื่อ โรงเรียนทุกแห่งวางแผนผ่านสมมติฐานที่ว่ามีวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องเพียงวิธีการเดียวและเป็นวิธีที่เหมาะกับนักเรียนทุกคน

ความจริงแล้วอาจจะมีวิธีการเรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 6 วิธี อย่าง เบโธเฟน เป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ด้วยการจดบันทึก เขาทิ้งสมุดสเก็ตช์ไว้มากมาย แม้เขากล่าวว่า เขาไม่เคยเหลียวแลมันเลยเมื่อต้องประพันธ์เพลงจริงๆ

เมื่อถูกถาม ทำไมเขาต้องจดมันไว้ ตามบันทึก เขาตอบว่า

 “ถ้าผมไม่จดมันลงไปในทันที ผมก็จะลืมมันในทันทีเช่นกัน แต่ถ้าผมจดมันไว้ในสมุดสเก็ตช์ ผมจะไม่มีทางลืมมัน แม้ว่าผมจะไม่เคยได้กลับมาเปิดดูอีกเลย”

2.3 เราทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี?

ในการจัดการตนเองให้เกิดประสิทธิผล คุณจำเป็นต้องถามตนเองว่า ฉันทำงานกับผู้คนได้ดี หรือจะดีกว่าถ้าฉันทำงานคนเดียว บางคนทำงานได้ดีที่สุดในฐานะสมาชิกของกลุ่ม บางคนทำงานคนเดียวได้ดีที่สุด 

2.4 เราสร้างผลงานในฐานะคนตัดสินใจหรือในฐานะที่ปรึกษา?

ผู้ยิ่งใหญ่หลายคนทำงานได้ดีที่สุดในฐานะที่ปรึกษา แต่ไม่สามารถรับภาระและแรงกดดันจากการตัดสินใจได้ ในขณะที่หลายคนต้องการที่ปรึกษาซึ่งกดดันให้พวกเขาคิดให้ จึงจะตัดสินใจและลงมือปฏิบัติด้วยความรวดเร็วและมั่นใจ และเป็นไปอย่างกล้าหาญ

จริงๆยังมีอีกเยอะ ไปตามอ่านกันเอาเองนะครับ เป็นหนังสือที่เหมาะกับการไว้ใช้ทบทวนตัวเองมากๆครับ

สุดท้ายขอทิ้งไว้ด้วยคำพูดจาก ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) ที่ว่า

วิธีที่ดีที่สุดในการทำนายอนาคตคือ สร้างมันขึ้นมาปีเตอร์ ดรักเกอร์
Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่