ก่อนจะสายไป

1319
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นสุดสัปดาห์ที่ทำให้ผมตระหนักถึงปัญหาที่โลกเรามีอยู่แบบที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อนครับ

จะเรียกว่าเป็น The Moment of Truth ก็ได้ครับ 

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม ทีผ่านมาผมได้มีโอกาสเดินทางไปที่หาดดงตาล สัตหีบ เพื่อร่วมกิจกรรม #SeaYouTomorrowRun ของ สิงห์ เอสเตท ที่จัดร่วมกับหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ซึ่งเป็นโครงการวิ่ง Mini marathon 10 K และ Fun Run 5 K และ Plogging 1 K

Advertisements

ถ้าใครที่ติดตามเพจของเรามาก็จะทราบว่างานวิ่งนี่ผมมาร่วมประจำอยู่แล้ว แต่ส่วนของงาน โดยพาร์ทที่ผมไปทำ เรียกว่า “Plogging” ซึ่งก็คือการวิ่งเก็บขยะบนชายหาดเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาของทะเลที่เกิดจากขยะของมนุษย์ ครั้งนี้เป็นครั้งแรก 

ต้องบอกว่าตอนแรกๆ ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าเราคงเก็บขยะที่เป็นชิ้นๆ ที่อยู่แถวๆ ชายหาด แต่ความจริงแล้วมันไม่ง่ายแบบนั้นเลยครับ 

trash on beach

ขยะเป็นชิ้นๆ มีไม่ค่อยมากครับ เพราะมีจิตอาสาคอยเก็บอยู่ตลอดอยู่แล้วครับ 

ขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกทั้งหลาย ตั้งแต่ หลอด แก้ว ถุงขนม ฝาพลาสติก ฯลฯ มันฝังตัวอยู่ในทราย ลองนึกภาพถึงพลาสติกที่เต็มไปด้วยทรายข้างในนะครับ มันทั้งหนัก และจมอยู่ลึก ถ้าเก็บไม่ดีมันก็จะขาดอีก ยิ่งทำให้การเก็บยากขึ้นไปอีกมากครับ 

กว่าจะเอาออกมาได้แต่ละชิ้นนานมากครับ เพราะต้องค่อยๆแงะทรายออกไม่งั้นถุงมันจะขาด ซึ่งบางชิ้นใช้เวลา 3-4 นาที 

ในเวลาเกือบชั่วโมงผมเดินไปได้แค่ 20 เมตรเท่านั้น ส่วนคนอื่นก็ไปได้ไม่ไกลจากนั้นเท่าไร เพราะกว่าจะเก็บขยะแต่ละชิ้นได้ มันเหนื่อยและยากมาก มันน่ากลัวมากนะครับที่ขยะพลาสติกอยู่ที่บริเวณชายหาดเยอะขนาดนั้นทั้งๆ ที่เขาเก็บกันตลอด

จากประสบการณ์ที่ผมเจอเองบนชายหาดนั้นทำให้ผมรู้เลยครับว่า เรื่องจริงๆโหดกว่าที่คิดและถ้าพวกเราทุกคนยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ทะเลซึ่งเคยเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตจำนวนมาก จะถูกทำลายลงเร็วกว่าที่พวกเราคิดไว้มากครับ 

ระหว่างที่ผมเก็บขยะผมได้มีโอกาสคุยกับ ดร.ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญทางทะเล ที่เล่าให้ฟังเกี่ยวกับความน่ากลัวของขยะทางทะเลที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเต่าหรือพะยูนแบบที่เราเห็นในข่าวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของโลกเราทั้งหมดอีกด้วย 

ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่หนักมากจริงๆ ครับ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสไปลองเก็บขยะที่ชายหาดด้วยตัวเองซักครั้งแล้วจะรู้สึกเหมือนผมแน่นอนครับ 

นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นแล้วรู้สึกว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง จากที่เราทำอยู่แล้ว ก็ต้องทำหนักขึ้นกว่าเดิมอีก

garbage on beach

ขยะจากทะเล

ขยะที่เราเก็บขึ้นมาได้มันมีของทุกอย่าง ตั้งแต่ถุงขนม ถุงพลาสติก ซองยา หลอด ช้อนพลาสติก คือเรียกว่าของทุกอย่างที่เราใช้กันในบ้านมันมีอยู่ในทะเลเกือบหมดเลย

แน่นอนว่าเราได้ยินเรื่องของการเสียชีวิตของเต่า พยูน พอมาเห็นแบบนี้เข้าใจเลยว่ามันคงจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะที่ผมมาเจอเรียกได้ว่าเป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง ของจริงๆ มีมากกว่านี้อีกเยอะมาก

ผมได้ฟังจากผู้เชี่ยวชาญที่ไปด้วยกัน เขาบอกว่าปัญหาสองเรื่องที่รุนแรงมากในหมวดของสิ่งแวดล้อม หนึ่งคือก๊าซเรือนกระจก และอีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของทะเล 

“ทะเลเราวิกฤตมานานแล้ว” นี่คือคำพูดที่ผู้เชี่ยวชาญบอกผม

Advertisements

คุณหมอที่ดูแลสัตว์ทะเลที่ศูนย์รักษาเต่าทะเลใกล้ๆ กับที่เราไปเก็บขยะบอกว่า การเสียชีวิตของพวกสัตว์น้ำ โดย 60% ของสาเหตุการเสียชีวิตก็เกิดจากพลาสติกล้วนๆ ซึ่งก็เป็นฝีมือของมนุษย์แหละครับ

สถิติการปล่อยขยะพลาสติกลงทะเล

นอกจากนี้มีสถิติจาก Wallstreet Journal ว่า ประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก มีประเทศไทยติดเป็นลำดับที่ 7 (จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นลำดับที่ 6 นะครับเพราะเราเท่ากับประเทศอียิปต์) ซึ่งเป็นลำดับที่สูงมาก เพราะประเทศเราไม่ได้มีจำนวนประชากรเยอะขนาดนั้น

และถ้าเทียบกับประเทศที่ใหญ่กว่าอย่างเช่นบราซิลซึ่งติดอยู่ในลิสต์เหมือนกัน แต่ประเทศเขามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเรา ผมเดาว่าการอุปโภคบริโภคน่าจะมีเยอะกว่า หรืออย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีลำดับการปล่อยขยะพลาสติกที่ต่ำกว่าเรา ทั้งๆที่คนของเขามีมากกว่าเราถึง 3 เท่า ซึ่งแน่นอนกว่าเขามีระบบการจัดการที่ดีกว่า และผมคิดว่าเรื่องนี้เราต้องเริ่ม

มีตัวเลขที่น่าสนใจอีกว่า จริงๆ แล้วมีขยะอะไรที่อยู่ในทะเลเยอะที่สุด

อันดับแรกคือก้นบุหรี่ครับ ตามมาด้วยซองห่ออาหาร, ขวดพลาสติก, ฝาของขวดพลาสติก, พลาสติกชนิดอื่นๆ และหลอด ตามลำดับ ซึ่งผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะสามารถแก้ปัญหาได้เร็วขนาดไหน แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าพวกเรา (ซึ่งหมายถึงมนุษย์) เหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว เพราะผลกระทบของสิ่งแวดล้อมมันเริ่มรุนแรงและชัดเจนมากๆ ถ้าเทียบกับโรคก็คือตอนนี้อาการของมันค่อยๆ แสดงออกมา แล้วถ้ารู้ตัวอีกทีเราอาจจะเป็นขั้นสุดท้ายเลยก็ได้

beach plogging

เริ่มที่แก้ไขร่วมกัน

ผมเลยอยากจะมาชวนให้เราช่วยแก้ปัญหาไปด้วยกัน เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง และถึงแม้หลายคนอาจจะคิดว่ามันยากที่จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบางอย่าง แต่ผมนึกถึงเรื่องหนึ่งซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง คือแบบนี้ครับ

คุณพ่อผมเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อน ทุกที่สามารถสูบบุหรี่ได้ อย่างในเครื่องบินจะมีบริเวณให้สูบบุหรี่ (หรือบางทีอาจจะสูบได้ทั้งลำเลยด้วยซ้ำนะครับ) ซึ่งผมนึกภาพไม่ออกเลยว่าถ้าทุกวันนี้ยังมีคนสูบบุหรี่ในเครื่องบินแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ต่อมาเมื่อเราเห็นว่ามันไม่ดีต่อผู้อื่น เราก็ตัดสินใจร่วมกันให้ค่อยๆ เปลี่ยนกฏนี้ มีกฏหมายที่เข้มงวดขึ้น

หรืออย่างน้ำมันไร้สารตะกั่วตอนมาใหม่ๆ ก็มีข่าวลบออกมาเยอะมาก ทำให้คนไม่ยอมเปลี่ยนเพราะหาว่าจะทำให้เครื่องพังบ้างอะไรบ้าง แต่ในที่สุดเราก็เปลี่ยนผ่านจากช่วงนั้นมาได้

ผมอยากบอกว่ามันมีเรื่องหลายเรื่องที่เราพยายามแก้ไข พยายามที่จะเปลี่ยนแปลงในฐานะมนุษย์ร่วมโลก และผมคิดว่านี่คงเป็นอีกครั้งที่เราจะทำอะไรแบบนั้นกันในสเกลที่ใหญ่มาก ผมเลยตั้งใจไว้ว่าจะลองใช้ชีวิตหนึ่งสัปดาห์โดยพยายามที่จะไม่ใช้ Single-Use Plastic ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราวางแผนดีๆ ตอนก่อนออกจากบ้านเราก็จะสามารถทำได้ แต่ผมต้องลองก่อน แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ทุกท่านฟัง

นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าพวกเราต้องช่วยกันครับ เพราะว่าไม่ว่าเราจะสร้างขยะเยอะเกินความจำเป็นที่ไหนก็ตาม มันก็มีโอกาสที่จะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งในที่สุดมันก็จะไปจบที่ทะเลครับ เกิดเป็นมลพิษแบบที่เราเห็นนี่แหละครับ 

การสร้างจิตสำนึก โดยการเริ่มต้นที่ตัวเราจึงเป็นสิ่งสำคัญครับ 

ผมต้องขอบคุณ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) อย่างมากครับที่เชิญผมมาในครั้งนี้เพราะมันเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกของผมครั้งใหญ่มากๆ นอกจากจิตสำนึกแล้วยังได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ จิตอาสา และคุณหมอที่ดูแลสัตว์ทะเลที่ได้รับผมกระทบจากเรื่องเหล่านี้ด้วยครับ 

รายได้ทั้งหมดจากกิจกรรมนี้ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) จะมอบให้กับโรงพยาบาลเต่าทะเล  ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล เพื่อใช้ในกิจกรรมการดูแลท้องทะเลของเราต่อไปครับ 

สุดท้าย ผมอยากลองเชียร์ทุกคนว่า ถ้าคุณมีโอกาสไปทะเลครั้งต่อไป ลองมาเก็บขยะดูซักครึ่งชั่วโมงครับ แล้วคุณจะค้นพบว่าปัญหานี้มันใหญ่กว่าที่คุณรู้สึกจริงๆ 

ผมเชื่อว่าถ้าเรามาเห็นกับตา มาลองสัมผัสมันด้วยตัวเอง มันจะสะเทือนเข้ามามากถึงความรู้สึกเรา

แต่การรอให้มันเกิดแบบนั้นในสเกลใหญ่ๆ บางทีมันแก้ไม่ทันแล้วนะครับ 🙂

rawit on beach
Advertisements