Beauty (Double) Standard?! เมื่อคนหน้าตาไม่ดี ไม่ค่อยมีโอกาสในโรงเรียน

5266
กระแสเรื่อง Beauty Standard หรือมาตรฐานความงามที่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคมนั้นเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งมาจากการที่โซเชียลกลายเป็นพื้นที่เปิด ที่ให้คนทั่วไปได้แสดงตัวตนออกมา จนใครๆ ก็สามารถโชว์ภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผู้อื่นเห็นได้อย่างง่าย
 
แต่ในทางตรงกันข้าม สิ่งนี้กลับกลายเป็นดาบสองคม เพราะทำให้หลายคนเกิดข้อเปรียบเทียบกับตัวเอง จนอยากได้ อยากมี อยากสวยหล่อเหมือนคนอื่น กลายเป็นความรู้สึกลดทอนคุณค่าภายในตัวเองลง
 
ปัจจุบันจึงเริ่มมีการรณรงค์ให้คนตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและรักตัวตนของตัวเองมากขึ้น
 
แต่หากย้อนกลับไปมองเราจะพบว่า จุดเริ่มต้นของ Beauty Standard นั้นมีมาตั้งแต่โรงเรียน
 
ถ้าไม่นับเรื่องวัฒนธรรมความงามของแต่ละเชื้อชาติ แต่พูดถึงเรื่องใกล้ตัวกว่านั้นคือ เราทุกคนล้วนเคยผ่านการปลูกฝั่งค่านิยมความสวยตั้งแต่ภายในโรงเรียนจนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งเราไปแล้ว
 
เช่น เวลาที่โรงเรียนมีการจัดงานกีฬาสีขึ้นมา จะมีเด็กส่วนหนึ่งที่หน้าตาดีตามค่านิยมของสังคม มักจะได้รับเลือกให้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ คนถือป้ายโรงเรียนหรือเด็กบางคนกลายเป็นเด็กกิจกรรมที่ถูกคัดเลือกมาตลอด
 
แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเด็กบางส่วนที่มีความสามารถมากพอแต่กลับไม่ได้เป็นเพียงเพราะมีหน้าตาหรือรูปร่างที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของสังคมไทย
 
ภาพสะท้อนของ Beauty Standard ที่ชัดเจนที่สุดคือ หนัง “เรื่องสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก”
 
ภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” ถือว่าเป็นหนึ่งในภาพสะท้อนของ Beauty Standard ที่เด่นชัดที่สุด ‘น้ำ’ ตัวละครหลักของเรื่องที่อยากเข้าชมรมนาฏศิลป์เพื่อให้พี่โชนชอบ แต่ชมรมก็ไม่รับเพราะน้ำไม่ได้มีหน้าตาที่ตรงกับค่านิยมของความสวยที่สังคมตีตราไว้
 
ทั้งที่ความจริงแล้วเราไม่ควรปิดกั้นโอกาสของเด็กจากแค่หน้าตาหรือรูปร่าง เด็กคนไหนที่อยากถือป้ายกีฬาสี อยากแสดงละคร หรืออยากทำกิจกรรมควรมีสิทธิ์ที่จะได้เสนอตัวเองและลองทำดู รวมไปถึงผู้ใหญ่ก็ไม่ควรคัดเลือกเด็กจากแค่หน้าตา แต่ควรคัดเลือกจากความสามารถและศักยภาพของเด็กมากกว่า
 
เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นการปลูกฝั่งให้เด็กเกิดความรู้สึก Self-Esteem ต่ำ หรือการมองเห็นคุณค่าของตัวเองน้อยลง เด็กโตมาอาจจะไม่กล้าแสดงออกหรือไม่กล้าทำกิจกรรมเพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควร ไม่มีค่าพอที่จะทำทั้งๆ ที่ตัวเองยังไม่ได้มีโอกาสที่จะลองทำเลยด้วยซ้ำ
 
ในตอนนี้สังคมไทยเริ่มมีตระหนักถึงสิ่งนี้มากขึ้นแล้วอย่างใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ได้มีการโหวตให้นักศึกษาเลือกว่าควรยกเลิกหรือควรจัดกิจกรรมดาวเดือนต่อ ผลโหวตส่วนใหญ่ออกมาว่าควรยกเลิกกิจกรรมไป
 
นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อบอกสังคมว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว สังคมไม่ควรตีกรอบว่าหน้าตาแบบนี้ถึงเรียกว่า สวยหล่อ และหน้าตาแบบนี้คือ ไม่หล่อไม่สวย ทุกคนมีคุณค่าที่แตกต่างกันไป
 
“Don’t change your body to get respect from society. Instead let’s change society to respect our bodies.” Golda Poretsky
 
“อย่าเปลี่ยนร่างกายของเราเพื่อให้สังคมยอมรับ เรามาเปลี่ยนสังคมให้เคารพร่างกายของเรากันเถอะ” – Golda Poretsky
 
 
Advertisements