เรื่องพื้นฐานที่สุดของนวัตกรรม (Innovation)

5613
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้น ๆ
  • Innovation ที่ดีนั้นควรจะตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง “คน” กับ “ฟิสิกส์” (ดูรูปภาพประกอบในบทความ)
  • “คน” ก็คือ สิ่งที่ผู้คนอยากได้เพื่อช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
  • “ฟิสิกส์” นั้นหมายถึงว่ามันสามารถทำได้จริงไหม และสามารถใช้ได้ในโลกของความเป็นจริงหรือเปล่า

ตอนนี้เรื่องของนวัตกรรม หรือ Innovation คงเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรพูดถึงกันแทบจะทุกที่ นั้นก็คงเป็นเพราะ เราทุกคนเริ่มตระหนักแล้วว่าวันนี้เราไม่สามารถที่จะทำเหมือนเดิมได้ เพราะทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ตัวผมเองก็มีโอกาสได้ลงเรียนคอร์ส The Iterative Innovation Process ของ MIT ในคอร์สนี้เขาพูดถึงจุดตั้งต้นของ Innovation ซึ่งผมชอบมาก เพราะไม่ค่อยจะมีใครมาเล่าประเด็นนี้ตั้งแต่พื้นฐานสุด ๆ ให้ฟังเลยว่า จริง ๆ แล้วคำว่า “Innovation” ที่เราพูดถึงกันนั้น มันจะต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง เพราะส่วนใหญ่แล้วหนังสือหรือบทความที่เราเจอกันเยอะ ๆ เนี่ย มักจะพูดถึงระดับที่เป็นการประยุกต์ใช้แล้ว แต่อันนี้เขาพูดถึงพื้นฐานที่สุดเลย

นวัตกรรม
นวัตกรรมคือการหาจุดร่วมระหว่าง “คน” กับ “ฟิสิกส์”

พื้นฐานสำคัญของ Innovation ที่ดีนั้น ต้องตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่าง คน (Human) กับ ฟิสิกส์ (Physics) ฝั่งที่เป็นเรื่องของ “คน” ก็คือ สิ่งที่ผู้คนอยากได้เพื่อช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ส่วนฝั่งที่เป็น “ฟิสิกส์” นั้นหมายถึงว่ามันสามารถทำได้จริงไหม และสามารถใช้ได้ในโลกของความเป็นจริงหรือเปล่า เปรียบเสมือนเป็นกฏของจักรวาลคุณไม่สามารถที่จะทำลายกฏนี้ได้ ถึงแม้จะมีคนทำได้แต่ก็เป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ

Advertisements

ฉะนั้นถ้าพูดถึง Innovation ส่วนใหญ่แล้ว มันมักจะเป็นของที่ต้องทับกันระหว่างกึ่งกลางของ “คน” กับ “ฟิสิกส์”

ยกตัวอย่างในฝั่งของฟิสิกส์ สมมุติว่าวันนี้เราอยากจะสร้าง Time Machine (เครื่องย้อนเวลา) ขึ้นมา แน่นอนครับว่ามันไม่มีทางสร้างขึ้นมาได้ในตอนนี้ และในอนาคตก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะสร้างได้ด้วย

ในฝั่งของ “คน” สมมุติว่าคุณอยากทำของอะไรสักอย่าง แล้วคุณก็อยากที่จะขายมันด้วยราคาที่แพงมาก ๆ แต่ของที่คุณขายมันไม่มี “คุณค่า” หรือ “สร้างมูลค่า” ให้กับเขาเลย ต่อให้คุณจะพยายามสักแค่ไหน เขาก็ไม่มีทางซื้อของคุณอยู่ดีนั้นล่ะครับ

ทีนี้เวลาเราพูดถึงคำว่า Innovation ก็จะมีความหมายหรือนิยามที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่ในคลาสที่ผมเรียนนั้น เขานิยามคำว่า Innovation ไว้ว่า เป็นไอเดียที่สามารถสร้างผลกระทบในตลาดและต้องทำให้เกิดคุณค่ากับผู้คน ฉะนั้นมันต้องเป็นอะไรที่คนอยากจะได้ และในอีกมุมก็ต้องสามารถทำได้ในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย

ถ้าหากว่าเราไม่สนใจกฏของเรื่องนี้ คือ ไม่สนใจทั้งฝั่งของ “คน” และก็ไม่สนใจในฝั่งของ “ฟิสิกส์” เลย มันมีโอกาสสูงมาก ๆ แทบ 99.9% เลยก็ว่าได้ที่ Innovation นั้นจะล้มเหลว

อย่างในฝั่งที่เป็นเรื่องของ “คน” หากเราทำของโดยที่ไม่สนใจเลยว่า มันจะราคาเท่าไหร่ ไม่สนใจเลยว่าใครจะใช้ และที่แย่ที่สุดหลายคนเอาตัวเองเป็นตัวแทนของ “ผู้ใช้งาน” ในที่สุดแล้วมันก็จะเป็น Innovation ที่ไม่มีใครใช้

ในด้านของ “ฟิสิกส์” เราต้องรู้ว่ามันสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ไหม อย่างกรณี เครื่องย้อนเวลา แน่นอนล่ะ มันต้องมีคนที่อยากได้เยอะแยะมากมาย เพื่อหวังที่จะกลับไปแก้ไขอดีต สมมุติว่าเราไประดมทุนมาได้เยอะ ๆ แต่ในความเป็นจริงเราก็ไม่สามารถสร้างมันได้อยู่ดี

เราอาจจะเคยพบเห็นเหตุการณ์คล้าย ๆ ทำนองนี้กันมาบ้างที่สตาร์ทอัพระดมทุนเป็นจำนวนมาก ๆ เพื่อหวังที่จะสร้างเทคโนโลยีที่ใหม่มาก ๆ แต่ในที่สุดแล้วมันก็ล้มเหลว เพราะตามฝั่งของ “ฟิสิกส์” แล้วมันทำไม่ได้ไง

falcon 9 first stage landing
การลงจอดครั้งแรกของ ฟอลคอน 9 | รูปภาพจาก spacex.com

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ทดลองอะไรเลยนะ แต่การทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เพื่อที่จะทำให้เกิด Innovation ก็ควรที่จะมีกรอบของความเป็นไปได้หลงเหลืออยู่บ้าง จริงอยู่ว่าบางครั้งเราอาจจะเห็นสุดยอด Innovation อย่างเช่น การที่ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) สร้างจรวด ฟอลคอน 9 (Falcon 9) ที่สามารถกลับมาจอดที่เดิมได้ ดูจะเป็นการทลายทุกกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่มีอยู่ แต่เราต้องยอมรับว่าโอกาสที่จะทำให้ Innovation แบบนั้นเกิดขึ้นได้จริง มันมีโอกาสน้อยมาก ๆ เหมือนกับเราไปเข้าคาสิโนที่ลาสเวกัสแล้วชนะตลอด 7 วัน มีคนทำได้ไหม คำตอบคือ “มี แต่ก็เป็นส่วนที่น้อยมาก ๆ”

ฉะนั้นจริง ๆ แล้วถ้าเกิดเราพูดถึงคำว่า Innovation ในแง่ของสิ่งที่คนทั่วไปทำ มันคือการหาจุดร่วมกันระหว่าง “คน” กับ “ฟิสิกส์” ให้เจอ ถ้าคุณจะสร้าง Innovation แบบไม่สนใจเรื่องใด ๆ เลย อย่าง สตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) หรือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) โอกาสที่คุณจะล้มเหลวเรียกได้ว่ามีเกือบ 100% เพราะผู้ที่รอดก็คือคนเหล่านั้น

แอนดี้ โกรฟ (Andy Grove) อดีตซีอีโอของ อินเทล (Intel) เคยพูดในทำนองว่า ถ้าคุณจะทำ Innovation คุณต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “intellectual honesty” (ความซื่อสัตย์ทางปัญญา) คือคุณต้องเข้าใจว่าคุณไม่สามารถละเมิดกฏของการอยู่ร่วมกันระหว่าง “คน” กับ “ฟิสิกส์” ได้ นั้นหมายความว่า 99.9% ของ Innovation บนโลกใบนี้ เกิดขึ้นจากการเข้าใจและการหาจุดร่วมของสองสิ่งนี้

Advertisements

หลายครั้งเมื่อเราพูดถึงคำว่า Innovation หรือเวลาเราตั้งทีม Innovation ขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักจะมองหาแต่ของใหม่อย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดที่อันตรายมาก เพราะหลายครั้ง เทคโนโลยีจำนวนมากหรือแทบจะทุกอย่างที่เป็น Innovation มันเริ่มต้นมาจากการศึกษาของเก่าที่มีอยู่ก่อนแล้วให้ทะลุปรุโปร่ง

แต่ในหลายครั้งเราก็มักจะมี “อคติ” ตั้งต้นไว้ก่อน เหมือนเป็นคำตอบที่อยู่ในใจเลยว่า อยากจะได้แบบนี้ อยากจะแก้ปัญหาอย่างนี้ โดยที่ไม่ได้ไปศึกษาจริง ๆ เลยว่า “ความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ คืออะไร” หรือ “สิ่งที่เป็นปัญหาจริง ๆ ของผู้ใช้นั้นเป็นยังไง”

ยกตัวอย่างเช่น

สมมุติ มีคนมาบอกเราว่า ไม่ชอบเลยที่รถติด (ผมก็ไม่ชอบ) ฉะนั้นเรามาพัฒนาชุดติดจรวดไอพ่นเพื่อให้ทุกคนได้สวมใส่ไปทำงานแบบไอรอนแมนเลย คือจะว่าไปมันก็ฟังดูเหมือนจะแก้ปัญหาได้นะ แต่จริง ๆ แล้วมันอาจจะมีทางออกที่ราคาถูกกว่าหรือดีกว่า และคนสบายใจที่จะใช้มากกว่า

หากเรามุ่งแต่จะหาหนทางใหม่เลย เราก็จะพยายามพุ่งไปที่นั้น โดยที่อาจจะไม่ได้หันมามองดูของเก่าที่มีอยู่เลย ซึ่งอาจจะทำให้เราพลาดอะไรบางอย่างไปได้

สรุปจุดที่ควรมองเมื่อสร้างนวัตกรรม (Innovation)

ฝั่งของ “คน” สิ่งที่เราต้องโฟกัสคือสิ่งที่เรียกว่า “Buyer Surplus” ซึ่งมันเป็นคำนิยามที่บ่งบอกว่า เมื่อเราซื้อของแล้วได้คุณค่าอะไรบางอย่างที่นอกเหนือไปจากที่เห็น หากเราเข้าใจ Buyer Surplus เราจะรู้ว่าจุดไหนที่จะทำให้คนยอมจ่ายเงินได้

ฝั่งของ “ฟิสิกส์” เราต้องมองไปที่ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และในทุก ๆ ครั้งที่จะก้าวไปสู่ของใหม่ อย่าลืมที่จะศึกษาเทคโนโลยีหรือสิ่งที่มีมาก่อนหน้านี้ด้วย

ปิดท้ายด้วยกรณีตัวอย่างของแอปเปิ้ล

steve jobs ipad
สตีฟ จอบส์ ในงานเปิดตัว Ipad | รูปภาพจาก wired.com

ตอนที่ทุกคนแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดโน๊ตบุ๊คทุกเจ้าพยายามที่จะออกรุ่นใหม่ ๆ เพื่อแข่งกันอย่างต่อเนื่อง แต่แอปเปิ้ลคิดถึงลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ที่อยากจะเปิดดูงาน อยากดูนู้นนี่นั้น ในขณะที่นั่งอยู่บนโซฟาสบาย ๆ ชิล ๆ ในตอนนั้นทางเลือกก็มีแค่โน๊ตบุ๊ค ซึ่งดู ๆ ไปแล้วก็ไม่ค่อยจะสะดวกสักเท่าไหร่ ครั้นจะดูผ่านมือถือก็จอเล็กเกินไป ซึ่งในตลาด ณ ตอนนั้น ก็ไม่มีอุปกรณ์อะไรที่จะตอบโจทย์ได้เลย

แอปเปิ้ลจึงคิดค้นไอแพดขึ้นมา ซึ่งมันเป็นของที่ถูกต่อยอดมาจากของที่มีอยู่แล้วอย่างไอโฟน เพียงแค่ทำให้มันจอใหญ่ขึ้นเท่านั้นเอง และแน่นอนมันให้ Buyer Surplus กับผู้ใช้งาน


ฉะนั้นในครั้งถัดไปเมื่อเราไปคุยกันในที่ประชุมว่า เราอยากที่จะสร้าง Innovation จงอย่าลืมที่จะมองหาจุดร่วมที่ตอบโจทย์ระหว่าง “คน” กับ ”ฟิสิกส์” เพราะบางทีเรามี Passion (ความหลงไหล) ที่อยากจะทำเรื่องนี้แบบมาก ๆ แต่บางทีมันเป็น Passion แค่ของเราคนเดียวไง คนอื่น ๆ เขาไม่ได้อยากได้ด้วย และเราก็ลงมือทำเสียเงินเสียทองเยอะแยะมากมาย และในที่สุดมันก็ล้มเหลว

“มันไม่ได้ล้มเหลวในแง่ของการที่ไม่ได้เป็นของใหม่หรือของเจ๋งนะ แต่ล้มเหลวเพราะไม่มีใครอยากได้”

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่