Barbarism Era – หลังโรคระบาดซาไป ยินดีต้อนรับยุคใหม่ “ตัวใครตัวมัน”

690
ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เดือนใหม่ในเฟส 3 ของการ #ปลดล็อคดาวน์ โรคระบาด ที่พวกเราล้วนมองหา “ความหวัง” ทั้งที่ยังกล้าๆ กลัวๆ เพราะผู้คนต้องพยายามเอาตัวรอดจากภาวะฟื้นฟูหลังเหตุการณ์ “โรคระบาด” ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี กันอย่างทุลักทุเล
 
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึก เหมือนถูกทิ้งให้เคว้งคว้างไว้กลางมรสุมที่โถมกระหน่ำเข้ามา ส่งผลให้คนทำงานหาเช้ากินค่ำ พนักงาน หรือผู้ประกอบการอีกหลายๆ คน ไม่มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาและต้องปิดตัวธุรกิจลงไปโดยปริยาย…
 
ความเจ็บปวดจากสถานการณ์การว่างงาน ธุรกิจล้มละลาย คนงานหิวโหยอดอยาก มิหนำซ้ำยังโชคร้าย ที่ไม่มีกลไกในการปกป้องพวกเขาจากความเสียหายที่รองรับหลังวิกฤต เนื่องจากทุกคนโดนผลกระทบกันหมด ทำให้ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อนในเวลานี้
 
ก่อนหน้านี้… ความขัดแย้งที่รุนแรงมีแนวโน้มลดลง ตามความก้าวหน้าทางวิวัฒนาการของมนุษย์ แต่เมื่อทุกอย่างหยุดชะงักลงกะทันหันเพราะวิกฤตโรคระบาด ที่หลายคนเรียกว่ามันคือ “สงคราม” ทำให้ธาตุแท้ของมนุษย์กลับมาแสดงสัญชาตญานอีกครั้ง
 
เรากำลังเจริญเติบโตแบบย้อนกลับ ทิ้งคนที่ไม่มีแรงเหลือต่อสู้ฝ่าวิกฤตไว้ข้างหลัง เกิดเป็น “Barbarism Era – สภาวะตัวใครตัวมัน” แนวคิดยุคหลังวิกฤตที่ ทั้งโหด ทั้งเถื่อน ตัวใครตัวมัน ใครแข็งแกร่งก็รอด ใครอ่อนแอก็โดนซัดซ้ำ! และอาจกลายเป็น “New-Norm Mindset” แห่งโลกในอนาคต
 
แม้วิสัยทัศน์นี้อาจดูรุนแรงและโหดร้าย แต่นักวิชาการต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันว่า “มีสิทธิเกิดขึ้นได้”
 
– ความรุนแรงที่ฝังแน่นอยู่ใน “ราก” ของความเป็นมนุษย์
 
ความรุนแรงเป็นสิ่งที่หลับใหลอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ และในสายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์อย่างเราๆ จะมี “ยีนเห็นแก่ตัว” (Selfish Gene) ที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โดยยีนจะคอยสร้างเซลล์ขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเอง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องภัยอันตรายต่างๆ ตามสัญชาตญาน ให้ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและคู่ต่อสู้ เพื่อการมีชีวิตดำรงอยู่ต่อไป
 
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากทำให้เกิดความรู้สึก “วิตกกังวล” อย่างต่อเนื่อง ปฏิกิริยาเคมีที่ทำงานในสมองของมนุษย์จะคอยผลักดันให้ยีนเหล่านี้ออกมาทำงานเพื่อให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์อันตรายในทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้
 
การตัดสินใจต่างๆ จะเกิดขึ้นในพื้นฐานของการ “เอาตัวเองให้รอด” ก่อนเสมอ และนี่เป็นที่มาว่า ทำไม คนถึงไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือกันในช่วงนี้ แม้รู้ว่าอีกฝ่ายจะตกที่นั่งลำบากมากแค่ไหนก็ตาม
 
– คนจะมีเหตุผลในการ “เห็นแก่ตัว”
 
เมื่อสภาพสังคมทรุดตัว เศรษฐกิจยากที่จะกลับไปดีเหมือนเก่าในเวลาอันใกล้นี้ ทำให้ผู้คนสามารถ “เห็นแก่ตัวแบบมีเหตุผล” เพื่อเลือกทำสิ่งที่ดีที่สุดในการใช้ชีวิตให้รอดปลอดภัยหลังวิกฤต เพราะ เมื่อทุกคนเห็นแก่ตัวได้ ฉันก็ต้องทำได้บ้าง!
 
เราจำเป็นต้องใช้ชีวิต หายใจ กิน นอน และทำงานเพื่อรักษาชีวิตของเราในอนาคต เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง ห้ามใครมาแตะต้อง ทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองรอด
 
ทุกวันนี้ เราจะได้รับการขอความร่วมมือ เรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคล และ การทำตามกฎเกณฑ์ใหม่ที่ส่วนกลางตั้งไว้ แต่เรายังพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในโซเชียลมีเดียปรากฎอยู่ให้เห็นเรื่อยๆ
 
ตัวอย่างง่ายๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น “ตู้ปันสุข สู้ภัยโควิด-19” ที่ออกแคมเปญมาได้ไม่ทันไร กลับมีปัญหาดราม่า “รุมแย่งของ” เพื่อนำไปกักตุนอย่างไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนบางกลุ่มกำลังรอฉวยโอกาสเพื่อความอยู่รอด
 
– รักษ์โลก ถูกแทนที่ด้วย รักตัวเอง
 
ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ประเด็นของการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือ การรักษ์โลก เป็นวาระสำคัญที่ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ แต่เมื่อวิกฤตมาเยือนทุกชนชาติรวมถึงไทยเรา ดูเหมือนทุกอย่างที่เคยสร้างมาจะถูกล้มกระดานความคิดไปชั่วขณะ…
 
รายงานจาก Global Climate Risk Index 2020 เผย ประเทศไทยมีสภาวะเปราะบางทางสภาพอากาศ เป็นอันดับที่ 8 ของโลก และปีนี้จะเกิดภัยแล้งหนักสุดในรอบ 20 ปี… แต่น้อยคนที่รับรู้ข่าว หรือ รู้แล้วแต่ไม่ได้สนใจ เพราะกำลังลำบากกับการรับมือกับโควิดอยู่
 
เท่านี้เราก็สามารถสรุปได้อย่างมีนัยสำคัญแล้วว่า เทรนด์ “รักษาสิ่งแวดล้อม” อาจถูกแทนที่ด้วยเทรนด์ ”รักตัวเอง” เป็นที่เรียบร้อย
 
– เบื้องหลังของการเห็นแก่ตัว ที่หลายๆ คนอาจไม่ได้นึกถึง
 
ความเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ตัดสินชัดเจนไม่ได้ว่า “ถูก” หรือ “ผิด” เพราะ อารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ไม่สามารถทำหน้าที่ เป็นค่ากลางมาตรวจวัดความผิดชอบชั่วดีในตัวมนุษย์ได้
 
และด้วยเหตุนี้ ทำให้มีคนบางกลุ่มมองว่า การเห็นแก่ตัวกลับเป็นสิ่งที่ดีเสียกว่า เพราะในยามที่ทุกคนเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและผู้อื่น เพียงแค่อยู่อย่างเว้นระยะห่างซึ่งกันและกัน อยู่อาศัยแบบส่วนใครส่วนมัน และปล่อยให้สัญชาตญานการเอาตัวรอดของมนุษย์เราได้ทำงานอย่างเป็นอิสระเท่านั้นเอง
 
สุดท้าย… ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่กับแนวคิดในยุค “Barbarism Era” แต่เราสามารถสรุปประเด็นสั้นๆ ของแนวคิดนี้ด้วยคำกล่าวว่า…
 
“ถ้าเราไม่สามารถดูแลตัวเองให้ดีได้ เราจะไม่สามารถดูแลคนอื่นได้ และนี่คือเหตุผลที่เราต้องเห็นแก่ตัว”
 
Written by Supakorn Thepvichaisinlapakun
Illustration by Kannala Pooriruktananon
 
อ้างอิง:
Advertisements