อยู่ไม่สุข ขี้ลืม โฟกัสไม่ได้ จะทำอย่างไรเมื่อผู้ใหญ่อย่างเราก็เป็นโรค “สมาธิสั้น (ADHD)”

2504
สมาธิสั้น (ADHD)

เมื่อเราพูดถึงโรคสมาธิสั้น เรามักจะคิดถึงเด็กนักเรียนที่มักจะยุกยิกตลอดเวลา ไม่ฟังอาจารย์สอน แถมยังชอบเดินไปทั่วห้องอีก! ในตอนแรกเราอาจจะไม่เข้าใจว่าเพื่อนคนนั้น (หรือเราเอง) เป็นอะไร แต่สิ่งที่ทั้งผู้ปกครองและคุณครูบอกกับเราคือ อาการแบบนี้เป็นอาการของ “โรคสมาธิสั้น”

ภาพจำของอาการผิดปกติทางจิตเวชนี้จึงถูกแทนที่ด้วยภาพของ “เด็กซน” ประจำห้องเรียน

หลายคนที่ไม่ได้เผชิญกับโรคนี้มักจะเข้าใจว่าอาการสมาธิสั้นเป็นโรคของเด็ก ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น สมาธิสั้นยังเกิดในผู้ใหญ่และมักจะถูกมองข้ามเสียด้วย!

Advertisements

บางทีที่เราโฟกัสอะไรไม่ได้และควบคุมอารมณ์ยากจนใช้ชีวิตลำบาก อาจเป็นเพราะโรคสมาธิสั้นหรือเปล่า มาดูกันดีกว่าว่า “สมาธิสั้นในผู้ใหญ่” มีอาการเป็นอย่างไรบ้างและมีอะไรที่จะช่วยได้ไหม

รู้จักกับโรคสมาธิสั้น (ADHD) ในผู้ใหญ่

โรคสมาธิสั้น (ADHD หรือ Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า “โดพามีน” ซึ่งงานวิจัยพบว่าความไม่สมดุลนี้ มีปัจจัยหลักมาจากพันธุกรรม ไม่ใช่เกิดจากการเลี้ยงดูอย่างที่เข้าใจกันในอดีต

สารโดพามีนนี้เองเป็นสารที่คอยควบคุมการตอบสนองของเราต่อระบบรางวัลในสมอง เมื่อเกิดความไม่สมดุลขึ้น จึงส่งผลให้เกิดอาการตั้งสมาธิยาก ไม่มีแรงกระตุ้นในการทำงาน ความรู้ความเข้าใจและความจำมีปัญหา อาการเหล่านี้นี่เองคืออาการที่เราพบในโรคสมาธิสั้น

อาการสมาธิสั้นมักถูกพบในเด็กและรักษาจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่หลายคนกลับไม่ทราบเลยว่าตนมีอาการสมาธิสั้น รู้ตัวอีกทีก็ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว! 

มีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยอาจอยู่ในสังคมที่ไม่ให้ความใส่ใจเรื่องสุขภาพจิต หรือ เป็นผู้ป่วยเพศหญิง การศึกษาพบว่าอาการสมาธิสั้นในเด็กผู้หญิงมักจะถูกมองข้าม เพราะมักจะไม่มีอาการอยู่ไม่สุขหรือวุ่นวายเท่าเด็กผู้ชาย 

อย่างไรก็ตาม อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่มักมีความซับซ้อน วินิจฉัยได้ยาก และอาการต่างจากสมาธิสั้นในเด็ก เช่น อาการอยู่ไม่นิ่งอาจลดลง แต่อาการฉุนเฉียว รู้สึกกระสับกระส่ายและรวบรวมสมาธิได้ยากอาจเพิ่มขึ้นแทน โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ได้แก่ หุนหันพลันแล่น ไม่เป็นระเบียบ มีปัญหาในการจัดลำดับความสำคัญ บริหารเวลาไม่ดี โฟกัสต่องานตรงหน้าลำบาก และอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

จริงอยู่ที่อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน แต่สำหรับคนที่มีอาการสมาธิสั้นนั้น พฤติกรรมเกี่ยวกับการควบคุมตนเองเหล่านี้มักจะเป็นปัญหาในชีวิตมาโดยตลอด ทุกช่วงเวลาของชีวิต และครอบคลุมไปยังหลายๆ ด้านของชีวิต ตั้งแต่การเรียน การทำงาน ไปจนถึงด้านความสัมพันธ์

การไม่มีสมาธิและทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่างฟังดูเป็นปัญหาใหญ่ในชีวิตมากๆ มีทางใดที่พอจะช่วยให้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นไหม

จะใช้ชีวิตอยู่กับ ADHD ได้อย่างไร

การรักษาอาการสมาธิสั้นมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกันคือการทานยาและการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Treatment) 

สำหรับการทานยานั้น ตัวยาจะเข้าไปส่งผลโดยตรงต่อระดับของโดพามีน ทำให้ผู้ที่ทานยาเข้าไปรู้สึกควบคุมตัวเองได้มากขึ้น หากจะให้อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คงเหมือนการมีสมาธิมากขึ้นเพราะได้ทานกาแฟดีๆ สักแก้ว เพียงแต่ว่าไม่มีอาการใจสั่น มือสั่นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อยาหมดฤทธิ์ อาการก็จะกลับมาเป็นปกติ ดังนั้นจึงมักมีการรักษาคู่กับการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมไปด้วย

การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมนั้นมีหลายรูปแบบด้วยกัน ตั้งแต่การสอนทักษะการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ กลวิธีที่จะทำให้เป็นคนมีระเบียบวินัยในตัวเองมากขึ้น การสร้างกิจวัตรประจำวัน หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนสมาธิสั้นทำงานได้ดีที่สุด

จะจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบอย่างไร เมื่อเป็นโรคสมาธิสั้น

Gina Pera นักเขียนหนังสือที่อุทิศตนให้แก่การช่วยเหลือผู้ป่วยอาการสมาธิสั้น ได้แนะนำ “เครื่องมือ” ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านั้นใช้ชีวิตได้ดีขึ้นเทียบเท่าคนทั่วไป ที่น่าสนใจคือเครื่องมือเหล่านี้ยังดีต่อคนธรรมดาๆ ที่เจอกับอาการไม่มีสมาธิบ้างเป็นช่วงๆ

1) แพลนเนอร์

การจดบันทึกลงบนแพลนเนอร์คู่ใจช่วยให้เราไม่ลืมสิ่งต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวันพิเศษหรือนัดสำคัญ แถมยังช่วยให้เรามองเห็นภาพสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันได้มากขึ้น การมองเห็นภาพใหญ่ๆ ช่วยให้เรารู้สึกว่าเวลากำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเรื่อยๆ และเราต้องรีบทำในสิ่งที่ต้องทำ 

Advertisements

การจดบันทึกยังช่วยให้เราว้าวุ่นน้อยลงอีกด้วย การจดจำอะไรหลายๆ อย่างไว้ในสมองเพียงอย่างเดียวทำให้เรารู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องทำเยอะไปหมด จนสุดท้ายก็เลยเกิดความรู้สึกท่วมท้นและเลือกที่จะไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง

ที่น่าสนใจคือ นอกจากมีแพลนเนอร์ไว้จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำและนัดสำคัญแล้ว คนที่มีอาการสมาธิสั้นสามารถใช้แพลนเนอร์ล็อก “เวลาส่วนตัว” ไว้ให้ตัวเองด้วย เราอาจใช้เวลานั้นในการจัดการชีวิตตัวเอง เช่น จัดสภาพแวดล้อมห้องให้สะอาด ซื้อของใช้ส่วนตัว ซื้ออาหารมาตุนไว้ หรือใช้เวลาไปกับการจดสิ่งที่ต้องทำของวันถัดไป

แล้วเราควรมีแพลนเนอร์กี่อันกัน? ในบทความเรื่อง 5 ADHD Friendly Tips for Using a Daily Planner ในเว็บไซต์ verywellmind ได้แนะนำว่าการมีเพียง 1 เล่มอาจดีที่สุดสำหรับคนที่เป็นโรคสมาธิสั้น แต่จะเป็นแพลนเนอร์เป็นเล่มๆ หรือการจดบันทึกบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน

2) เทคนิค Pomodoro

การไม่ยอมทำงานหรือทำงานสำเร็จช้า จนส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ในชีวิตเป็นปัญหาที่คนเป็นโรคสมาธิสั้นหลายคนต้องเจอเป็นประจำ แต่จะทำอย่างไรดีเมื่อการผลักให้ตัวเองลุกไปทำงานมันช่างยากเหลือเกิน

เทคนิคมะเขือเทศสุดคลาสสิก ทำงาน 25 นาทีและพัก 5 นาทีนี้แหละ ตอบโจทย์สำหรับคนสมาธิสั้นสุดๆ แล้ว เราค้นพบว่างานที่เราคิดว่าต้องทำทั้งวันแน่เลย จริงๆ แล้วทำแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็สำเร็จแล้ว

3) ขวดโหลแห่งความสำเร็จ

Gina Pera แนะนำให้มีขวดโหลไว้ขวดหนึ่ง ให้เราเขียนเรื่องดีๆ ในแต่ละวันใส่ไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม อย่างเช่น “ฉันทำงานเสร็จภายในเวลาที่ตั้งไว้” หรือ “มีคนกล่าวขอบคุณในสิ่งที่ฉันทำ”

ที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะหลายๆ ครั้งในชีวิต ผู้ป่วยอาการสมาธิสั้นอาจท้อแท้ที่ตนต้องพยายามมากกว่าหลายเท่าในการใช้ชีวิตแบบคนปกติ ในขณะเดียวกันก็มักจะเจอคนที่ไม่เข้าใจมองว่าพวกเขาแค่ขี้เกียจ ความท้อแท้อาจนำไปสู่ความสิ้นหวังและคำถามที่ว่า “ทำไปทำไม” ได้สักวันหนึ่ง แต่เรื่องราวดีๆ ในขวดโหลเล็กๆ นี่แหละ ที่จะคอยเป็นกำลังใจให้เราในวันที่ต้องสู้ต่อ

อาการของโรคสมาธิสั้นนั้นมีส่วนคล้ายกับอาการของหลายๆ โรค สำหรับใครที่พบเจอปัญหาเช่นนี้เรื้อรัง ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดูจะดีกว่า จริงๆ บางทีอาการไม่มีสมาธิ ขี้เกียจ หรือชอบผัดวันประกันพรุ่งของเรา อาจมีต้นตอที่ลึกกว่าที่เราคิดก็ได้นะ

ส่วนใครที่แค่อยากหาตัวช่วยจัดการชีวิตให้เป็นระเบียบเฉยๆ เราขอแนะนำ “One Small Step Planner 2022” ตัวช่วยบริหารเวลา เรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ และพาคุณทำตามก้าวเล็กๆ จนมุ่งหน้าไปสู่ความสำเร็จได้!

ห้ามพลาด “One Small Step Planner 2022” เปิดขายอีกครั้งรอบ Regular Sale ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นี้ ในราคา 990.- บาท ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้าแฟนเพจมิชชันฯ หรือที่เว็บไซต์ >> https://bit.ly/3lyNw3k


อ้างอิง
Speaking Of Psychology Podcast Ep.161 ADHD among children and adults
https://mayocl.in/3pD8aSt
https://bit.ly/3pIgqke
https://bit.ly/3Gu6P6g

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements