Amount of Joy Vs Balance Factor การชั่งน้ำหนักของความสุข

649
ขอจั่วหัวแบบนี้เลยว่าบทความนี้เป็นความคิดเห็นล้วนๆ ไม่ได้อ้างอิงข้อเท็จจริงจากไหนทั้งสิ้น
 
ผมเชื่อว่าคนเรานั้นไม่มีความสุขเท่าที่ควรเพราะลังเลกับชีวิตมากเกินไป หรือยอมอยู่กับสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบและมีความสุข เพียงเพราะว่าไม่กล้าที่จะเปลี่ยนวิธีการในการจัดการชีวิตตัวเอง
 
จริงๆ ชีวิตมีหลายแง่มุมมาก แต่ผมขอยกมาสักสามเรื่องละกันครับ คือ เรื่องการใช้เงิน, เรื่องความรัก และเรื่องงาน
 
เรื่องพวกนี้ช่วงอายุประมาณ 35-50 ปีนี่แหละครับจะเป็นช่วงที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน เพราะไม่ใช่เด็กๆ แล้ว สิ่งที่ทำไปมันมีแนวโน้มจะส่งผลต่อชีวิตที่เหลือของเราจนเราตายเลยนั่นแหละ และเอาจริงๆ นะครับ คำว่า “จนตาย” นี่อีกไม่นานแล้วนะครับ
 
สำหรับคนที่อายุ 40 ปี เราจะมี Good Years คือจำนวนปีที่สามารถเดินเหินออกกำลังกายได้คล่องแคล่ว กำลังวังชาดีเยี่ยม ได้อีก 30 ปีก็หรูแล้ว หลังจากนั้นเรื่องโรคภัยไข้เจ็บก็จะเริ่มเข้ามาถามหา นอกจากบางคนที่ดูแลสุขภาพดีจริงๆแบบคุณแม่ผม ท่านจะ 80 ปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็น Good Years ของท่าน
 
แต่เอาเป็นว่าสำหรับผมขอถึง 70 ปีละกัน
 
นั่นหมายความว่า คุณจะมีเวลาอีก 10,000 วันในการใช้ชีวิตตามความฝันทุกอย่าง ก่อนที่เวลาของคุณจะหมดลง
 
ไม่เยอะครับ ไม่เยอะ
 
เราลองมาดูทีละเรื่องครับ
 
สิ่งของที่เงินซื้อได้
 
มุมมองเรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตกมากๆ สำหรับหลายคน ว่าควรจะซื้อบ้านใหญ่แค่ไหนดี รถคันไหนดี กระเป๋าซื้อได้ไหม ฯลฯ
 
ในอดีตผมเคยมีความคิดทำนองนี้นะครับว่า “ดูมหาเศรษฐีคนนั้นสิ เขายังซื้อรถแค่คันละ xx บาทเอง เราเป็นใครจะไปซื้อรถราคาเท่าเขาได้ไง รอให้รวยเท่าเขาก่อนค่อยซื้อ” ซึ่งแน่นอนว่าชีวิตนี้ไม่ได้ซื้อแน่นอน
 
แต่ในอีกมุมหนึ่งถ้าเราบอกว่า “ชีวิตนี้เกิดมาครั้งเดียว You Only Live Once YOLOOOO, รถ McLaren 30 ล้านซื้อเลยจะรออะไร ขอแค่มีเงินผ่อนไปก่อน เรื่องอื่นไว้ค่อยว่ากัน” ไอ้แบบนี้ก็ดูจะเสี่ยงเกินไป เพราะเกิดธุรกิจสะดุดหรืออะไรสะดุดขึ้นมานิดเดียวล่ะก็ ล้มหัวทิ่มเป็นโดมิโน่แน่นอน
 
มันจึงเป็นที่มาของคำพูดที่ผมคิดเองครับว่า เวลาอยากซื้ออะไรจะต้องชั่งน้ำหนัก Amount of Joy กับ Balance Factor ให้ได้
 
กรณีรถยนต์
 
รถยนต์สำหรับผมมี 2 ประเภท คือรถที่เอาไว้ใช้งาน ซึ่งจริงๆ มันก็คือส่วนหนึ่งของงานเลยแหละ มันช่วยเราหาเงินไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การหาเงินทางอ้อมคือ สมมติว่าคุณสามารถหลับไปในรถได้ แล้วทำให้คุณสมองใสขึ้นเจรจางานได้ดีขึ้นได้เมื่อถึงที่หมาย อันนี้เรียกหาเงินทางอ้อมครับ
 
รถประเภทใช้งานนี้ผมจะเลือกรถที่แข็งแรง, ปลอดภัย, พังยาก, ซ่อมง่าย, เงียบ ความน่าเชื่อถือสูง ฯลฯ เรื่องภาพลักษณ์ความงาม อะไรพวกนี้ถือเป็นเรื่องรองมากๆ
 
ถ้าสำหรับคุณพ่อคุณแม่ผม ท่านจะมีรถประเภทเดียวเลยครับ คือรถใช้งานซึ่งจะเป็นคุณสมบัติอย่างที่ว่า
 
รถมันคือเครื่องมือพาเราจากจุด A ไปจุด B
 
แต่สำหรับผมมันยังมีรถอีกประเภทหนึ่งครับ
 
“รถยนต์ที่ทำให้หัวใจพองโต”
 
รถยนต์ประเภทนี้เรื่องพังยาก ซ่อมง่าย อะไหล่ถูก ฯลฯ แทบไม่อยู่สารบบเลยครับ
รถยนต์ประเภทนี้คือรถที่เมื่ออยู่หลังพวงมาลัย บางครั้งคุณเหมือนหลุดไปอีกโลกหนึ่ง โลกที่เต็มไปด้วยพลังงาน เต็มไปความเยาว์วัย เป็นโลกที่คุณลืมปัญหาทุกอย่างที่แบกไว้ชั่วขณะ เอาแบบไม่เวอร์เลยนะ คือเหมือน “The World Stand Still” และในเวลานั้นมีแค่รถกับคุณเท่านั้นที่ทำงานร่วมกันแบบเป็นหนึ่งเดียวกัน
 
นิยามสั้นๆ เลยว่า “Pure Joy”
 
รถประเภทนี้อธิบายเหตุผลการซื้อยากนิดนึง และถ้าคนที่ไม่ชอบรถก็จะไม่เข้าใจเลยว่าทำไมต้องซื้อรถแบบนี้ด้วย
 
ถ้าพูดถึง “สิ่งของ” สิ่งที่ให้ความสุขกับผมมากที่สุดก็คือรถยนต์นี่แหละครับ ผมเลือกขับรถที่เป็นเกียร์ธรรมดาและให้ Factor ของการ “ขับสนุก” มาเป็นอันดับแรก ซึ่งไม่รู้ว่าอีกหน่อยจะยังมีรถเกียร์ธรรมดาให้ซื้อรึเปล่า
 
นี่คือเรื่อง Amount of Joy
 
พอเป็นแบบนี้ ถ้าเราชอบรถมากๆ เราอยากได้รถแพงๆ ก็ควรซื้อเลยใช่ไหม
 
อันนี้แล้วแต่ละคนเลยนะครับ แต่คำตอบสำหรับผมคือไม่ใช่ครับ มันต้องมี Balance Factor ด้วย
 
แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่ต้องมีเงิน 100,000 ล้าน เท่ากับมหาเศรษฐีบนหน้าปกของ Forbes เพื่อซื้อรถ Supercars สักคันก็ได้ แต่คุณต้องรู้ว่าควรมีเท่าไร
 
หนึ่งในบุคคลที่มี Wisdom ที่สุดในชีวิตผมคือคุณพ่อของผมเอง ซึ่งเคยสอนผมไว้ว่า ถ้าเป็นรถใช้งาน ซื้อก็ต้องซื้อ แต่ถ้าเป็นรถที่ซื้อมาเป็นของเล่น (ในที่นี่คือรถที่ Spark Joy มากๆ) คุณพ่อผมบอกว่าราคาของรถพวก Spark Joy ทั้งหลายไม่ควรเกิน 2% ของทรัพย์สินที่เรามี
 
นั่นหมายความว่าถ้าอยากซื้อรถ 20 ล้าน เราควรมี Wealth 1,000 ล้าน ซึ่งตัวเลขนี้มัน Subjective มาก ทุกคนลองไปปรับกันเอาเองละกันนะครับ
 
นี่เป็นที่มาว่า ทำไมผมถึงทำงานเยอะมาก ต้องยอมรับเลยว่าส่วนนึงก็เพราะเรื่องนี้แหละ
 
ไม่ใช่เพราะผมอยากได้รถแพงๆ ไปโชว์ใคร แต่เพราะผมรู้ว่า ที่หลังพวงมาลัยของรถบางคัน เวลาที่คุณประสานเป็นหนึ่งเดียวกับรถ แล้วเหมือนโลกหยุดหมุนไปแป๊ปนึง นั่นคือโมเมนต์ของชีวิตที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง
 
ของในหมวดนี้ยังรวมถึงของประเภท นาฬิกา, ภาพเขียน, กระเป๋า, งานศิลปะ ฯลฯ ด้วยครับ แต่สำหรับผมมีแค่รถยนต์จริงๆ ที่ Spark Joy
 
ความรัก
ความรักเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อความสุขโดยรวมของเรามาก สิ่งที่เราควรถามตัวเองคือ “เราอยู่ในที่ที่เราอยากอยู่หรือยัง” หรือถ้าเปรียบเทียบกับข้อเมื่อกี๊ ขอยกคำพูดในภาพยนตร์เรื่อง Hitch มาแล้วกันครับว่า
 
“Life is not the amount of breaths you take, it’s the moments that take your breath away”
 
ผมแปลแบบนี้นะครับ
 
ความหมายของคำว่า “ชีวิต” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งที่เราหายใจ แต่ขึ้นกับช่วงเวลาบางอย่างที่มันทำให้เราลืมหายใจไปเลย
 
คุณเคยนั่งมองหน้าใครสักกคนแล้วรู้สึกว่า ชีวิตนี้ทำไมเราโชคดีเหลือเกินที่มีคนนี้อยู่ไหมครับ นั่นแหละช่วงเวลาที่ทำให้เราลืมหายใจ
 
ซึ่งคนที่อยู่ในความสัมพันธ์แบบแย่ๆ จะไม่มีโมเมนต์แบบนี้ หลายคนทนเพราะกลัว กลัวสารพัด เช่น กลัวว่าเดินออกมาแล้วคนอื่นจะพูดว่ายังไง, กลัวว่าเดินออกมาแล้วชีวิตจะไม่สบายเหมือนเดิม, กลัวว่าเดินออกมาแล้วชีวิตจะเปลี่ยนแปลงมากเกินไปแค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ฯลฯ​
 
จึงอยู่ๆ ไปแหละ เหลืออีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว
 
ฟังดูเศร้านะครับ
 
แต่อีกประเภทก็อาจจะไม่ได้เหมือนกัน คือจะเอาแต่ความตื่นเต้นอย่างเดียว อยากได้ Spark Joy ทุกวัน ซึ่งมันก็เป็นไปไม่ได้อีกนั่นแหละ
 
จึงเป็นที่มาของ Balance Factor หรือ Responsibility Factor ด้วย
 
วันหนึ่งหากคุณตัดสินใจจะเดินออกมาจากความสัมพันธ์ใดๆ ที่คุณมีหน้าที่และความรับผิดชอบอยู่ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม คุณต้องทำมันให้ดีที่สุด ในบางหน้าที่และความรับผิดชอบ มันเป็นความรับผิดชอบตลอดชีวิต คุณก็ต้องทำมันตลอดชีวิต
 
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีสิทธิ์ใช้ชีวิตของตัวเอง
 
งาน
สำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ งานคือส่วนที่กินเวลาของชีวิตคุณมากที่สุด ดังนั้น มันควรจะต้องถูกคิดถึงเยอะๆ หน่อย
 
เหมือนกับสองข้อบนครับ งานก็มี Amount of Joy กับ Balance Factor เช่นกัน
 
ผมเคยถามตัวเองว่า เอาจริงๆ ผมต้องใช้เงินเท่าไร แล้วถ้ามันพอแล้ว ทำไมต้องขวนขวายอะไรนักหนาให้มันเหนื่อย
 
คำตอบของคำถามนี้สำหรับ มันคล้ายๆ เรื่องรถน่ะครับ งานที่ผมทำหลายอย่างมันเป็น Pure Pleasure คือมันสร้างความสุขลึกๆ แบบที่ของอย่างอื่นให้ได้ แม้จะมีบางจังหวะที่มีความ “ทนมารบันเทิง” อยู่บ้างก็ตาม แต่โดยรวมๆ แล้ว Pure Pleasure มาก
 
ไม่ใช่งานทั้งหมดนะครับ งานบางส่วนก็น่าเบื่อมากๆ แต่ของแบบนี้มันมาเป็นแพ็กเกจครับ เลือกแพ็กเกจไหนก็ต้องเอาทั้งแพ็กเกจ
 
สิ่งสำคัญคือ เราต้องพยายามเลือกแพ็กเกจที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ สำหรับตัวเรา
 
และเมื่อเลือกแล้ว ถ้าไปไม่ไหวจริงๆ ก็เปลี่ยนแพ็กเกจได้เสมอ
 
อย่างมุมมองเรื่องงานของผม มีงานที่เป็น Corporate Work, งาน Media, ร้านอาหาร และงานเขียน
 
ตอนนี้สำหรับผมมันสร้างความพึงพอใจได้ในระดับที่ผมสบายใจ ก็แสดงว่า Package นี้ยังดีอยู่
 
วันหนึ่งเมื่อปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนไป แพ็กเกจก็จะเปลี่ยนไปด้วยครับ
 
ประเด็นคือ “เราเลือกแพ็กเพจได้” นี่แหละครับคือสิ่งที่ผมอยากจะบอก เราต้องพยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ณ​ จุดนั้น ในมุมของ Amount of Joy
 
แต่อย่าลืมเรื่อง Balance Factor ด้วยนะครับ
 
Balance Factor สำหรับเรื่องงานก็คงจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าได้งานในฝัน แต่ไม่สามารถดูแลภาระของตัวเองได้ แบบนี้ก็คงไม่ไหวเช่นกันครับ
 
เรื่องสุขภาพก็เช่นกัน ถ้าทำงานจนสุขภาพพังอันนี้ไม่ดีแน่
 
และอย่างที่เกริ่นไปในตอนต้นว่า เราใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตทำงาน เพราะฉะนั้นเราต้องจัดการให้เหลือเวลาเพียงพอสำหรับด้านอื่นของชีวิตด้วย
 
อันนี้แค่สามมุมนะครับ จริงๆ มันมีอีกหลายเรื่องมากครับ แง่มุมเรื่องการช่วยเหลือสังคม, การท่องเที่ยว หรือแง่มุมการตามความฝันด้านอื่นๆ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ
 
ผมคิดว่าแทบทุกเรื่องในชีวิตเราสามารถคิดโดยคิดถึง Amount of Joy และควบคุมความเหมาะสมโดย Balance Factor ได้
 
อย่างที่บอกในตอนต้นครับว่า อันนี้ความคิดเห็นล้วนๆ ซึ่งก็มาจากภาพที่ผมเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ แน่นอนว่าเป็นมุมมองที่จำกัดมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องเชื่อ ลองพิจารณาดู
 
แต่ขอให้นึกไว้เสมอนะครับว่า ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไรก็ตาม เวลาบนโลกใบนี้ของเราเหลือไม่เยอะแล้วจริงๆ ลองถามตัวเองว่าถ้าเราไม่ได้ทำอะไรแล้วเราจะมองกลับมาแล้วเสียดายบ้างไหม
 
ถ้ามีอะไรที่เสียดายก็หาทางทำมันให้ได้เถอะครับ
 
Fulton Oursler เคยกล่าวไว้ว่า
 
“We crucify ourselves between two thieves: regret for yesterday and fear of tomorrow”
 
ผมขอแปลแบบนี้ละกันครับว่า
 
เราตรึงตัวเองไว้ระหว่างโจรสองคน นั่นคือโจรแห่งความเสียใจของอดีต และโจรแห่งความกลัวของอนาคต”
 
Advertisements