Mission to the Moon EP.83: AI 101 (ตอนที่ 1) โลกอนาคตจะเป็นยังไง

1497
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • แนวคิดเรื่องการมาถึงของ AI มีอยู่สองฝั่งหลักๆ ด้วยกัน ฝั่งแรกมองว่า AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์และเปลี่ยนโฉมโลกที่เราอยู่ ในขณะที่อีกฝั่งบอกว่ามันมีอันตรายอย่างมากและต้องใช้อย่างระมัดระวัง
  • แน่นอนไม่มีใครสามารถเดาอนาคตได้ แต่สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ การทำ prototype สร้างแบบจำลองเหตุการณ์ เพื่อรับรู้ถึงผลกระทบที่อาจจะตามมาจากการตัดสินใจของเราในวันนี้

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี

หากพูดกันถึงเรื่องของมุมมองความคิดที่มีต่อ AI เราก็พอจะสามารถแบ่งกลุ่มคนที่มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกได้เป็นสองฝ่ายหลักๆ ด้วยกัน คือ ฝ่ายที่มองว่า AI จะเข้ามาช่วยพัฒนาเผ่าพันธุ์มนุษย์และเปลี่ยนโฉมโลกที่เราอยู่ ในขณะที่อีกฝั่งจะบอกว่ามันมีอันตรายมากฉะนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวัง แน่นอนว่าไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะตอนนี้เราไม่สามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้มันมาถึงแน่นอนและไม่มีอะไรจะมาหยุดยั้งมันได้

บทความนี้มาจาก waitbutwhy.com ชื่อบทความว่า The AI Revolution: The Road to Superintelligence ครับ

สมมุติว่าเราเอามนุษย์ที่มาจากปี 1750 ก็คือเมื่อประมาณ 269 ปีที่แล้ว พาเขามาในวันนี้ คนที่มาจากปี 1750 จะงงกับวิวัฒนาการของโลกในปี 2018 แบบสุดๆ คือจะนึกไม่ออกเลยว่าทำไมคนในปี 2019 ถึงสามารถคุยกันข้ามโลกได้ เห็นหน้ากันได้ ได้ยินเสียงกันได้

ทำไมคนในยุคนี้ถึงสามารถได้ยินเพลงที่ถูกบันทึกไว้เมื่อ 50-100 ปี ที่แล้วได้ ทำไมถึงสามารถดูกีฬาที่กำลังแข่งกันอยู่อีกซีกโลกได้แบบสดๆ ทำไมคนถึงมีพลังอำนาจราวกับเป็นพ่อมด เช่น บันทึกภาพที่อยู่ตรงหน้าได้ แถมยังทำให้ภาพนั้นเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย คือจะบอกว่าแค่ตกใจ หรือตื่นเต้นคงไม่พอ แต่เขาอาจจะช็อคตายได้เลยทีเดียว

แต่ถ้าเราลองย้อนกลับไปพาคนในปี 1500 มาในปี 1750 ล่ะ คนที่มาจากปี 1500 จะตื่นเต้นกับวิวัฒนาการของปี 1750 เหมือนกันไหม? คำตอบคือไม่ครับ เขาอาจจะตื่นเต้นประมาณหนึ่งแต่ไม่เยอะ แต่ถ้าจะให้คนนั้นตื่นเต้นแบบเรียกได้ว่าช็อคตาย เวลาเห็นสิ่งต่างๆ ในยุค 1750 เราอาจจะต้องย้อนหลังกลับไปพาคนที่มาจาก ยุคก่อนการปฏิวัติเกษตรกรรม คือ เมื่อ 10,000 กว่าปีที่แล้วนู้นเลยครับ

Edge1
รูปภาพจาก waitbutwhy.com

เหตุผลก็เป็นเพราะว่าอัตราเร่งของการเติบโตทางเทคโนโลยีนั้น ไม่ได้เป็นเส้นตรง คือ มนุษย์จากเมื่อ 10,000 ปี หรือ 70,000 ปี ที่แล้ว อาจจะมีการพัฒนาการของเทคโนโลยีเท่ากับเพียงช่วงเวลาเพียง 200 ปี ให้หลังของยุคเราเท่านั้นเอง และใน 100 ปี ของศตวรรษที่ 20 ก็ยังมีการพัฒนาที่อาจจะเทียบไม่ได้กับ 18 ปี ที่ผ่านมาของศตวรรษที่ 21

ความหมาย คือ มันมีอัตราการเร่งของเทคโนโลยีที่สูงมากๆ และเราก็อยู่ในจุดที่กราฟการเติบโตทางเทคโนโลยีนั้นกำลังจะพุ่งขึ้นแรงมาก


มนุษย์อาจจะเป็นมด?

แซม แฮร์ริส (Sam Harris) เคยพูดถึง AI บนเวที TED Talks <<(คลิกเพื่อดู TEDTalks ของ แซม แฮร์ริส) ไว้ได้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า โอกาสที่ AI จะออกมาสร้างหุ่นยนต์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ อย่างในหนัง Terminator แบบที่เราคิดกันคงไม่มีหรอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่วันที่ AI มันฉลาดกว่ามนุษย์ไปมากๆ จนเกินความควบคุมของเราไปแล้ว สิ่งที่น่ากลัวคือ เมื่อเป้าหมายของ AI นั้นขัดแย้งรุนแรงกับเป้าหมายของมนุษย์ AI จะเห็นเราเป็นเหมือนมด

โดยปกติคนเราคงไม่มีใครออกมาฆ่ามดด้วยความสนุกสนาน จริงๆ ถ้าว่าไปบางคนก็พยายามหลีกเลี่ยงการฆ่ามดด้วยซ้ำ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เป้าหมายของมนุษย์กับมดนั้นขัดแย้งกันอย่างรุนแรง เช่น มนุษย์กำลังจะต้องไปตอกเสาเข็มขนาดใหญ่เพื่อสร้างตึก แล้วเผอิญพื้นดินตรงนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของมดรังใหญ่พอดี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มดในบริเวณนั้นจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

และนี้ล่ะคือ สิ่งที่น่ากลัวเกี่ยวกับ AI เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งเป้าหมายของมนุษย์กับ AI มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง มนุษย์ซึ่งในวันนั้นอาจจะอยู่ในฐานะเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งเป็นการตั้งโจทย์จากฝั่งหนึ่งที่ยังไม่มีใครตอบได้

ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง ก็มีความคิดในอีกมุมมองหนึ่ง ซึ่งเขาบอกว่าการพัฒนาของ AI จะมีมูลค่ากับมนุษย์มาก และด้วยธรรมชาติของมนุษย์ การพัฒนาการในเรื่องนี้จะไม่มีทางช้าลงได้

Sam Harris TEDtalk
แซม แฮร์ริส บนเวที TEDtalk | รูปภาพจาก ted.com

คำถามที่น่าสนใจคือ เราควรจะรับมือกับอนาคตยังไงดี เรากำลังอยู่ในรอยต่อที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เพราะเรากำลังอยู่ในจุดที่เส้นกราฟของวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีกำลังพุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และนับจากวันนี้ไปมันจะกลายเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยากมาก

ประเภทของ AI

AI ประเภทที่ 1) Artificial Narrow Intelligence (ANI): ซึ่ง AI นี้มันจะเก่งในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ว่าไม่สามารถทำทุกอย่างพร้อมกันได้ อย่างเช่น เล่นหมากรุกเก่งมาก ก็จะเล่นหมากรุกได้อย่างเดียว เล่นหมากล้อมไม่ได้ แต่งเพลงไม่ได้

AI ประเภทที่ 2) Artificial General Intelligence (AGI): ในบางครั้งเราจะเรียก AI กลุ่มนี้ว่า Strong AI หรือ Human-Level AI อันนี้พูดถึงคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถเทียบเท่ากับมนุษย์ในทุกๆ ด้านตั้งแต่การใช้เหตุผล การวางแผน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การคิดเป็นคอนเซปต์ การเข้าใจปัญหาที่มีบริบทแตกต่างกัน การเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ซึ่ง ณ วันนี้เรายังไม่สามารถพัฒนา AGI แบบ 100% ได้ แต่ก็เริ่มเข้าใกล้มากขึ้นทุกที

AI ประเภทที่ 3) Artificial Super Intelligence (ASI): อันนี้คือเป็น AI ที่ฉลาดกว่ามนุษย์แบบสุดๆ ไปเลยในแทบทุกด้าน ตั้งแต่เรื่องของความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญญาที่ใช้ความคิดทั่วไป ทักษะด้านสังคม อันนี้มันสามารถฉลาดกว่ามนุษย์นิดหน่อยก็ได้ หรือฉลาดกว่ามนุษย์แบบสุดๆ เป็นล้านเท่าก็ได้

ASI นี่ละที่เป็นหัวข้อที่เวลาพูดถึงแล้วคนจะค่อนข้างกลัว


เรื่องที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ AI

อันแรกก็คือคนมักจะคิดถึง AI ในรูปแบบของภาพยนต์เพราะเราดูหนังกันเยอะ อย่าง Terminator เป็นหนังที่เราพูดถึงกันเยอะที่สุดเวลาพูดถึง AI ซึ่งจริงๆ แล้วอันนั้นมันคือ หุ่นยนต์ ซึ่ง หุ่นยนต์ก็เป็นเพียงเปลือกของ AI เท่านั้นเอง แต่ AI ที่เราเห็นหรือใช้กันอยู่ในทุกวันนี้เนี่ย ไม่ได้มาในรูปแบบของหุ่นยนต์ AI แต่มันเป็นได้ตั้งแต่ของที่อยู่ในมือถือของเราไปจนกระทั่งรถยนต์ที่ขับอัตโนมัติ

Advertisements

เราใช้ AI กันตลอดเพียงแต่เราไม่ได้มองว่ามันเป็น AI ทั้งที่จริงๆ แล้ว AI อยู่ในชีวิตประจำวันของมาเราตลอด เช่น ในมือถือก็เหล่าบรรดาแอฟ แผนที่, ฟังเพลง, หน้าฟีดเฟซบุ๊ค, กูเกิลแปลภาษา, สิริ, กูเกิลโฮม

พยากรณ์อนาคตจากผลกระทบของเทคโนโลยี

คือในปัจจุบันนี้เวลาเราทำธุรกิจ เราแทบที่จะไม่สามารถทำนายได้เลยว่าอีก 5 ปี ต่อจากนี้จะเป็นยังไง แต่สิ่งที่เราทำได้คือ การทำแบบจำลอง (prototype) เหตุการณ์ เพื่อดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นเวลาปล่อยออกสู่ตลาดจริง แล้วเราจะทำแบบนี้กับแนวคิดเรื่องของอนาคตได้ไหม

ผมเคยฟัง TED talk ของ อนาร์บ เจน (Anab Jain) เธอกับสามีทำงานอยู่ในสตูดิโอที่ชื่อว่า ซุปเปอร์ฟลัคซ์ (Superflux) ซึ่งสตูดิโอนี้มีหน้าที่ตอบคำถามว่าอนาคตที่เราต้องอยู่ในวันข้างหน้าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

และพวกเขาตอบคำถามนี้ด้วยการสร้าง prototype เธอบอกว่า สิ่งที่ทรงพลังที่สุดที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจถึงผลของการเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือการให้เราได้สัมผัสเสี้ยวหนึ่งของอนาคต ที่มาจากสิ่งที่เรากำลังตัดสินใจทำในวันนี้

เธอยกตัวอย่างงานของเธอชิ้นหนึ่งที่ทำให้กับทางรัฐบาลของ UAE (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) เพื่อช่วยวางยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศซึ่งต้องวางแผนไปถึงปี 2050 ซึ่งเธอได้เสนอทางเลือกหลากหลายรูปแบบ เกี่ยวกับความมั่นคงทางพลังงานให้รัฐบาลพิจารณา

ขณะที่ผู้มีอำนาจตัดสินกำลังครุ่นคิดก็มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า ผมนึกไม่ออกจริงๆ ว่าคนจะเลิกใช้รถยนต์ส่วนตัวและหันมาใช้บริการรถขนส่งสาธารณะกันหมดได้ยังไง ผมไม่มีทางบอกให้ลูกชายผมเลิกขับรถได้แน่นอน

แต่เธอได้เตรียมคำตอบไว้อยู่แล้ว เธอได้พาผู้ชายคนที่พูดเดินไปที่อุปกรณ์ชิ้นหนึ่งซึ่งในนั้นมีอากาศที่ถูกจำลองขึ้นมาจากห้องแลป เป็นการจำลองสภาพอากาศของปี 2030 หากว่ามนุษย์ยังคงมีพฤติกรรมเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยงแปลงอะไรเลยเลย

เพียงแค่ได้สูดอากาศนี้เพียงครั้งเดียว มันตอบคำถามของผู้มีอำนาจทางการตัดสินใจในห้องนั้นได้หมดในทีเดียว การตอบคำถามด้วยการสูดอากาศ มันมีน้ำหนักมากกว่าตัวเลขข้อมูล หรือ กราฟใดๆ เพราะเขาจะเข้าใจทันทีว่าถ้าไม่ทำอะไรสภาพอากาศจะเลวร้ายมาก และไม่มีใครอยากทิ้งมรดกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน

วันรุ่งขึ้นรัฐบาล UAE จัดการแถลงครั้งใหญ่ ในการลงทุนหลายพันล้านเหรียญในโครงการพลังงานสะอาด ที่สอดคล้องกับการลดการปล่อยมลพิษของประเทศ

Anab Jain TEDtalk
อนาร์บ เจน บนเวที TEDtalk | รูปภาพจาก ted.com

เธอได้ลองศึกษาเรื่อง จีโนมทางการแพทย์ (medical genomics) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกพูดถึงมากในยุคนี้ เทคโนโลยีนี้ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของเรา ในการสร้างยาที่เหมาะสมที่สุดกับเราเพียงคนเดียว การออกฤทธิ์จะได้ผลในการรักษาดีที่สุดเพราะมันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเราคนเดียว

คำถามคือ อะไรคือผลที่เราอาจคาดไม่ถึงที่จะตามมาจากเรื่องนี้ เพื่อตอบคำถามนี้ทีมงานของเธอจึงลองตั้งสมมติฐานต่างๆ แล้วก็พบว่ามันมีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีความได้ เพราะ medical genomics สร้างให้เกิดแรงจูงในการในการทำผิดกฏหมาย

เธอได้จำลองการฟ้องร้องสมมติขึ้นมา

การฟ้องร้องสมมุตินี้เกิดขึ้นหลังจากที่ชายคนหนึ่งส่งตัวอย่างน้ำลายของเขาไปให้กับ NHI เพื่อทำประกัน (the UK’s National Health Insurance service) เขาต้องช็อคกับเบี้ยประกันที่เขาเห็น เพราะมันแพงเกินกว่าที่เขาสามารถจะจ่ายได้ไปเยอะ สาเหตุก็เพราะอัลกอริทึ่มของ NHI วิเคราะห์ว่าชายคนนี้มีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นโรคเรื้อรังได้ในอนาคต ที่รักษาขาดได้ยาก ทำให้เขาต้องจ่ายเบี้ยประกันเกือบจะเท่าๆ กับการรักษาโรคที่เขายังไม่ได้เป็น

ทางออกของชายคนนี้ก็คือ คลินิกเถื่อนซึ่งสามารถแก้ไข DNA ของเขา เพื่อให้ NHI มองไม่เห็นความเสี่ยงของโรคอีกต่อไป เป็นการทำ DNA ปลอมนั่นเอง แน่นอนเขาถูกจับได้และถูกดำเนินคดีหลายข้อหา ทั้งการให้ข้อมูลเท็จ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิบัตรสารพันธุกรรม (genetic material) ของบริษัทไบโอเทคยักษ์ใหญ่ด้วย

ทั้งหมดนี้เธอและทีมงานได้จำลองเหตุการณ์ทั้งหมดเสมือนว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งหลักฐานการฟ้องร้อง ห้องแลปเถื่อน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถสัมผัสได้ถึงอนาคตว่า ถ้าหากมีเทคโนโลยีนี้โดยไม่มีการควบคุมตั้งแต่ต้น อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว หน้าตาของเหตุการณ์จะเป็นยังไง


เมื่อได้สัมผัสแล้วคนจะเข้าใจ เมื่อเข้าใจก็จะตั้งคำถามที่ถูกต้อง เช่นการอยู่ในโลกที่เราถูกตัดสินผ่านทางพันธุ์กรรม เนี่ยมันจะเป็นยังไง คือนายจ้าง จะจ้างคนที่มีโอกาสป่วยไหม ถ้าหากนายจ้างมีโอกาสรู้ข้อมูลทางพันธุ์กรรมของคนที่มาสมัครงาน

ความปลอดภัยของข้อมูลทางพันธุ์กรรมควรมีขนาดไหน ใครควรรู้ข้อมูลทางพันธ์ุกรรมของเราบ้าง ขอบเขตมันอยู่ตรงไหน

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นมาก มันเป็นจุดที่เรากำลังอยู่ในเส้นโค้งที่กำลังจะกระโดด และมันก็กำลังพาเราไปเผชิญกับสิ่งที่เราอาจจะมองไม่เห็นเลยว่า มันจะพาเราไปที่ไหนบ้าง สิ่งหนึ่งที่ผมก็คือว่าเราจะรอให้อนาคตที่มันจะเกิดขึ้นแน่ๆ นี้มากำหนดเรา หรือเราจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างอนาคตใหม่นี้

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่