8 Megatrends

3212
รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock.com
มีเวลาไม่เยอะอยากอ่านสั้นๆ
  • กำลังซื้อของชนชั้นกลางกำลังลดลง และเริ่มที่จะเลือกซื้อสินค้าที่คุ้มค่า
  • ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซื้อ “ประสบการณ์” มากขึ้น
  • ตลาดเศรษฐกิจจะย้ายมาที่เอเชียและแอฟริกา
  • สินค้าพรีเมี่ยม เฉพาะทาง ที่สะท้อนถึงตัวตนของผู้ซื้อ กำลังเติบโต
  • สิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน สิทธิสัตว์ การปฏิบัติต่อแรงงาน และการช่วยสังคม
  • ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อ “สินค้า” แต่ซื้อ “บริการ” คือ ยุคนี้เป็นยุคที่คนซื้อประสบการณ์
  • ผู้คนจะมีวิถีชีวิตที่รักษาสุขภาพมากขึ้น
  • คนจะเชื่อมต่อกันมากขึ้นผ่านโลกดิจิตอล

การเข้าใจ Megatrend (เมกะเทรนด์) นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับการวางกลยุทธ์ของธุรกิจมาก เพราะการมองอะไรยาวๆ ให้ออกและเตรียมตัวเพื่อรองรับสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นหนึ่งตัวที่จะชี้เป็นชี้ตายสำหรับธุรกิจเลยทีเดียว

วันก่อนคุณบี๋ที่ปรึกษาด้านแบรนด์ดิ้งของศรีจันทร์ได้ส่งบทความเรื่อง Megatrend Analysis ซึ่งเขียนโดย Euromonitor เป็นบริษัทวิจัยและวางกลยุทธ์ สำหรับตลาดผู้บริโภคชั้นนำของโลก ผมเห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาแปล + ย่อให้ทุกท่านได้อ่านกันแบบเร็วๆ ครับ

1. กำลังซื้อของชนชั้นกลางที่กำลังลดลง

ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการเจริญแติบโตที่สูงของชนชั้นกลางในเอเซีย แต่ชนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้วนั้น กลับอยู่ในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ลำบากมากขึ้น และผู้บริโภคเริ่มคุ้นชินต่อการเตรียมการสำหรับการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งต่อๆ ไป อัตราค่าจ้างที่ไม่ได้เพิ่มสูงตามค่าใช้จ่ายนั้น เป็นแรงกดดันให้กับคนชั้นกลางกลุ่มนี้ให้ต้องประหยัดเงินมากขึ้นในทุกๆ อย่าง ตั้งแต่ที่อยู่ไปจนถึงของกิน ของใช้ หรือเสื้อผ้า

Advertisements

ตัวเลขที่สะท้อนเทรนด์นี้ได้คือ ในขณะที่ยอดขายของร้านค้าปลีกทั่วโลกหดตัวลง 3 % ระหว่างปี 2011-2016 ร้านค้าแบบลดราคา (off price retail) กลับมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 28% (13.8 พันล้านเหรียญ)

มุมมองของ megatrend นี้ก็คือ การที่ผู้บริโภคชื่นชอบ หรือถ้าแปลให้ตรงตัวคือ สรรเสริญการใช้ชีวิตแบบประหยัดมัธยัสถ์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Glorified Frugality (ภาษาอังกฤษเข้าใจง่ายกว่าเยอะ พอแปลแล้วดูทะแม่งๆ ไงชอบกลครับ ผมว่า) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่เราจะเห็นชนชั้นกลางโดยเฉพาะจากประเทศที่พัฒนาแล้วชื่นชมสินค้าที่ประหยัดในขณะเดียวกันก็ต้องลดของเสียที่ส่งผลแก่สิ่งแวดล้อมด้วย

ธุรกิจที่ต้องการลูกค้ากลุ่มนี้ต้องออกแบบสินค้าให้สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่า มาตรฐานดี สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ บำรุงรักษาได้ง่าย ซึ่งในหลายสินค้ามันหมายถึงแนวคิดที่ต้องปฏิวัติโครงสร้างในการทำธุรกิจใหม่ทั้งหมดเลย

2. ประสบการณ์ที่มากขึ้น

เทรนด์นี้เกิดจากการทื่ผู้บริโภคลดความสำคัญในการเป็นเจ้าของสิ่งของลดลง ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการซื้อ “ประสบการณ์” มากขึ้น หลักฐานที่มาสนับสนุนเทรนด์นี้ก็อย่างเช่น ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่มีอายุการใช้งานยาวนาน (durable goods) นั้นลดลง ซึ่งสวนทางกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายในส่วนของกลุ่มสินค้าธุรกิจบริการ

โดย Euromonitor คาดการณ์ว่าค่าใช้จ่ายด้านสินค้ากลุ่มบริการจะเพิ่มจาก 21.9 พันล้านเหรียญ ในปี 2016 เป็น 43.6 พันล้านเหรียญ ในปี 2030

เทรนด์นี้จะทำให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ได้รับโดยรวม เมื่อเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ หรือจะกล่าวอีกนัยก็คือ ถ้าเป็นการซื้อสินค้า ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อแค่ตัวสินค้าแต่ยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่มารอบๆ สินค้านั้นด้วย ผู้บริโภคจะเลือกหา สินค้า/บริการ ที่มีความจริงใจและมีความ personalize (ปรับแต่งมาให้เหมาะกับแต่ละบุคคล) และเข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น

อย่างในกรณีของไอศครีม แม็กนั่ม (Magnum) ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ของ ยูนิลิเวอร์ ก็ดึงลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสินค้าด้วย โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมา แม็กนั่ม มี ป๊อป-อัพ สโตร์ (Pop-Up Store คือ การออกร้านในตามสถานที่ต่างๆในช่วงระยะเวลาสั้นๆ) ชื่อ “Make Your Own” (ทำด้วยตัวคุณเอง) ในลอนดอน ซึ่งลูกค้าสามารถทำไอศครีม แม็กนั่ม ในแบบที่ตัวเองต้องการได้ โดย แม็กนั่ม เน้นเรื่องการแชร์ประสบการณ์นี้ต่ออย่างมากด้วยแฮชแท็ก #MagnumLDN การให้ลูกค้าสามารถทำไอศครีมด้วยตัวเองนั้นช่วยสร้างความใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น

3. การขยับของตลาดเกิดใหม่

ในอนาคตข้างหน้า ตลาดเศรษฐกิจจะย้ายมาที่เอเชียและแอฟริกา โดยในปี 2016-2030 มีการคาดการณ์ว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคในซับซาฮาร่าแอฟริกาจะเพิ่มไปอีก 160% โดยเติบโตเร็วกว่าตลาดที่พัฒนาแล้วถึง 2.5 เท่าตัว

และในบางเมืองของโลกจะเกิดภาวะล้นตลาด และก้าวสู่สภาวะอิ่มตัว การแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นตามเมืองใหญ่ ทำให้ธุรกิจต้องมองหาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่โตเร็ว

ยกตัวอย่างจีน ตอนนี้เริ่มเพิ่มการลงทุนและกระจายรายได้ไปตามเมืองขนาดกลางหลายๆ เมือง หนึ่งในนั้นคือเมือง เซี่ยเหมิน ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ตลาดจะโตขึ้นกว่าเดิม 3 เท่า โดยใหญ่กว่าโรม มิวนิค และบาร์เซโลน่า ในขณะที่ ปักกิ่ง และ เซี่ยงไฮ้ จะกลายเป็นเป็นเมืองใหญ่ติด Top 5 แทน ลอนดอนและปารีส

4. ความพรีเมี่ยมและเฉพาะทาง

การขยายตัวอย่างช้าๆ ทำให้แบรนด์มองหาวิธีใหม่ๆ ในการขยายมูลค่า (Drive Value Expansion) ส่วนด้านผู้บริโภคเองก็เริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้น เลยมีความต้องการสินค้าหรือบริการแพงและแตกต่างมากขึ้น

Advertisements

ผู้บริโภคต้องการทางเลือกที่มากขึ้นและมีระดับ (Tier) ที่แตกต่างกันมากขึ้น ไล่ตั้งแต่สินค้าลดราคา สินค้าแมส สินค้าแมสทีจ (Masstige หรือพรีเมียมระดับกลาง) ไปจนถึงสินค้าหรูหรา ส่งผลให้เหล่าแบรนด์ระดับโลกเพิ่มไลน์สินค้าและสร้างแบรนด์ที่ นิช (niche) หรือเฉพาะมากขึ้น เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่มองหาสินค้าที่สะท้อนตัวตนพวกเขามากที่สุด

อย่างกลุ่ม ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามแบบพรีเมี่ยม และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย คาดการณ์ว่าจะเติบโตถึง 3.5 หมื่นล้านเหรียญ ภายในปี 2021

ข้อนี้กับข้อ 2 ไม่เหมือนกันนะครับ ต้องลองวิเคราะห์ดีๆ

5. จริยธรรม

ผู้บริโภคและภาคธุรกิจจะให้ความใส่ใจเรื่องจริยธรรมมากขึ้น โดยคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน สิทธิสัตว์ การปฏิบัติต่อแรงงาน และความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชุมชนและสังคม

6. นวัตกรรมกับการซื้อของ

การจับจ่ายซื้อของต่างๆ จะย้ายมาอยู่บนออนไลน์ ผู้บริโภคจะช้อปปิ้งจากหลากหลาย แพลตฟอร์ม ดังนั้นภาคธุรกิจจะต้องพร้อมโต้ตอบกับผู้บริโภคทุกที่ทุกเวลาและทุกจุด

นอกจากนี้ ผู้บริโภคไม่ได้แค่ซื้อ “สินค้า” แต่ซื้อ “บริการ” พูดอีกอย่างคือ ยุคนี้เป็นยุคที่คนซื้อประสบการณ์ครับ ส่วน Ideal Customer Journey คือการที่แบรนด์เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดกับทุกประสบการณ์ของลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจครับ

7. สุขภาพ

ผู้คนจะมีวิถีชีวิตที่รักษาสุขภาพมากขึ้น คนจะกังวลเรื่องความอ้วน เซนซิทีฟกับอาหารการกิน และจะมีคนที่ป่วยเป็นโรคมากขึ้น

นอกไปจากนี้ คนจะให้ความสนใจการใช้ชีวิตแบบ โฮลิสติก (holistic) คือใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลย์กับธรรมชาติและการมีสภาพจิตใจที่ดี ดังนั้นในยุคใหม่ คนจะเริ่มมีไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้ากลุ่ม สุขภาพ, ความงาม, การออกกำลังกาย และ การพัฒนาตัวเอง

ภาคธุรกิจสามารถใช้โอกาสนี้ในการสร้างแบรนด์ ทำสินค้าและบริการที่เชื่อมโยงกับคอนเซปต์เรื่องสุขภาพและการใช้ชีวิตแบบ โฮลิสติก

8. การเชื่อมต่อที่มากขึ้น

เทรนด์ยุคต่อไปเป็นยุคที่ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่างๆ หลากหลายขึ้นไม่ว่าจะสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และข้าวของเครื่องใช้ โลกดิจิตอลจะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต การทำงาน การช้อปปิ้ง คนจะเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์แทบจะตลอดเวลา และกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตอย่างแยกไม่ออก

โดย Euromonitor พบว่า ในปี 2015 มี 40% ของครัวเรือนทั่วโลกที่มีสมาร์ทโฟนอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง แต่ต่อไปภายในปี 2030 จะสูงถึง 81%

ใครสนใจบทความงานวิจัยดีๆ แบบนี้ซึ่งมีเยอะมาเรียนเชิญที่แหล่งที่มาได้เลยครับ

https://blog.euromonitor.com/new-whitepaper-reveals-megatrends-shaping-the-future-of-travel/

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่