5 หนังสือวัยเด็ก อ่านกี่ทีก็ดีเหมือนเดิม

2099
ในตอนเด็กที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องยาก หนังสือในห้องสมุดโรงเรียนคงเป็นโลกใบใหญ่สำหรับใครหลายๆ คน รวมถึงเราด้วย ในช่วงเวลานั้นเราได้พบเจอกับหนังสือดีๆ มากมาย โดยเฉพาะวรรณกรรมเยาวชนที่อัดแน่นอยู่เต็มชั้น ให้เลือกหยิบและยืมได้ทุกวัน
 
เมื่อวันเวลาผ่านไป ในวัยที่โตขึ้น มีบางเรื่องที่เราได้มีโอกาสอ่านอีกครั้งด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป และความเข้าใจในอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอ่านในช่วงเวลาไหน ก็สร้างความประทับใจให้เราเสมอ
 
และนี่คือที่สุดของวรรณกรรมเยาวชน 5 เรื่องที่เราอยากชวนคุณกลับไปอ่านด้วยกันอีกครั้ง
 
 
 
1
 
1. ต้นส้มแสนรัก
ผู้เขียน : José Mauro de Vasconcelos
 
โอบกอดความแหว่งวิ่นของชีวิต
ด้วยความฝันที่เข้าใจเรามากกว่าใคร
 
หนังสือเล่มแรกๆ ที่เราได้อ่านตอนมัธยมต้น ในตอนที่อายุเพียงสิบขวบนิดๆ เรามองเห็น ‘การ์ตูน’ ต้นไม้พูดได้ กับเด็กชายเซเซ่ ที่บางทีก็น่าสงสาร บางทีก็เป็นตัวแสบ แต่เมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งในวันนี้ เรากลับได้รู้จักกับเด็กชายผู้มีชีวิตแหว่งวิ่น บนโลกใบเล็กอันเดียวดาย ผู้มีความฝันและจินตนาการเป็นเพื่อนคอยปลอบประโลม ให้ผ่านแต่ละคืนวันไปได้
 
ถ้าคุณรักวรรณกรรมเยาวชนที่ทำให้อิ่มเอิบใจ อยากเรียนรู้และร่วมลุ้นไปกับการเติบโตของเด็กผู้ชายวัย 5 ขวบ และพร้อมเอาใจช่วยในทุกก้าวทั้งดีและร้าย หรืออยากสัมผัสความอบอุ่นของมิตรภาพที่แม้เป็นเพียงภาพฝัน แต่ก็งดงามและงอกเงยกว่าความจริงใดๆ นี่คือ 1 ใน 5 หนังสือที่ดีต่อใจ และพร้อมสะกิดต่อมน้ำตา ไม่ว่าคุณจะอ่านในตอนอายุเท่าไรก็ตาม 
 
 
 
2
 
2. โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
ผู้เขียน : Kuroyanagi Tetsuko
 
วัยเยาว์อันงดงามและอ่อนโยน
เมื่อใครสักคนยอมรับแม้เราไม่เหมือนใคร
 
ข่าวการจากไปของอ. ผุสดี นาวาวิจิต ผู้แปล “โต๊ะโตะจัง” เมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้เราต้องรื้อชั้นหนังสือที่บ้านเพื่ออ่านชีวิตของเด็กหญิงโต๊ะโตะอีกครั้ง ก่อนจะพบว่า แม้หนังสือจะมีอายุไม่น้อย แต่เรื่องราวของโรงเรียนและวิธีการสอนของคุณครูในเรื่องยังงดงามเหนือกาลเวลา เหมือนเราได้เดินทางไปพร้อมๆ กับโต๊ะโตะจังและเพื่อนๆ โรงเรียนโทโมเอทุกวัน
 
ตอนเด็กๆ จำได้ว่าอ่านแล้วอยากไปนั่งเรียนกับโต๊ะโตะจัง แต่ในวันนี้อ่านแล้วกลับอยากให้การศึกษาของไทยมี “หัวใจที่อ่อนโยน” แบบนี้บ้าง ยิ่งได้รู้ว่าผู้เขียนเขียนจากเรื่องจริงในช่วงสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยิ่งรู้สึกเหม่อไปเลย เราไม่อยากให้โรงเรียนที่สร้างวัยเยาว์ให้เติบโตอย่างงดงามมีแค่ในนิยายหรือแค่ในต่างประเทศ ได้แต่หวังว่าวันหนึ่งเด็กไทยจะได้พบกับอะไรแบบนี้บ้าง
 
ปล. ในวันที่คุณอยากพักหัวใจ ลองหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แล้วมองโลกด้วยสายตาแห่งความสุขไปกับโต๊ะโตะจัง วันนั้นคงเป็นวันที่ดีไม่น้อยเลย 
 
 
 
3
 
3. ชาร์ล็อตต์ แมงมุมเพื่อนรัก
ผู้เขียน : E.B. White
 
เราต่างเกิดมามีชีวิตอยู่ในระยะเวลาอันสั้น
แต่ความเป็นเพื่อนยืนยาวกว่านั้น
 
เรื่องนี้อ่านทีไรก็รู้สึกเหมือนหัวใจโดนบีบทุกที ตอนเด็กๆ เคยสงสัยด้วยว่าทำไมวรรณกรรมเยาวชนถึงชอบเอาเรื่องเศร้าๆ มาให้เราอ่าน แต่ในตอนนี้เราเข้าใจแล้วว่า นี่แหละชีวิต มันมีแง่งามและความเศร้าปะปนกัน ไม่ได้มีความสุขตลอดกาลดังฝัน
 
สำหรับเรา หนังสือเล่มนี้อ่านง่ายและสะเทือนอารมณ์ที่สุด เรื่องราวของหมูกับแมงมุม เพื่อนรักต่างสายพันธุ์ในโรงนาชนบท เราเชื่อว่าต่อให้คุณเป็นคนที่จิตแข็งแค่ไหน ‘ฉากนั้น’ ก็จะทำให้คุณร้องไห้อย่างแน่นอน (นี่เขียนไปก็น้ำตาซึมเลยนะ 555555) 
 
 
 
4
 
4. ผจญภัยนอกแผนที่
ผู้เขียน : Norton Juster
 
ชีวิตที่แท้จริงคือการได้ลองผจญภัย
ในแบบที่ตนเองไม่คาดคิด
 
เราขอนิยามหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น ‘วรรณกรรมเยาวชนนอกกระแส’ เพราะไม่ได้ฮอตฮิตติดลมบนอย่างใครเขา แต่สำหรับเรา ขอยกให้เป็นเล่มที่รักมากๆ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราหลงใหลในเรื่องราวของภาษา
 
ผจญภัยนอกแผนที่ เป็นเรื่องราวของเด็กผู้ชายที่หลุดเข้าไปในแผนที่ของเล่น ซึ่งพาเขาเดินทางไปยังที่แปลกประหลาดต่างๆ อย่างดินแดนแห่งถ้อยคำ เหมืองตัวเลข เกาะด่วนสรุป และได้พบกับผู้คนสุดมหัศจรรย์ ทั้งปลัดกระทรวงใจความ เสนาบดีแห่งความหมาย ท่านเคานต์แห่งนัยยะ เอาเป็นว่าแค่อ่านชื่อก็ร้องว้าวแล้ว พอเจอกลวิธีการเล่าเรื่องและการเล่นกับภาษาอังเฉียบคม ก็ทำให้วรรณกรรมเรื่องนี้ติดลิสต์ท็อป 5 ในใจไปเลยล่ะ 
 
 
 
5 1
 
5. แม่มด
ผู้เขียน : Roald Dahl
 
ความชั่วร้ายมักซ่อนกายกลมกลืน
มีเพียงความกล้าหาญที่จะเปิดโปงความจริงได้

“แม่มด” เล่มนี้ มาก่อนแฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงเป็นเหมือนปฐมบทของโลกแม่มดไปโดยปริยาย แต่ถึงอย่างนั้น “แม่มด” เล่มนี้ก็ไม่ได้ขายความแฟนตาซีในสไตล์แฮร์รี่ ในทางตรงกันข้าม เราว่าเป็นการเล่าเรื่องแบบตลกร้าย และใส่จินตนาการสุดล้ำเพื่อนำพาเข้าสู่โลกในนิยายได้อย่างแนบเนียน
 
เรื่องราวเกี่ยวกับคุณยายผู้เชี่ยวชาญด้านแม่มด และเด็กชายที่ดันไปรู้ความลับของเหล่าแม่มด จนต้องถูกสาปให้เป็นหนู การพยายามเปิดโปงแก๊งแม่มดจึงเริ่มต้นขึ้น จริงๆ แล้ววรรณกรรมเรื่องนี้ไม่ได้ทิ้งข้อความแบบ “หนังสือเล่มนี้สอนให้รู้ว่า…” แถมยังแหวกขนบหนังสือเยาวชน ด้วยการพรรณนาความน่ากลัวชวนขนหัวลุกเสียด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังชอบ และรู้สึกว่าอ่านทีไรก็สนุกจนวางไม่ลงทุกที
 
 
Advertisements