ในปัจจุบันนี้ สภาวะเศรษฐกิจของทั่วทั้งโลกเรียกได้ว่ากำลังตกอยู่ในช่วงที่มีความผันผวนค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยเราเห็นราคาของสิ่งต่างๆ มีการปรับขึ้นลงอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วัตถุดิบทำอาหาร ค่าไฟฟ้า ไปจนถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง แถมยังส่งผลให้ตลาดการลงทุนมากมายในปัจจุบันเองก็มีความผันผวนสูงเช่นกัน ซึ่งด้วยความผันผวนทั้งหมดเหล่านี้ก็ได้สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยสำคัญที่เป็นทั้งตัวขับเคลื่อนและทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจ รวมถึงโลกของการเงินการลงทุนนั้น ก็คือนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED (Federal Reserve) นั่นเอง
เมื่อใดที่ FED ปรับอัตราดอกเบี้ยลง ราคาของหุ้นหรือคริปโทฯ ก็พากันขึ้นเขียวสดใส ในทางตรงข้ามเมื่อใดที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้น ราคาของหุ้นและคริปโทฯ ก็มักจะพากันปรับตัวลงไปตามๆ กัน เพราะว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยมีผลต่อต้นทุนทางการเงิน
กล่าวคือ หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินฝาก และดอกเบี้ยในหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาลก็จะถูกปรับขึ้นไปด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มขึ้นทำให้ความสนใจในการกู้ยืมลดลงเนื่องจากต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้กู้ก็ไม่อยากกู้เงินส่งผลต่อเนื่องทำให้การลงทุนชะลอตัวลง และดอกเบี้ยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้แรงจูงใจในการนำเงินไปลงทุนในที่ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง เงินฝากธนาคารและพันธบัตรรัฐบาล แทนการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอย่างหุ้นและคริปโทฯ ดังนั้นราคาหุ้นและคริปโทฯ จึงปรับตัวลงในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นนั่นเอง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของการปรับอัตราดอกเบี้ยโดย FED ว่าเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิดเลยทีเดียว แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า เบื้องหลังการตัดสินใจของ FED ในการปรับ-ลดอัตราดอกเบี้ยนั้น จะใช้ปัจจัยชี้วัดที่สำคัญทางเศรษฐกิจเข้ามาประกอบการตัดสินใจด้วยนั่นเอง
โดย 3 ปัจจัยชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจปรับขึ้น-ลดอัตราดอกเบี้ยของ FED ก็คือ
1. Non-Farm Payrolls (การว่างงานนอกภาคเกษตร)
อัตราการว่างงานนอกภาคเกษตรนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจเลยทีเดียว เนื่องด้วยแรงงานส่วนนี้มีสัดส่วนสูงถึง 80% ของ GDP สหรัฐฯ โดยจะมีการรายงานตัวเลข Non-Farm Payrolls นี้ออกมาทุกเดือน โดยตัวเลขที่ประกาศออกมาหากเป็นบวกหมายถึงการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และหากตัวเลขออกมาเป็นลบหมายถึงการจ้างงานที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนี้สามารถสะท้อนต่อเนื่องไปถึงการขยายหรือหดตัวของระบบเศรษฐกิจได้ กล่าวคือ การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงประชาชนจะมีเงินมาใช้จ่ายมากขึ้น เงินที่หมุนเวียนในระบบก็มีมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะขยายตัวขึ้นได้นั่นเอง แต่ในทางกลับกันหากมีคนว่างงานมากขึ้น ย่อมหมายถึงเงินในมือของประชาชนที่น้อยลง คนก็จะออกมาจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง ระบบเศรษฐกิจก็จะหดตัวลงนั่นเอง ดังนั้น FED จึงมักจะใช้ตัวเลขส่วนนี้เข้ามาใช้ในการประกอบการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงิน อย่าง QE หรือ QT และรวมไปถึงการเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ยด้วย
2. Inflation Rate (อัตราเงินเฟ้อ)
เชื่อว่าคนส่วนใหญ่คงคุ้นเคยกับอัตราเงินเฟ้อกันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยอัตราเงินเฟ้อนั้นจะประกาศออกมาในรูปแบบของเปอร์เซ็นต์ (%) ที่บ่งบอกว่าราคาสินค้าโดยเฉลี่ยสูงกว่าปีก่อนหน้ากี่เปอร์เซ็นต์ โดยดัชนีที่นิยมใช้เป็นตัวชี้วัดทางด้านเงินเฟ้อนั้น ได้แก่ CPI, PCE และ PPI ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทาง FED นำไปตัดสินว่าจะเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ย
เริ่มจาก ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ที่เป็นเครื่องมือทางสถิติที่ใช้วัดราคาของสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการจำนวนหนึ่ง ณ ช่วงเวลาหนึ่งเทียบกับปีฐาน ใช้เพื่อในการคาดการณ์แนวโน้มการบริโภคและภาวะเงินเฟ้อหรือเงินฝืด
โดย CPI จะมีการคำนวณทุกเดือนโดยสำนักงานสถิติแรงงาน (BLS) และบ่อยครั้งที่ CPI นั้นจะถูก FED นำไปใช้เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน โดยมีเป้าหมายการคงอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% หากเกินกว่านี้ FED อาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารของสหรัฐฯ ได้
นอกจากนี้ยังมีดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน หรือ Core CPI ที่ FED นิยมนำมาใช้พิจารณา โดยมีวิธีการเก็บข้อมูลและคำนวณเหมือนกับ CPI เพียงแต่จะไม่นำสินค้าในหมวดอาหารสดและพลังงานมาคิดอีกด้วย
ถัดมาดัชนีด้านราคาการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Price Expenditure: PCE) โดยดัชนี PCE จะมีความคล้ายคลึงกับ CPI ตรงที่เป็นการติดตามราคาสินค้าและบริการที่ถูกซื้อจากผู้บริโภค แต่แตกต่างกันตรงที่ PCE จะเก็บข้อมูลจากการสำรวจยอดค้าปลีกภาคธุรกิจ แต่ CPI จะเก็บข้อมูลจากการสำรวจผู้บริโภค ดังนั้น PCE จะมีการเก็บข้อมูลที่ครอบคลุมมากกว่า ทำให้บ่อยครั้ง FED มีการให้ความสำคัญกับค่า PCE มากกว่าเนื่องจากมีความครอบคลุมมากกว่านั่นเอง
และดัชนีที่นิยมใช้วัดอัตราเงินเฟ้อตัวสุดท้ายก็คือ ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงราคาทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงจุดสุดท้าย ครอบคลุมตั้งแต่ ราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ในขั้นสุดท้าย โดยตัวเลข PPI นั้นจะนิยมใช้นำมาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเนื่องจากตัวเลข PPI นั้นสามารถสะท้อนราคาที่เปลี่ยนแปลงไปได้รวดเร็วกว่า CPI
3. Consumer Confidence Index (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนี้ คือปัจจัยสำคัญที่จะมีการเก็บข้อมูลจากการทำผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจและด้านการบริโภค โดยจะนำผลสำรวจมาคำนวณเป็นดัชนีชี้วัด ตัวเลขดัชนีที่มากกว่า 50 จะหมายถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นและต่ำกว่า 50 ย่อมหมายถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ดังนั้นหากความเชื่อมั่นลดลง FED อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยชี้วัดทั้ง 3 ตัว ก็การคาดคะเนแนวโน้มของเศรษฐกิจ ที่อ้างอิงจากสภาพเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ที่สามารถใช้คาดการณ์และประกอบการตัดสินใจลงทุนได้ในระดับหนึ่งเพียงเท่านั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะการันตีอัตราการขึ้นหรือลดดอกเบี้ยของ FED แบบ 100% เสมอไป
โดยบางครั้ง FED อาจใช้ตัวเลขจากหลายดัชนีเข้ามาใช้ในการประกอบการตัดสินใจ ที่คนส่วนใหญ่นั้นไม่อาจคาดการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด สงคราม หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน รวมถึงยังมีอีกหลายปัจจัยที่ FED ใช้ประกอบการทำนโยบายทางการเงิน เช่น การเมือง สภาพตลาดหุ้น เป็นต้น ดังนั้นการปรับขึ้น-ลดอัตราดอกเบี้ยโดย FED นั้นก็อาจไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่บ่งชี้ทางเศรษฐกิจเสมอไป
ดังนั้นทุกคนควรที่จะหมั่นติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อย่างมีวิจารณญาณพยายามไม่ร้อนรนต่อข้อมูลข่าวสารมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาในหน้าจอของตัวเอง และด่วนตัดสินใจด้านการเงินโดยปราศจากคำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญ
Mission To The Moon x Bitkub
ขอบคุณข้อมูลจาก : Bitkub
#trend
#missiontothemoonxbitkub
#missiontothemoonpodcast