เมื่อการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันถูกเปิดกว้างกว่าสถาบันการศึกษา
Harvard Business Review ได้เขียนบทความ Does Higher Education Still Prepare People for Jobs? เพื่อศึกษาว่า ทักษะการเรียนรู้ในปัจจุบันสามารถตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานในยุคปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน
ผู้ประกอบการหลายรายให้ความเห็นตรงกันว่า หลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ครอบคลุมและตอบโจทย์การทำงานในยุคปัจจุบันมากนัก
รายงานของ The Economist ได้ทำการศึกษาถึงความคุ้มค่าของค่าใช้จ่ายและความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัย เพราะเป้าหมายการเรียนมหาวิทยาลัยคือ การนำความรู้มาต่อยอดเพื่อหารายได้
จากผลการรายงาน เมื่อทำการเปรียบเทียบเปอร์เซ็นต์รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการจบปริญญาของกลุ่มคนอายุ 25-34 ปี ในประเทศกลุ่มแอฟริกา มีปริมาณรายได้เพิ่มขึ้น 20%, ประเทศสแกนดินิเวียรายได้เพิ่มเพียง 9% และมีแนวโน้มเปอร์เซ็นต์รายได้ลดลงเรื่อยๆ ในประเทศที่มีความเจริญสูงขึ้น
ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษานั้นแปรผกผันกับความสามารถในการทำงาน
จากข้อมูลนี้ทำให้เห็นว่า การจบมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของการทำงาน แต่สิ่งที่สามารถวัดความรู้ ความสามารถการทำงานของคนได้คือ Higher Intelligence Score ที่บ่งบอกถึงการทักษะเรียนรู้และการใช้เหตุผล
แล้วคนแบบไหนที่นายจ้างมองหา ?
Michele Borba นักจิตวิทยาและนักเขียนได้กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่เราสูญเสียไปขณะการเรียนปริญญา 4 ปี คือ การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น
เมื่อถามถึงคุณสมบัติของพนักงานที่บริษัทชั้นนำระดับโลกอย่าง Google, Amazon, และ Microsoft ต้องการ ได้ข้อสรุปว่า ต้องการพนักงานที่มีนิสัยกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา และต้องเป็นคนที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เท่าทันโลก มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้ดี ความสามารถการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจลูกค้า และมีทักษะการสื่อสารที่ดี
ยังรวมไปถึงทักษะด้าน Soft Skill อย่างด้าน EQ, ความยืดหยุ่นในการทำงาน, ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก
มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวอย่างไรต่อไป?
จากข้อมูลสถิติ World economic forum 2020 ได้ออกมาบอกว่า เรากำลังอยู่ในสังคมรูปแบบที่สามารถเรียนรู้ได้จากทางออนไลน์หรือคอร์สเรียนระยะสั้น และความสำคัญของใบเซอร์ติฟิเคทที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง
ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยจะถูกปิด 3 ใน 4 แห่ง ซึ่งมีสาเหตุจากรูปแบบการเรียนที่เปลี่ยนไปรวมไปถึงอัตราการเกิดของเด็กมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยก็ยังจำเป็นต่อการเรียนแบบปฏิบัติอยู่ อย่างเช่น สาขาด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
มหาวิทยาลัยจึงควรปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้เหมาะสมและเข้ากับยุคดิจิทัลมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่เรียนแต่ขึ้นอยู่กับ “การเรียนรู้ของคน” ที่ต้องก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ
เหมือนที่ Jiddu Krishnamurti นักปราชญ์ได้กล่าวไว้ว่า
“There is no end to education. It is not that you read a book, pass an examination, and finish with education. The whole of life, from the moment you are born to the moment you die, is a process of learning.”
“การศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ใช่แค่เพียงอ่านหนังสือและสอบให้จบการศึกษา แต่ชีวิตตั้งแต่ที่คุณเกิดจนถึงวินาทีที่คุณตายทั้งหมดล้วนเป็นการเรียนรู้”