1 ปีมาแล้วที่เราทุกคนต้องอยู่กับการระบาดของ COVID-19 เช่นเดียวกันกับการ Work From Home หรือการทำงานที่บ้าน บางบริษัทอาจจะต้อง Work From Home อย่างถาวร บางบริษัทอาจจะมีการสลับวันให้ Work From Home ซึ่งการทำงานที่บ้านก็อาจจะทำให้หลายๆ คนคิดถึงบรรยากาศการพบปะกับผู้คน การพูดคุยกับเพื่อนที่ทำงาน การได้รู้จักพนักงานใหม่ๆ แน่นอนว่าในตอนแรกหลายๆ คนอาจจะไม่ได้เห็นความสำคัญของการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แต่เมื่อเราต้องปรับเปลี่ยนมานั่งทำงานอยู่ที่บ้านคนเดียว ก็ทำให้หวนนึกถึงการ Socialize ระหว่างเพื่อนๆ ที่ทำงาน
การมีปฏิสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการ (Informal Interactions) กับเพื่อนร่วมงานอาจจะรู้จักในคำว่า “ทุนทางสังคม” หรือ “Social Capital” มีความหมายในเชิงของประโยชน์ที่ได้จากความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงการที่เราแชร์บรรทัดฐานหรือคุณค่าร่วมกันในองค์กร ส่วนมากจะอยู่ในเรื่องของความเชื่อถือไว้วางใจ (Trust) เครือข่าย (Network) และ ความรู้สึกผูกพัน (Bonds) โดยปกติแล้วคุณจะพึ่งพาหรือได้ประโยชน์จากทุนทางสังคมนี้ก็ต่อเมื่อคุณกำลังเจอกับปัญหา แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนยื่นมือเข้ามาช่วย โดยจริงๆ เขาไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยก็ได้
ในอีกทางหนึ่งคุณก็สามารถที่จะช่วยคนอื่นในการสร้างทุนทางสังคม โดยการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการให้ความรู้ การสอนงานหรือการมีน้ำใจต่อกัน และเหตุผลที่คุณหันไปหาบางคนและเสนอความช่วยเหลือเหล่านี้ให้ก็มาจากการปฏิสัมพันธ์เล็กๆ น้อยๆ ที่คุณมีให้กันทุกวันในที่ทำงาน นอกจากนี้ความสัมพันธ์ประเภทนี้ยังช่วยผลักดันองค์กรโดยรวมอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการกระจายความรู้และข่าวสารภายในองค์กร การกระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ การลดอัตราการลาออกของพนักงาน และยังทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรนั้นดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ความสัมพันธ์ที่ถดถอยลงระหว่างพนักงานจากการ WFH
หลังจากที่เราหลายๆ คนได้ปรับมา Work From Home ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ในที่ทำงาน ทำให้ทาง Microsoft ได้ทำการศึกษาถึงการเปลี่ยนไปของความสัมพันธ์และการทำงานตั้งแต่ต้นปี 2020 ซึ่งหนึ่งในผลลัพธ์ที่พวกเขาค่อนข้างกังวลก็คือ ความสัมพันธ์ในเครือข่ายที่ถดถอยลง
จะเห็นได้ว่าในตอนเริ่ม Work From Home แรกๆ พนักงานยังมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนพนักงานที่สนิทกันอยู่แล้ว แต่ความสัมพันธ์กับคนที่ไม่สนิทด้วยจะยิ่งถดถอยหายไป แต่หลังจากผ่านไป 1 ปี แม้แต่ความสัมพันธ์กับเพื่อนพนักงานที่สนิทก็เริ่มห่างออกไปเช่นเดียวกัน
ความรู้สึกแปลกแยกที่ก่อตัวในหมู่พนักงานใหม่
นอกจากนี้จากการศึกษาก็ยังพบว่า พนักงานที่มีอายุน้อยหรือพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่จะรู้สึกแปลกแยก ซึ่งเหตุการณ์ในปีที่ผ่านมานั้นทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับพนักงานเหล่านี้ ในการหาพื้นที่สำหรับตัวเองในองค์กร เนื่องจากพวกเขาไม่ได้รับประสบการณ์การพูดคุย การมีปฏิสัมพันธ์ การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย หรือแม้แต่การได้รับการเทรนด์อย่างที่พวกเขาควรจะได้รับในปีก่อนๆ ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะมีส่วนร่วมในการทำงาน การสื่อสารและการเสนอความคิดเห็นระหว่างการประชุม หรือการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ กับพนักงานต่างวัย
จากเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้การมีความสัมพันธ์ในที่ทำงานที่แน่นแฟ้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก โดยจากการวิจัยของ Work Trend Index ได้ชี้ว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยในเรื่องของความมีประสิทธิภาพในการทำงานและเรื่องของไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ โดยพนักงานที่มีความสัมพันธ์ที่ดีจะรู้สึกว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่า และในส่วนของพนักงานที่รู้สึกแปลกแยกนั้นจะรู้สึกกระตือรือร้นน้อยลงในเรื่องต่างๆ ที่อาจจะส่งผลต่อการคิดหรือการทำงานที่ก่อเกิดไอเดียหรือนวัตกรรมใหม่ๆ
แน่นอนว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำสำเร็จในวันสองวัน มันเป็นสิ่งที่จะก่อขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ผ่านการสื่อสารและการสร้างความเชื่อใจ โดย Dennis Collins ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโสจาก West Unified Communications Services ได้กล่าวไว้ว่า “การใช้เวลาในการทำความรู้จักสมาชิกในทีมนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากในการพัฒนาการสื่อสารภายในทีมและการสร้างความไว้วางใจ”
“การพูดคุยในบริษัทมันไม่มีทางที่จะเป็นการพูดคุยเรื่องงานได้ตลอดเวลา บทสนทนาทั่วไประหว่างพนักงานบนโถงทางเดินในที่ทำงานก็มีคุณค่าเหมือนกัน”
แปลและเรียบเรียง: