โลกของการทำงาน ที่ไม่สามารถหลีกหนี “การถูกเมิน” ได้

1820
เราล้วนเคยได้ยินคำว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เพราะในแต่ละวันเราล้วนต้องติดต่อสื่อสารกับคนรอบข้าง เราไม่สามารถอยู่คนเดียวไปได้ตลอด เราไม่สามารถที่จะไม่สน ไม่แคร์คนรอบข้างได้
 
เช่นเดียวกับ “การถูกเมิน” ที่ต่อหน้าคนอื่นเราอาจแสร้งว่าสบายดีได้ แต่ในใจลึกๆ แล้ว ก็ไม่รู้ว่าควรจะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะการที่คุณไม่รู้ว่าอีกฝ่ายตั้งใจหรือแค่บังเอิญเมินคุณ
 
หรือหากเป็นในสำนักงาน ผู้คนใช้เวลาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง (1 ใน 3 ของวัน) กับสถานที่นั้น จึงไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่อยากจะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่ทำให้รู้สึกสบายใจ และหลีกเลี่ยงคนที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือหงุดหงิดใจ
 
บทความใน The Huffington Post กล่าวว่า การถูกเมินในที่ทำงานอาจสร้างความเสียหายให้กับบุคคลมากกว่าการถูกกลั่นแกล้งหรือบูลลี่เสียอีก ทำให้การทำความเข้าใจว่าทำไมคนอื่นถึงเมินคุณ จะช่วยให้คุณตอบสนองกลับไปได้อย่างเหมาะสม
 
จากบทความ 5 Reasons You May Be Getting Ignored At Work ที่เขียนโดย JT O’Donnell ได้อธิบาย 5 เหตุผลที่สามารถทำให้เราถูกเพื่อนร่วมงานเมินได้ ดังนี้
 
1. คุณพูดมากเกินไป
เป็นที่รู้กันดีว่า การผูกมิตรกับเพื่อนร่วมงานมีความสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ในที่ทำงาน แต่หากเพื่อนร่วมงานเคยพูดว่า คุณเป็นคนช่างพูด เป็นนักพูดตัวยง หรือหลังจากการมีปฏิสัมพันธ์บางอย่างแล้วเริ่มหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคุณ ก็อาจหมายความว่าคุณอยู่ในหมวดหมู่นี้ได้
 
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มสนทนากับพวกเขาให้เหลือบมองนาฬิกาและจดจำเวลาไว้ หากเรื่องที่อยากพูดไม่เกี่ยวข้องอะไรกับบทสนทนาครั้งนั้น ก็ไม่ควรให้เกินสองนาที หรือถ้าเป็นช่วงเวลาสำคัญ อย่างการประชุม คุณควรรู้ว่าไม่ใช่เวลาที่ควรพูดออกนอกประเด็น คติประจำใจง่ายๆ คือ ต้องกระชับ ไพเราะ และหมั่นยิ้มแย้ม
 
2. คุณแผ่รังสีแง่ลบอยู่ตลอด
การที่ชีวิตของคุณกำลังเผชิญกับเรื่องที่ไม่ดี เป็นไปได้ยากที่คุณจะไม่นำมันแพร่สู่สำนักงานและทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่สบายใจ คำถามคือ คุณแผ่รังสีแง่ลบในที่ทำงานมากเกินไปหรือไม่? เช่น บ่นมากกว่าชมเชย การแสดงออกทางสีหน้าที่ดูย่ำแย่บ่อยๆ หรือแม้แต่การถอนหายใจบ่อยๆ
 
ดังนั้น ลองหาสิ่งเตือนสติ เช่น การตั้งนาฬิกาแจ้งเตือนสั้นๆ เพื่อให้ตัวเองยิ้มและขอบคุณสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตอย่างน้อยหนึ่งอย่างดู โดยการฝึกแบบนี้สามารถช่วยให้คุณมีสติ และสร้างอารมณ์ในแง่บวกได้ทุกๆ วัน อีกทั้งยังช่วยให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกสบายใจมากขึ้นหากต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคุณ
 
3 คุณกำลังโอ้อวดเกินไป
สิ่งที่ตรงกันข้ามกับชีวิตที่ตกต่ำคือคุณรักชีวิตของคุณจนถึงจุดที่ต้องการบอกให้โลกรู้ การมองโลกในแง่ดีเป็นเรื่องควรทำ แต่เมื่อคุณอดที่จะแบ่งปันชีวิตที่ยอดเยี่ยม (เกินหน้าเกินตา) กับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ พวกเขาจะทำให้คุณหยุดด้วยวิธีการหลีกเลี่ยงการสนทนากับคุณ
 
หรือไม่ คุณเคยถูกเรียกว่า “อวดดี” ในที่ทำงาน มันอาจเป็นสาเหตุให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่อยากแม้แต่จะสบตากับคุณด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าคุณจะใช้โอกาสนี้ทำให้พวกเขารู้สึกด้อยค่า
 
ดังนั้น “ถามแค่ไหน ก็ลองตอบแค่นั้น” แทนที่จะเอาแต่เล่าเรื่องของคุณ ลองเน้นไปที่การถามเพื่อนร่วมงานกลับเกี่ยวกับชีวิตของพวกเขา ให้เขาหันมาแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง การที่คุณเริ่มแสดงความสนใจคู่สนทนาบ้าง จะช่วยให้พวกเขาเปิดกว้างการโต้ตอบกับคุณมากขึ้น
 
4. คุณไม่พูดเลย (และไม่มีการแสดงออกทางสีหน้าเลย)
การที่คุณไม่พูดหรือพูดน้อยมากๆ ทำให้ผู้ที่สนทนาด้วยรู้สึกอึดอัด ในที่สุดพวกเขาก็หยุดพยายามกับคุณ และหลีกเลี่ยงคุณในที่สุด
 
ดังนั้น ลองเริ่มพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในหัวข้อที่ไม่เกี่ยวกับงาน พยายามหางานอดิเรกทั่วไปหรือเรื่องที่คุณรู้สึกสบายใจที่จะพูดถึง โดยคุณอาจต้องกล้าที่จะเข้าหา และแสดงออกถึงการอยากที่จะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับพวกเขาก่อนบ้าง เมื่อเวลาผ่านไปคุณจะสามารถสนทนากันได้ลื่นไหลขึ้น แน่นอนว่ามันดีทั้งกับเรื่องความสัมพันธ์และเรื่องงานด้วย
 
5. คุณมักจะทำให้ตัวเองตกต่ำ
คุณมักชี้ข้อบกพร่องของตัวเองกับเพื่อนร่วมงานหรือไม่? คุณอาจคิดว่ามันทำให้ตัวเองดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับถูกมองเป็นการเรียกร้องความสนใจ ส่งผลให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกเบื่อหน่ายและเลือกที่จะถอยห่างเมื่อเห็นคุณ การขาดความมั่นใจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การพูดอะไรแย่ๆ เกี่ยวกับตัวเองในที่สาธารณะอยู่ตลอดมันก็ดูจะน่ารำคาญ
 
ดังนั้น ถ้าคุณไม่สามารถพูดอะไรดีๆ เกี่ยวกับตัวเองได้ก็อย่าพูดอะไรเลย หลายๆ เรื่องของคุณ ผู้คนก็ไม่ได้อยากรู้ คุณควรมุ่งเน้นไปที่งานหรือจุดแข็งของตัวเอง หากคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิ่งนั้นเลย การหันไปพัฒนาทักษะที่เน้นการสร้างความเชื่อมั่นก็น่าจะเป็นผลดีไม่ใช่น้อย เพราะเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ล้วนต้องการทำงานร่วมกับผู้คนที่เห็นคุณค่าของตนเองและไม่สงสัยในทุกความสามารถของตัวเอง
 
แล้วหาก “การถูกเมิน” เกิดจากความผิดปกติของผู้คนในสำนักงานล่ะ?
 
การที่วัฒนธรรมองค์หล่อหลอมพนักงานส่วนใหญ่ให้ตกอยู่ใน “ความกลัว” หรือ “ความวิตกกังวล” จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องแข่งขันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หรืออาจมีการแทงข้างหลังกันด้วย และหากคุณทำงานให้กับบริษัทประเภทนี้ เราขอให้คุณลองปรึกษาหัวหน้างานถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หรือไม่ก็เริ่มมองหางานใหม่โดยเร็ว หากเห็นว่าไม่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมอันเลวร้ายนี้ได้แน่ๆ
 
ดังนั้น จงตระหนักในการกระทำของตัวเองและแสวงหาสภาพแวดล้อมที่สร้างประสิทธิผลเชิงบวกให้กับตัวเอง จากนั้นก็มุ่งเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับทุกคน สร้างพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน แล้วคุณจะพบว่า ความสัมพันธ์ของคุณกับเพื่อนร่วมงานนั้นแข็งแกร่งแค่ไหน
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/2ZG5zsT
 
Advertisements