แนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นอย่างไรหลังใช้มาตรการล็อกดาวน์?

66
การระบาดของโควิด-19

หลังจากมีการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรงขึ้นในไทยอีกครั้ง ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากยอดผู้ติดเชื้อหลักสิบ ก้าวขึ้นมาเป็นหลักร้อย จนเข้าสู่หลักพัน…

ทางภาครัฐจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขที่เริ่มมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดเป็นมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยง ขอความร่วมมืองดออกจากเคหสถาน เพื่อหวังลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ตั้งแต่ยอดผู้ติดเชื้อยังอยู่ในหลักพัน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ทว่าผลลัพธ์หลังมีการประกาศใช้มาตรการนี้กลับไม่ค่อยเป็นไปตามที่คาดหวังเท่าไรนัก เพราะยอดผู้ติดเชื้อก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน และทะยานขึ้นสู่หลักหมื่นทันทีภายในอาทิตย์แรกหลังมีการประกาศล็อกดาวน์

ยอดผู้ติดเชื้อแตะ New High ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้ล่าสุดมีประกาศล็อกดาวน์ต่ออีกเป็นเวลา 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน

แต่ตกลงแล้วการล็อกดาวน์สามารถช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริงไหม?

วันนี้เราจึงได้นำเอาข้อมูลบทความ ‘แบบจำลองสถานการณ์เพื่อพิจารณาแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยระลอกที่สาม ภายหลังการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เดือนกรกฎาคม 2564’ จากผู้วิจัยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่าให้ฟังกันว่า

แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อหลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน? และควรปรับเปลี่ยนมาตรการอย่างไรเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด?

ล็อกดาวน์ไป แต่ยอดติดเชื้อก็ยังไม่ลด?

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน หลังมีการเริ่มประกาศใช้มาตรการการล็อกดาวน์รอบแรกในการแพร่ระบาดระลอกนี้ ตั้งแต่ในวันที่ 12 กรกฎาคม จนถึง 2 สิงหาคมที่ผ่านมา นับว่ายังไม่สามารถช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชนได้ตามที่คาดหวังไว้ 

สาเหตุหลักที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อยังดูไม่มีทีท่าลดลง แม้ประชาชนจะมีความถี่ในการเคลื่อนที่และพบเจอผู้อื่นน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังคงมีการติดเชื้อในครัวเรือน (Household Infection) อยู่ โดยเฉพาะกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า ที่มีการแพร่เชื้อต่อกันได้ง่ายและอาการสังเกตได้ยากคล้ายอาการไข้หวัดทั่วไป ทำให้พบการติดเชื้อแบบทั้งครอบครัวให้เห็นอยู่หลายเคสด้วยกัน

แม้ว่าการล็อกดาวน์ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้จะไม่เป็นผลไปตามที่คาดหวังเท่าไรนัก แถมจากสถิติยอดผู้ติดเชื้อก็มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน ไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลยแม้จะมีการล็อกดาวน์แล้วเช่นนี้ก็ตาม แต่ในการล็อกดาวน์ต่อไปอีกในเดือนสิงหาคมนี้ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ขึ้นอยู่กับมาตรการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เพราะว่าการล็อกดาวน์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นการขอความร่วมมือจากประชาชนในการลดการเคลื่อนที่ลงเท่านั้น แต่ยังเป็นการซื้อเวลาเพื่อให้ภาครัฐเร่งทำการตรวจให้กว้างขวาง เพื่อแยกโรคให้ได้เร็วขึ้น จึงหวังว่าจะได้เห็นการทำงานร่วมมือกันของทุกฝ่ายหลังจากนี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นในการล็อกดาวน์ครั้งนี้

และแน่นอนว่าวิธีลดการแพร่ระบาดนี้ได้ดีที่สุด คือ การกระจายวัคซีนให้ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง ถึงแม้ตอนนี้จะยังคงต้องรอการนำเข้าวัคซีนเข้ามาอยู่ ในระหว่างนั้น ผู้วิจัยได้แนะนำ 3 แนวทาง ‘การลด’ การแพร่เชื้อลงให้ได้มากที่สุด คือการ

1. ลด ‘ความถี่’ ในการสัมผัสเชื้อ ด้วยการงดการเดินทาง ลดการรวมตัวของผู้คน

2. ลด ‘โอกาส’ สัมผัสเชื้อ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ

3. ลด ‘ระยะเวลา’ แพร่เชื้อ ด้วยการลดระยะเวลาในการนำผู้ติดเชื้อเข้ากระบวนการแยกโรคและรักษาพยาบาล

แนวโน้มผู้ติดเชื้อใหม่ในอีก 30 วัน (2 สิงหาคม – 1 กันยายน 2564)

ตั้งแต่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มเข้าสู่หลักหมื่น ทำให้เราได้เห็นข่าวว่าเตียงไม่พอ หาเตียงไม่ได้ หรือบุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำงานอย่างหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน เพื่อบรรเทาสถานการณ์เหล่านี้  จะต้องทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังอยู่ภายในขีดความสามารถของระบบ TTI/NPIs (การตรวจเชิงรุก การติดตามผู้สัมผัส การแยกกัก) โดยการลดการแพร่เชื้อในชุมชนให้ได้อย่างน้อย 45% เมื่อเทียบกับก่อนล็อกดาวน์ ซึ่งจะทำให้มีแนวโน้มการควบคุมการระบาดให้ดีขึ้นในอนาคตต่อไปได้

จากโมเดลในภาพจะเห็นว่า หากต้องการลดการแพร่เชื้อให้อยู่ในระดับ ‘ความสามารถในการควบคุมโรค’ ได้ คือ ลดลง 45% นั้น จะต้องจัดการให้มีผู้ติดเชื้อใหม่ทั้งประเทศไม่เกิน 3,000 – 5,000 คนต่อวัน

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณา ‘ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโควิดระยะวิกฤต’ ไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะสำหรับผู้ป่วยสีแดงที่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจนั้น จำเป็นต้องใช้ห้องแยกผู้ป่วยวิกฤตความดันลบ (AIIR ICU) แต่ทั้งประเทศเราในตอนนี้นั้นมีเพียงพอแค่ 3,066 เตียง ในขณะที่ตอนนี้มีรายงานผู้ป่วยหนักทั้งที่ใส่และไม่ได้ใส่ท่อช่วยหายใจมากกว่า 4,700 รายแล้ว

จะปรับมาตรการต่อไปยังไงดี?

จากยอดผู้ติดเชื้อในช่วงล็อกดาวน์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่ามาตรการที่ผ่านมายังไม่สัมฤทธิผล ดังนั้นหากเลือกที่จะมีการประกาศล็อกดาวน์ต่อในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จึงควรมีการปรับมาตรการต่อไปให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ในเดือนที่ผ่านมา

การปรับมาตรการในระยะสั้น หรือในช่วงล็อกดาวน์อีก 30 วันหลังจากนี้ จึงควรที่จะ

Advertisements

1. เร่งเพิ่มมาตรการตรวจและแยกโรคของผู้ติดเชื้อในครัวเรือนมากยิ่งขึ้น เพราะการล็อกดาวน์นั้นจะมุ่งไปที่การลดการแพร่เชื้อที่สาธารณะ (Community Transmission) แต่จากที่ผ่านมาจะพบว่ามีการแพร่เชื้อในครัวเรือนเองเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะมีนโยบายเพิ่มเติมที่ทำให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าถึง Rapid Antigen Test ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมไปถึงการเข้าถึง RT-PCR Test หรือการตรวจด้วยการ Swab ให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ยิ่งเร่งตรวจผู้ติดเชื้อได้เร็วมากขึ้นเท่าไร ก็จะเป็นการช่วยลดการแพร่เชื้อให้น้อยลงเร็วขึ้นเท่านั้น

2. กำหนดขนาดพื้นที่ล็อกดาวน์ให้แคบลง เช่น ปรับการจำกัดพื้นที่ระดับจังหวัดเป็นระดับอำเภอหรือตำบล เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม เฝ้าระวัง และจำกัดพื้นที่ในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น

3. บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์ให้เข้มข้นขึ้น มีการบังคับใช้มาตรการอย่างจริงจัง แต่ต้องมีการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ในระยะเวลาจำกัด หากมีมาตรการที่หละหลวม แต่เพียงแค่เพิ่มระยะเวลาให้มากขึ้นออกไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ประชาชนมีแนวโน้มลดความร่วมมือลง จากมาตรการที่ผลบังคับใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป (Fatigue of Adherence)

และในอนาคตต่อไป เมื่อการแพร่ระบาดในระลอกนี้บรรเทาลง ถึงแม้ว่าเราอาจจะยังไม่สามารถกำจัดโควิดให้หมดไปทั้งหมดได้ แต่ก็จำเป็นต้องมีมาตรการรองรับเพื่อให้ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกับโควิดต่อไปในระยะยาวได้

สำหรับมาตรการในระยะยาวนั้น ควรที่จะ

1. เน้นพัฒนานโยบายเพื่อลดผลกระทบของการระบาด อย่างการเร่งฉีดวัคซีนที่ดีให้กับประชาชนทุกคน เพราะการได้รับการฉีดวัคซีนเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ เพื่อเป็นการลดภาระหน้าที่ให้กับบุคลากรทางแพทย์ และเพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง รวมทั้งควรที่จะเพิ่มมาตรการเยียวยา เช่น การช่วยเหลือทางการเงิน การฟื้นฟูธุรกิจ และผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสังคม

2. ปรับมาตรการเพื่อบริหารความเสี่ยงหากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าในชุมชน เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านละอองลอย จึงควรมีมาตรการรองรับในการตรวจหาและรับมือการแพร่เชื้อในระดับชุมชนและระดับครัวเรือนมากยิ่งขึ้น 

3. เพิ่มการตรวจคัดกรอง เพื่อให้สามารถตรวจและแยกผู้ติดเชื้อออกมาให้เร็วที่สุด เพื่อลดการแพร่กระจายต่อไป โดยเฉพาะหากมีกิจกรรมการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ควรมีการตรวจคัดกรองก่อนจัดทำกิจกรรมใดๆ ก่อนทุกครั้ง

4. เพิ่ม ICU Capacity สำหรับผู้ป่วยโควิด โดยแยกออกมาจากห้องฉุกเฉินทั่วไปสำหรับผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพื่อเตรียมการรับมือกับการแพร่ระบาดต่อไปในอนาคต

5. พัฒนาระบบ ‘สัญญาณเตือนล่วงหน้า’ เช่น การสื่อสารก่อนจะประกาศล็อกดาวน์ เพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ภาคธุรกิจ สามารถเตรียมตัวได้ทัน โดยมีการพัฒนาสัญญาณเตือนล่วงหน้าทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถกำหนดมาตรการโดยเฉพาะ เป็นไปตามเขตพื้นที่ตามความเหมาะสมได้

หลังจากการล็อกดาวน์อีก 30 วันหลังจากนี้ ก็หวังว่าทางภาครัฐจะสามารถปรับเปลี่ยนนโยบายและมาตรการให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดได้จริง เพราะตอนนี้ทุกฝ่ายก็ยังพร้อมให้ความร่วมมือ เพื่อที่จะผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน โดยที่หวังว่าจะไม่มีการเลื่อนระยะเวลาต่อไปอีกเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด แต่ผลลัพธ์ที่ได้รับกลับคืนมาไม่คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปแบบการล็อกดาวน์ในเดือนที่ผ่านมา



อ้างอิง:

https://bit.ly/2VagdJP

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#society

#covid19

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements