เอสโตเนีย ต้นแบบรัฐดิจิทัลของโลก

559
เอสโตเนีย หรือสาธารณรัฐเอสโตเนีย ประเทศขนาดเล็กในยุโรปเหนือที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ
 
ด้วยปัญหาความยากจนของพลเมืองและการเป็นประเทศที่ไร้ซึ่งทรัพยากรหรือความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ทำให้หลังจากประกาศเอกราชในปี 1991 เอสโตเนียพยายามปฏิรูปตัวเองให้กลายเป็น “รัฐดิจิทัล”
 
โดยในปี 1996 ได้ประกาศโครงการ Tiger’s Leap ที่มุ่งลงทุนในการพัฒนา และขยายเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับการศึกษาในประเทศ ที่หวังว่า นักเรียนชั้นประถมทุกคนจะรู้วิธีการเขียนและออกแบบโปรแกรมเบื้องต้น รวมไปถึงมีการเตรียมสร้างเมืองให้พร้อมเป็นสังคมดิจิทัลในเวลาเดียวกัน
 
ปี 1997 เอสโตเนีย เริ่มโปรเจกต์ E-Governance ผ่านเว็บไซต์ E-Estonia ที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงบริการของภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม.
 
ทำให้ปี 2000 เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นสิทธิ์พื้นฐานของมนุษยชน
 
และไม่ว่าจะเป็น การจ่ายภาษี การจดทะเบียนการค้า การเปิดบัญชีธนาคาร ประกันสุขภาพ การนัดพบหมอ รวมไปถึงการเซ็นรับรองเอกสาร ล้วนทำผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น ซึ่งคาดว่าทำให้ประหยัดเวลาทำงานหากใช้แรงงานคนไม่น้อยกว่า 800 ปี
 
ปี 2019 ที่ผ่านมา เอสโตเนีย ก็ไม่หยุดพัฒนา ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งออนไลน์ (I-VOTING) เป็นประเทศแรกของโลกอีกด้วย
 
ล่าสุดปี 2020 นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการพัฒนาชาติเท่านั้น หากแต่เมื่อเกิดวิกฤตโรคระบาดระดับโลก เอสโตเนีย ก็เลือกที่จะจัดการแข่งขัน Hackathon แมตซ์พิเศษขึ้น เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมรับมือวิกฤตโควิด-19
 
แม้ เอสโตเนีย จะถือเป็นแหล่งรวมโปรแกรมเมอร์ยอดฝีมือ จนสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจเป็น
 
ประเทศที่ร่ำรวยภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี โดยได้รับสมญานามว่าเป็น “ซิลิคอน แวลลีย์แห่งยุโรป”
แต่กิจกรรมนี้เป็นการระดมสมองทั้งคนในชาติและเปิดกว้างให้คนทั่วโลกมาร่วมคิดค้นนวัตกรรม นำเสนอไอเดีย ช่วยโลกให้พ้นภัยจากโรคระบาดครั้งนี้ไปด้วยกัน
 
และจากรายงานของสหประชาชาติ ที่ได้สำรวจและจัดอันดับรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2020 (E-Government Survey 2020) ทั้งหมด 193 ประเทศทั่วโลก พบว่า เอสโตเนีย ครองอันดับที่ 3 เป็นรองแค่ เกาหลีใต้ และ เดนมาร์ก
 
อย่างไรก็ตาม หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จ ก็คือ “ความโปร่งใส” ในตัวระบบเอง เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนของเขา ว่าข้อมูลทั้งหมดจะคงอยู่แบบมั่นคงในระบบดิจิทัล
 
การเข้าไปทำธุรกรรมต่างๆ จะมีการเก็บประวัติไว้ทั้งหมดเพื่อการตรวจสอบถึงความโปร่งใส ข้อมูลที่จัดเก็บก็สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันด้านกฎหมายและชั้นศาลได้
 
เนื่องจากเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถยืนยันตัวตนผู้ทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ทำให้การดำเนินธุรกรรมทั้งหมดของภาครัฐมีความน่าเชื่อถือเป็นที่มั่นใจของประชาชน
 
เช่น ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบประวัติการเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้ว่ามีเจ้าหน้าที่ภาครัฐคนใดเข้ามาดูข้อมูลของตนบ้าง
 
ซึ่งตัวเจ้าหน้าที่เองก็ต้องชี้แจงถึงเหตุผลในการเข้าดูข้อมูลนั้นให้ได้ด้วย เพราะหากประชาชนไม่พอใจก็สามารถร้องเรียนทางออนไลน์ได้ทันที
 
โดยประวัติการเข้าดูข้อมูลของประชาชนจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ จะถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งไม่ว่าใคร หรือมีสิทธิ์แค่ไหน ก็ไม่สามารถมาลบประวัตินั้นได้
 
การนำข้อมูลเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ ยังทำให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการคอร์รัปชันน้อยมากๆ
 
จึงชวนย้อนกลับมาดูบ้านเราว่า พร้อมหรือยังที่จะพัฒนาสู่รัฐดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ที่นอกจากจะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาคอร์รัปชันอีกด้วย
 
อ้างอิง : https://bit.ly/3nqBcR9
Advertisements