เหตุใดใครๆ ก็ชอบโอ้อวด เรียนรู้ศาสตร์แห่งการโอ้อวดผ่านนักคิดเศรษฐศาสตร์

1100
หากใครที่รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากวัฒนธรรมอวดหรู และมองว่าการโอ้อวดข้าวของเครื่องใช้ คือความไร้สาระ หรือเป็นเรื่องน่าตลก คุณอาจต้องมี ธอร์สไตน์ เวเบลน (Thorstein Veblen) นักเศรษฐศาสตร์สถาบัน ไว้เป็นไอดอลอีกคน
 
ธอร์สไตน์ เวเบลน นักคิดที่แหวกขนบคนหนึ่งที่อเมริกาเคยมี เรียกได้ว่าใกล้เคียงกับ คาร์ล มากซ์ นักเศรษฐศาสตร์ผู้วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมอย่างเผ็ดร้อน เพียงแต่อาจยังไม่สามารถดึงดูดกองทัพนักปฏิวัติเหมือนอย่างมากซ์ได้
 
เวเบลน เขาโตในยุคที่อเมริกากำลังพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งเริ่มขึ้นหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดในปี 1865 เห็นการเปลี่ยนผ่านของบริษัทยักษ์ใหญ่ เห็นความมั่งคั่งของบรรดาเจ้าของบริษัท เห็นความแล้งแค้นของแรงงาน เขาคิดและตั้งคำถามถึงการตัดสินใจของคน กับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตามขนบ (เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก) ที่มองมนุษย์เป็นผู้มีเหตุมีผล คือ จะชั่งน้ำหนักระหว่างต้นทุนกับผลตอบแทน และตัดสินใจเลือกทางที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเองอยู่เสมอ
 
ในหนังสือ The Theory of the Leisure Class ของเขา ได้แย้งวิธีคิดตามขนบ ว่าแท้จริงแล้วคนจะชั่งน้ำหนักความปรารถนาในด้านต่างๆ และเลือกซื้อสิ่งที่ตนเองชอบ ตามความปรารถนาที่มาจากประสบการณ์ในอดีตและวัฒนธรรมของแต่ละคน ซึ่งพวกเขามักไม่ประเมินด้วยหลักเหตุผลเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร
 
โดย เวเบลน ได้เล่าถึงวัฒนธรรมจากยุคบุพกาลที่ยังคงส่งต่อมาสู่ยุคเศรษฐกิจสมัยใหม่ นั่นก็คือ การบริโภคเพื่อโอ้อวด (Conspicuous Consumtion)
 
ในสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ผู้คนผลิตสินค้าส่วนเกินได้ ทำให้นักบวช นักรบ และกษัตริย์มีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องทำอะไรเลย พวกเขาจะได้รับการยอมรับจากสังคมด้วยการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ตนนั้นไม่ต้องทำงาน โดยอาศัยกิจกรรมเพื่อความสำราญและการซื้อของหรูหราเป็นเครื่องชี้วัด พวกเขาซื้อคฤหาสน์หรู เสื้อคลุมเฟอร์ หรือแม้แต่กิจกรรมล่าสัตว์เพียงเพื่อโอ้อวดเท่านั้น ซึ่ง เวเบลน เรียกคนกลุ่มนี้ว่า “ชนชั้นสบาย” (Leisure Class)
 
แม้ว่าการบริโภคของชนชั้นสบาย จะเป็นความสิ้นเปลือง และเบี่ยงเบนการผลิตสิ่งที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้จริงๆ แต่ก็ยังเกิดวัฒนธรรมเลียนแบบการบริโภคไม่จบสิ้น เพราะยุคสมัยของเวเบลน คนชนชั้นกลางก็ซื้อช้อนที่มีด้ามจับงาช้าง ที่ไม่ได้ช่วยให้ช้อนนั้นมีประโยชน์มากขึ้น หรือคนที่ยากจนที่สุดก็ยอมอดข้าว มากกว่าต้องขายเครื่องประดับชิ้นสุดท้ายบนร่างกาย เพียงเพราะต้องการเป็นที่ยอมรับในสังคม
 
อาจพูดได้ว่า คนรวยก็ซื้อของมากขึ้นเพื่อให้ตัวเองอยู่จุดสูงสุด คนชนชั้นกลางรวมไปถึงล่างก็ยิ่งทำงานหนักขึ้นเพื่อไล่ให้ทัน และสร้างการยอมรับจากคนรอบข้าง
 
ซึ่งไม่ต่างจากยุคสมัยนี้เท่าไร ลองนึกถึงเสื้อยืดตัวล่าสุดที่คุณซื้อสิ แม้คุณจะซื้อเพราะชอบ แต่ก็ยังคิดมิใช่หรือว่าเพื่อนๆ จะชอบเหมือนคุณไหม? คุณจะเลือกเสื้อตัวที่ชอบทั้งๆ ที่รู้ว่าเพื่อนจะหัวเราะใส่หรือไม่?
 
เวเบลน มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสัญชาตญาณของการล่า (Predation) ที่บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกี่ยวโยงกับความจำเป็นของมนุษย์มากนัก โดยสิ่งที่มนุษย์ควรมีมากกว่า คือ สัญชาตญาณของการทำงาน เพื่อสร้างผลผลิตที่ตอบสนองความจำเป็นของคนและสังคมส่วนใหญ่
 
อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุม การบริโภคเพื่อโอ้อวดก็เปรียบเหมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่อาจทำให้คุณมีโอกาส มีหน้ามีตา มีสังคมที่นำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ ขยับขยายฐานะของตนเองจากชนชั้นล่างขึ้นมาชนชั้นกลาง หรือทะยานสู่ชนชั้นสบายได้ไวขึ้น
 
แปลและเรียบเรียงจาก: หนังสือ A Little History of Economics ผู้เขียน Niall Kishtainy
 
Advertisements