เวลางานที่ “ยืดหยุ่น” เป็นเรื่องของ “การเติมพลัง” ไม่ใช่ “ความอดทน”

600
หลังจากทำงานหนักมาเป็นเวลานาน อย่างน้อยเราก็คาดหวังว่ามันจะเสร็จสิ้น แต่บ่อยครั้งในช่วงท้ายของวัน เรากลับพบว่าตัวเองเหนื่อยล้าและยังคงมีรายการงานที่ต้องทำอยู่… ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
 
จากงานการศึกษาพบว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตารางเวลาที่วุ่นวาย แต่มาจากความเข้าใจผิดในความหมายของ “ความยืดหยุ่น” และผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก “การทำงานหนัก” เกินไป
 
เรามักมีความเชื่อผิดๆ ว่า ยิ่งมีเวลาที่ยืดหยุ่น ก็จะสามารถทำงานได้มากขึ้น และหากอดทนต่องานที่เกินขีดจำกัดได้นานเท่าไร ก็จะยิ่งแข็งแกร่ง และประสบความสำเร็จเร็วขึ้นเท่านั้น
 
จนหลงลืมไปว่า การขาดช่วงเวลาพักผ่อนมากๆ ทำให้ความสามารถโดยรวมของเราสวนทางกับงานที่ยืดหยุ่นและการประสบความสำเร็จในแบบที่ควรจะเป็น
 
งานวิจัยพบว่า หากเราขาดการฟื้นฟูตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สิ่งที่มารบกวนการนอนหลับเพราะคิดถึงแต่เรื่องงาน หรือแรงกระตุ้นให้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กบ่อยๆ ในช่วงเวลาหลังเลิกงาน ล้วนมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพและความไม่ปลอดภัยในชีวิต อีกทั้งยังไปลดกิจวัตรที่สำคัญในส่วนอื่นๆ ของเราลงด้วย
 
ตามแนวคิดพื้นฐานทางชีววิทยา Homeostasis ได้อธิบายถึงความสามารถของสมองในการฟื้นฟูและรักษาความสมดุลอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นกุญแจไปสู่ความยืดหยุ่นอย่างแท้จริง โดยเริ่มจากทำงานอย่างเต็มที่ เมื่อรู้สึกถึงความเหนื่อยล้าให้หยุดพัก (พักจากงานจริงๆ) แล้วค่อยกลับมาทำใหม่
 
โดยนักประสาทวิทยาเชิงบวก Brent Furl จากมหาวิทยาลัย Texas A&M ได้บัญญัติศัพท์คำว่า “Homeostatic Value” เพื่ออธิบายถึงคุณค่าของการกระทำบางอย่างที่มีผลต่อการสร้างสมดุลของร่างกายและความเป็นอยู่ที่ดีของชีวิต เพราะหากร่างกายทำงานหนักเกินไป เราจะต้องใช้พลังกายและใจที่มากกว่าเดิมในการพยายามกลับเข้าสู่สมดุลนั้น
 
ซึ่งสอดคล้องกับ Jim Loehr และ Tony Schwartz ที่ได้เขียนไว้ว่า “หากคุณใช้เวลามากเกินไปในขอบเขตของการทำงาน คุณก็ต้องมีเวลามากขึ้นในขอบเขตของการฟื้นฟูตัวเองด้วย มิฉะนั้นคุณจะเสี่ยงต่อความเหนื่อยล้า การใช้พลังงานอย่างสูงในการเผาผลาญเพื่อเอาชนะระดับความเร้าอารมณ์ที่ต่ำ”
 
ภาพง่ายๆ คุณลองนึกถึงช่วงเวลาที่คุณต้องทำโปรเจกต์หามรุ่งหามค่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังจากเสร็จและส่งไปเป็นที่เรียบร้อย แม้จะกลับมานอนหลับพักผ่อน แต่เช้าวันรุ่งขึ้นคุณจะรู้สึกไม่อยากไปไหน อยากที่จะนอนเฉยๆ อยู่บนเตียง และแน่นอนว่าวันนั้นทั้งวันคุณแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย ถึงจะพยายามแล้วก็ตาม
 
คำถามที่ตามมา หากเลี่ยงงานที่กินเวลาชีวิตไม่ได้จริงๆ… เราจะฟื้นฟูร่างกายและสร้างความยืดหยุ่นได้อย่างไร?
 
คนมักคิดว่าถ้าหยุดทำงานจะทำให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้ตามธรรมชาติ และช่วยให้มีพลังงานกลับคืนมาในเช้าของการเริ่มต้นใหม่
 
แต่อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า แม้คุณจะได้นอนพักผ่อนอยู่บนเตียงเป็นเวลา 8 ชั่วโมง แต่ยังรู้สึกอ่อนเพลียได้ในเช้าวันถัดไป นั่นเป็นเพราะการพักผ่อนและการฟื้นตัวไม่ใช่สิ่งเดียวกัน หรือพูดง่ายๆ คือ “การหยุดไม่เท่ากับการฟื้นฟู”
 
ซึ่งหากคุณกำลังพยายามสร้างความยืดหยุ่นในการทำงาน คุณต้องมีระยะเวลาพักฟื้นทั้งภายในและภายนอกที่เพียงพอ
 
ตามที่เหล่านักวิจัย Zijlstra, Cropley และ Rydstedt ระบุในงานเขียนของพวกเขา (ปี 2014) ว่า การฟื้นฟูจากภายใน หมายถึง ช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนที่เกิดขึ้นภายในกรอบของวันทำงาน ซึ่งอาจเป็นการตั้งค่าการทำงานในรูปแบบของการหยุดพักตามกำหนดเวลาสั้นๆ หรือการเปลี่ยนความสนใจไปทำสิ่งอื่น ที่ออกห่างจากงานนั้นอย่างสิ้นเชิง
 
ส่วนการฟื้นฟูภายนอก หมายถึง การกระทำที่เกิดขึ้นนอกเวลางาน เช่น ช่วงเวลาว่างระหว่างวันทำงาน (พักกลางวัน) วันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดพักผ่อน
 
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า การสร้างความยืดหยุ่นด้วยการหยุดระหว่างวันอย่างมีกลยุทธ์หรือการใช้วันหยุดสุดสัปดาห์อย่างชาญฉลาด ล้วนเป็นวิธีที่สามารถเติมพลังกาย พลังใจ และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้เราได้มากกว่าการอดทนทำงานจนเกินขีดจำกัด เพื่อหวังแค่จะได้ตื่นสายหรือเพิ่มชั่วโมงการพักผ่อนในเช้าวันถัดไป
 
แปลและเรียบเรียงจาก: https://bit.ly/2NEI3JN
 
Advertisements