เมื่อโลกกำลังเข้าสู่ยุคทองของ Creator

854
ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะคุ้นหูและได้ยินคำว่า “Creator” กันมาบ้าง ซึ่งคำว่า Creator (ครีเอเตอร์) มีความหมายว่า “ผู้สร้างสรรค์” แต่ทำไมคำนี้จึงเกิดเป็นกระแสที่ได้ยินกันบ่อยมากขึ้น และทำไมหลายๆ คนจึงสนใจอยากเป็นครีเอเตอร์กันมากขึ้นในยุคนี้?
 
ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของโลกดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ไป สินค้าที่จับต้องได้ กลายมาเป็นสินค้าดิจิทัล อย่างเช่น หนังสือกลายเป็น e-book, CD กลายเป็นไฟล์เพลงในแอปพลิเคชัน ฯลฯ
 
ส่งผลให้โมเดลธุรกิจแบบ User Generated Content เติบโตขึ้น ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ขึ้นมาเองได้ และแพลตฟอร์มก็จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่คอนเทนต์ นำไปสู่การหารายได้ของผู้ผลิตผลงาน โดยแพลตฟอร์มที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น YouTube, Facebook หรือ TikTok ก็เป็นช่องทางสำคัญของเหล่าครีเอเตอร์อย่าง ยูทูเบอร์หรือบิวตี้บล็อกเกอร์ เป็นต้น
 
ทั้งนี้ นักวิจัยจาก Stanford ได้เขียนผลกระทบของดิจิทัลลงในบทความของ Harvard Business ไว้ว่า
 
“โลกดิจิทัลและโลกความจริงอยู่ภายใต้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่แตกต่างกัน โลกความจริงคือ รูปแบบที่ต้องการวางแผนควบคุมและลำดับขั้นตอน เป็นโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงาน รวมถึงเป็นโลกที่ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
 
ส่วนโลกดิจิทัล เป็นโลกที่ต้องอาศัยการสังเกต องค์กรต้องมีเป้าหมายและทีมงานต้องมีไหวพริบ มันคือ โลกแห่งจิตวิทยาความรู้และความเข้าใจในการปรับตัว
 
แต่ท้ายที่สุดโลกทั้งสองใบต้องอยู่ภายใต้จรรยาบรรณ และความสำเร็จจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่สามารถคาดเดาและจินตนาการได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในอนาคต”
 
ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้ยุคนี้เป็นยุคทองของครีเอเตอร์ มีดังต่อไปนี้
 
1. โลกดิจิทัลไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
ระบบการทำงานในดิจิทัลมีรูปแบบที่ช่วยให้ Creator สามารถถ่ายทอดสิ่งที่สร้างสรรค์ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Netflix, Apple, Google, Facebook และ Amazon ไปสู่ผู้รับได้โดยตรง เป็นการตลาดที่ให้ความรู้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง
 
2. ครีเอเตอร์เริ่มต้นได้ง่ายกว่าที่เคย
ในสมัยก่อนการจะสร้างสรรค์บางสิ่งบางอย่างขึ้นมา ขั้นตอนที่ยากนอกจากขั้นตอนการผลิตแล้ว คือ พื้นที่ให้ลูกค้ารับรู้ อย่างเช่น เราเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เราต้องไปติดต่อพูดคุยกับบรรณาธิการหนังสือ แต่ในปัจจุบันนี้เราสามารถพิมพ์บทความของเราลงบนโซเชียลได้เลย
 
รวมไปถึงเมื่อก่อนการจะผลิตรายการหนึ่งขึ้นมาเราจำเป็นต้องใช้งบมากมายไปกับการถ่ายทำและสถานที่ แต่ตอนนี้การผลิตรายการนั้นสามารถทำได้ทั้งงบประมาณที่น้อยและงบประมาณที่มาก เราจะเห็นได้ว่า มีรายการที่เชิญแขกรับเชิญมาพูดคุยบนรถ หรือคอนเทนต์ที่ถูกถ่ายจากที่บ้านก็มีจำนวนมากเช่นกัน
 
ซึ่งสิ่งสำคัญของการเป็นครีเอเตอร์ในยุคนี้ก็คือ การใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในงาน ไม่ใช่แค่งบประมาณที่ใช้
 
3. ครีเอเตอร์นำการวิเคราะห์เข้ามาช่วย
เมื่อเราเข้าสู่ยุคของดิจิทัลข้อดีข้อหนึ่งของการเป็นครีเอเตอร์คือ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากระบบของแพลตฟอร์มมาช่วยวิเคราะห์ผลงานของเราได้ และเรายังสามารถดูแนวทางผลงานที่ตอบโจทย์กับลูกค้าได้เพื่อใช้ในการปรับปรุงผลงานของตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ
 
คำถามหนึ่งที่คนส่วนใหญ่มักจะชอบถามเด็กๆ ว่าโตขึ้นไปอยากเป็นอะไร? คำตอบที่ได้เมื่อก่อนก็จะนักบินอวกาศหรือว่าหมอ แต่ตอนนี้เด็กส่วนใหญ่มักจะตอบว่าอยากเป็น “ยูทูเบอร์”
 
นอกจากนี้ข้อดีของครีเอเตอร์คือ ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกไล่ออกหรือสูญเสียรายได้จากการถูกเลิกจ้างงาน ยังมีอิสระทางเวลาและความคิดสร้างสรรค์และประกอบกับว่าเมื่อสร้างคอนเทนต์จนเริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่งเราสามารถสร้างรายได้ โดยมีการเปิดเผยรายได้ครีเอเตอร์อันดับต้นๆ ในประเทศไทยว่ามีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป
 
ความสำเร็จของครีเอเตอร์หลายคน ส่งผลให้ครีเอเตอร์กลายมาเป็นอาชีพที่หลายคนกำลังใฝ่ฝันในยุคนี้
 
 
Advertisements