เปลี่ยนความรู้สึกแง่ลบให้เป็นแรงจูงใจ

1026
อารมณ์หรือความรู้สึกแง่ลบเปรียบเสมือนเชื้อไฟที่สามารถลุกลามกลายเป็นกองเพลิงขนาดมหึมา พร้อมที่จะแผดเผาตนเอง และคนรอบข้างได้ตลอดเวลา
 
ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถควบคุมความรู้สึกนั้น แล้วแปรเปลี่ยนเป็นแรงจูงใจแง่บวกได้เช่นกัน
 
บทความจาก Harvard Business Review ชื่อ Turn Your Team’s Frustration into Motivation ของ Dane Jense ได้วางวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากความรู้สึกแง่ลบ มาสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอยากที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผ่าน 3 กระบวนการ
 
1. แยกแยะและเข้าใจความรู้สึกแง่ลบ
เป็นที่สังเกตว่า เรามักพยายามถอยห่างจากคนที่กำลังเผชิญสภาวะขุ่นมัวภายในจิตใจ ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ค่อยจะได้ผล โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องมีการติดต่อประสานงานกันเป็นทีมอยู่ตลอด
ดังนั้น ขั้นตอนแรกจึงควรแยกแยะและทำความเข้าใจความรู้สึกแง่ลบของพวกเขาให้ได้ ก่อนที่มันจะลุกลามจนส่งผลกระทบต่องาน ต่อทีม โดยอาจใช้วิธีตั้งชื่ออารมณ์จากความรู้สึกนั้น เช่น “ความผิดหวังจากการประชุม” แล้วลองเชิญชวนให้คนในทีมเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะเป็นวิธีช่วยลดแรงดันในตัวคนคนนั้นแล้ว ยังอาจเป็นกุญแจดอกสำคัญเพื่อผลักดันทีมให้ก้าวไปข้างหน้าได้อีกด้วย
เช่นเดียวกัน คุณสามารถพูดถึงความรู้สึกของตนได้ ว่ากำลังโกรธ เจ็บปวด เสียใจ จากเรื่องอะไร มากน้อยแค่ไหน การได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกที่มีอยู่ภายในออกมาให้ใครสักคนฟังและร่วมหาแนวทางในการแก้ไขก็จะสามารถช่วยคุณได้เช่นกัน
 
2. ให้คำแนะนำกับตัวเอง ไม่ใช่วิจารณ์ตัวเอง
เมื่อระบุอารมณ์จากการเปิดเผยความรู้สึกภายในได้แล้ว ต่อมาคือการโค้ชตัวเองไปในทิศทางบวก เช่น “ฉันมีจุดบอดอย่างชัดเจน และต้องการทำความเข้าใจสิ่งที่คนอื่นคิดเกี่ยวกับฉัน” การจุดประกายความสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง เพื่อกระตุ้นความคิดเห็นจะช่วยสร้างความคิดที่ดีให้กับตนและคนรอบข้างได้ โดยจะต้องไม่ใช่การวิจารณ์ตนเอง เพราะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกแย่ๆ ในภายหลัง
การโค้ชที่มีประสิทธิภาพจะสร้างการมีส่วนร่วมในการค้นหาคำตอบที่มีประสิทธิผลในแต่ละคำถามที่เราถามตนเอง เช่น “สิ่งเหล่านี้สำคัญกับเราแค่ไหน” หรือ “อารมณ์แบบนี้กำลังบอกอะไรเรา”
ถ้าเราโค้ชตัวเองไปในทิศทางบวก คำตอบที่ได้จะมาพร้อมกับสิ่งที่ต้องทำ เช่น “ฉันต้องทำงานให้หนักขึ้น คิดให้แตกต่าง และสนับสนุนตัวเองเพื่อจะไปให้ถึงจุดนั่น”
ในขณะเดียวกันเราสามารถขยายการโค้ชตัวเองไปสู่เพื่อนร่วมงานที่กำลังหดหู่ เศร้า ขวัญเสีย หรืออะไรก็ตามในทำนองเดียวกันได้ ผ่านการเปลี่ยนกรอบความรู้สึกเชิงลบให้มีความหมาย เช่น เราสามารถพูดว่า
“ฉันดูออกว่าสิ่งนี้สำคัญกับคุณมากแค่ไหน” “ฉันก็เคยรู้สึกเช่นนั้นมาก่อน” ต่อด้วยเรื่องเล่าของตน
 
การพยายามใส่ใจความรู้สึกเชิงลบของอีกฝ่าย หรืออาจมีการแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองให้กับเขา ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า เราสามารถช่วยกระตุ้นแรงจูงใจภายในที่มีประสิทธิภาพในคนคนนั้นได้ เพราะจากประสบการณ์การต่อสู้และพัฒนาตนเอง จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขามองหาโอกาสในช่วงเวลาวิกฤตได้เร็วขึ้น
 
3. นำพลังงานแง่ลบมาสร้างการกระทำแง่บวก
พลังงานที่อยู่ภายใต้อารมณ์เชิงลบ เป็นสิ่งที่นำไปสู่การกระทำที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือจุดที่เรียกว่า “ทางตัน” เราลองใช้ความรู้สึกเหล่านี้สร้างวิสัยทัศน์ของอนาคตที่ดีกว่าและสร้างความชัดเจนในทางปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะไปให้ถึง
โดยเริ่มจากการขอให้บุคคลนั้นจินตนาการว่า “คุณจะรู้สึกอย่างไร หากผ่านไป 90 วันแล้ว ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” คำตอบของหลายคน น่าจะตอบว่า “มันแย่มาก”
และต่อด้วย “คุณจะรู้สึกอย่างไร หากสามารถดำเนินการและก้าวผ่านความรู้สึกแย่ๆ เหล่านี้ได้” แน่นอนว่า “คงรู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก” หรือดีกว่านั้น คือ “รู้สึกว่าตนกำลังก้าวไปข้างหน้า”
 
การถามคำถามเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อต้องการให้แค่ตอบ แต่ต้องการให้คิด จากการเปรียบเทียบความรู้สึกนั้นในบริบทที่ต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลักดันตัวเองไปสู่การกระทำในแง่บวก
สุดท้าย แม้อารมณ์หรือความรู้สึกแง่ลบจะส่งผลกระทบกับเรามากแค่ไหน สิ่งสำคัญคือเราต้องหาวิธีจัดการเพื่อให้เรากลับมาเป็นปกติได้ไวที่สุด โดยไม่ให้กระทบต่อเรื่องส่วนตัว งาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และ 3 กระบวนการดังกล่าว ก็เป็นตัวช่วยที่ดีให้คุณนำไปปรับใช้กับชีวิตเพื่อพัฒนาตัวเอง
 
อ้างอิง: https://bit.ly/2JuylI6
Advertisements