เชื่อมต่อจุด

197
ในแวดวงของความคิดสร้างสรรค์ ถ้าพูดถึงคนที่มีฝีมือลำดับต้น ๆ ของประเทศต้องมีชื่อของ พี่ต่อ ธนญชัย ติดอยู่ด้วยอย่างแน่นอน งานโฆษณาของพี่ต่อที่เหมือนจะดูเรียบง่ายแต่จับใจคนสุด ๆ นั้น ทุกคนรู้ว่ามันไม่ได้มาด้วยความบังเอิญ
 
ยกตัวอย่างงานผลงานชิ้นหนึ่งที่พี่ต่อทำให้กับ BBQ Plaza ตอนช่วงวันแม่ที่ทำเอาหลายคนน้ำตาซึมสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับแบรนด์ได้อย่างมหาศาล พี่ต่อกำกับโฆษณาแทบจะเรียกได้ว่าผ่านแบบสอบถามแค่ชุดเดียว ทุกอย่างดูออกมาสมจริงและไม่ยัดเยียด เรียบง่ายแต่ทรงพลัง
 
เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา
จากการที่ผมได้ร่วมงานกับพี่ต่อมา ผมคิดว่าของพวกนี้มันไม่ได้มีมาตั้งแต่เกิดครับ การที่พี่ต่อทำงานออกมาได้จับใจคนดู เพราะพี่ต่อเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างมาก นี่คือเหตุผลที่มีคนเลียนแบบงานพี่ต่อมากมายแต่ไม่มีใครทำได้ “ถึง” สักคน ผมเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้พี่ต่อเข้าใจความเป็นมนุษย์อย่างมากนั้น เกิดจากนิสัยส่วนตัวอย่างนึงของพี่ต่อ คือ การเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ ในสายที่ตัวเองไม่ถนัด ทั้ง ๆ ที่มีรถพร้อมคนขับ แต่บางทีพี่ต่อชอบเดินมาทำงาน (ซึ่งไกลพอดู) เพื่อศึกษาวิถีชาวบ้านตามฟุตบาท คุยกับพ่อค้า แม่ค้า ถามไถ่เพื่อเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตของผู้คน พี่ต่อเรียนรู้การปลูกต้นไม้จากปราชญ์ชาวบ้าน โดยไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผิน แต่ไปรู้ลึกรู้จริง นอกจากนี้พี่ต่ออ่านหนังสือหลากหลายแนวมาก
 
ตอนนั้นพี่ต่อเคยอยากจะไปเรียนทำอาหาร แต่ไม่ใช่จากสถาบันสอนทำอาหารไฮโซที่ไหนนะครับ พี่ต่ออยากเรียนจากแม่บ้านที่ทำกับข้าวปกติ ๆ นี่แหละ เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ของคนเหล่านี้ต้องมีเรื่องเล่าเจ๋ง ๆ ซ่อนอยู่อย่างแน่นอน
 
ในตอนนั้นเป็นวันสุดท้ายที่เราตัดต่อหนังของศรีจันทร์พี่ต่อยังบอกผมเลยว่าว่าง ๆ มากินข้าว แล้วมาสอนพี่เรื่องการตลาดหน่อย ผมบอกพี่ต่อด้วยความตกใจว่า ผมมิบังอาจจะสอนพี่ได้หรอกครับ พี่เป็นถึงบุคคลระดับประเทศขนาดนี้ แต่พี่ต่อตอบมาได้น่าสนใจมากว่า “คนเราทุกคนมีเรื่องที่สอนคนอื่นได้เสมอแหละถ้าคนฟังอยากจะฟังน่ะนะ” มาคิดดูมันเป็นเรื่องที่จริงมากครับ
 
 
ความสามารถในหาจุดเชื่อมโยง
 
วิธีการคิดและวิธีการเรียนรู้ของพี่ต่อนั้นเหมือนกับ สตีฟ จอบส์ ไม่มีผิด
 
สตีฟบอกไว้เสมอในหลายรอบ แม้จะต่างกรรมต่างวาระกันแต่สรุปใจความได้ว่า ไอเดียใหม่ ๆ นะมันไม่ได้มีอะไร “ใหม่” 100% หรอก ไอเดียใหม่ ๆ นั้นเกิดจากการเอาของเก่ามารวมกันแล้วแปลความใหม่เท่านั้นแหละ แต่ความสามารถในการแปลความใหม่นั้นขึ้นอยู่กับความสามารถในการเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ หรือพูดง่าย ๆ ว่าไอเดียใหม่จะเกิดขึ้นจากคนที่เชื่อมโยงเรื่องหลาย ๆ เรื่องเข้าด้วยกันได้อย่างมีศาสตร์และศิลป์
 
ความสามารถในหาความเชื่อมโยงนี่แหละครับ ที่เป็นแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์ สตีฟ ชอบเรียกสิ่งนี้ว่า connecting the dots (การเชื่อมต่อจุด) ประสบการณ์ยิ่งเยอะ ยิ่งหลากหลายก็ยิ่งมี จุด (dots) ให้เชื่อมเยอะ
 
ปัญหาคือคนส่วนใหญ่มักรู้ลึกอยู่ในสิ่งที่ตัวเองทำแต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้รู้กว้าง ถ้ารู้ลึกแต่เพียงในสายงานแคบ ๆ ความหลากหลายจะไม่เกิด พูดง่าย ๆ ว่ามีจุด (dots) ไม่พอนั้นเอง เวลาคิดหาวิธีแก้ปัญหาทางออกที่ได้จึงน่าเบื่อและคาดการณ์ได้ การจะได้ทางออกที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับตลาด จึงเป็นไปได้ยาก
 
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ จึงไม่เพียงรู้ลึกในสิ่งที่ตัวเองทำ แต่ยังรู้กว้างด้วย และการจะสามารถรู้กว้างได้ก็คือ ต้องหาความรู้ในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องที่เราถนัด เรื่องที่อยู่นอกความสนใจปกติของเรา ทำตัวเป็นคงช่างสังเกต ช่างสงสัยตลอดเวลา หลายครั้งความรู้ในหลากหลายสาขาที่เราหามานั้น อาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์และออกดอกออกผลในเร็ววันนี้ แต่มันอาจจะมาในช่วงเวลาที่คาดไม่ถึงที่สุดก็ได้
 
เช่น การที่สตีฟเข้าเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphy) ที่วิทยาลัยรีด (Reed College) เขาไม่มีทางรู้เลยว่าความเข้าใจในงานศิลปะด้านตัวอักษรนั้น วันนึงจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับแอปเปิล ตอนที่สตีฟออกแบบเครื่องแมคอินทอช (Macintosh) ในอีก 10 ปีต่อมา
 
 
หาความรู้ตลอดเวลา แม้ไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไร
 
 
เราต้องเป็นคนที่หาความรู้ตลอดเวลา แม้ว่าบางทีเราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าจะได้ใช้มันไหม หรือจะได้ใช้เมื่อไร แต่ถ้าวันนึงเราได้ใช้ มันจะทำให้เราก้าวไปไกลกว่าคนอื่นมาก เพราะเรามีจุด (dots) ให้ใช้มากกว่าคนอื่นนั่นเองและบางทีการมีจุดเชื่อมโยงมากกว่าคนอื่นแค่จุดเดียวแต่เป็นจุดที่สำคัญ มันก็เป็นตัวตัดสินชี้เป็นชี้ตายได้เลย ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากเรื่องกระบวนการง่าย ๆ (แต่ทำยาก) แบบนี้นี่เอง และความคิดสร้างสรรค์แทบจะเป็นจุดเดียวในการชี้ขาดชัยชนะในธุรกิจทุกวันนี้เหมือนที่ เดฟ ทรอตต์ (Dave Trott) อดีตประธานของ เดอะ เกตส์ ลอนดอน (The Gates London) เคยกล่าวไว้ว่า
 
“ความคิดสร้างสรรค์อาจจะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอย่างถูกกฎหมาย และจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราสามารถทำได้เพื่อแข่งขัน” – เดฟ ทรอตต์
 
ผมคิดว่านี่คือความจริงที่สุดในยุคนี้ ยุคที่ธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เราเห็นเด็กไม่กี่คนพร้อมไอเดียเจ๋ง ๆ เข้ามา disrupt ทำให้ธุรกิจเก่า ๆ หัวทิ่มมานับไม่ถ้วนแล้วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาจากพลังของความคิดสร้างสรรค์ นอกจากผมจะพยายามเพิ่มจุดให้ชีวิตแล้ว เวลาผมเลือกพาร์ทเนอร์ที่จะมาทำงานด้วย หรือเลือกทีมงานในตำแหน่งที่สำคัญมาก ๆ เรื่องที่ผมสนใจมากเลยคือวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นเป็นอย่างไร เช่น
 
• พวกเขาชอบเดินทางท่องเที่ยวไหม ถ้าชอบ เขาชอบเที่ยวแบบไหน จองทริปเอง หรือไปกับทัวร์
• พวกเขาช่างสังเกตไหม เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวหรือเปล่าหรือเอาแต่ก้มหน้าเล่นมือถืออย่างเดียว
• พวกเขาเอาเวลาว่างทำงานอดิเรกอะไร
• พวกเขาทำความรู้จักคนใหม่มากและบ่อยแค่ไหน
• พวกเขาอ่านหนังสือบ้างไหม ถ้าอ่าน อ่านหนังสือแนวไหน และเยอะแค่ไหน หรือว่าง ๆ ก็ดูแต่ทีวี
• พวกเขาฟังเพลงบ้างไหม ถ้าฟัง ฟังแนวไหน
• สิ่งที่แปลกที่สุดที่พวกเขาเคยทำคืออะไร และครั้งสุดท้ายที่ทำคือเมื่อไร
• สิ่งที่ทำซ้ำมากที่สุดคืออะไรและทำไม
 
คำถามเหล่านี้สามารถหาคำตอบได้ภายในมื้ออาหารมื้อเดียว และผมมักไม่ผิดหวังเมื่อเลือกคนที่มีดีกรีของคำตอบที่เข้มข้นมาทำงานด้วย เพราะคนเหล่านี้มีจุดในสมองให้งัดเอาออกมาเชื่อมโยงได้เยอะ เมื่อต้องการหาคำตอบแบบที่ไม่ซ้ำซาก จำเจ และน่าเบื่อ
 
คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ จึงไม่ได้มีพลังพิเศษอะไรแต่อย่างใด แต่มันมาจากการฝึกฝนตัวเองให้ “เก็บของ” ไว้เยอะ ๆ ตลอดการเดินทางในเส้นทางของชีวิต เมื่อถึงเวลาใช้จะได้ปล่อยของได้เต็มที่ และถ้าคนมีของเยอะจริง คำตอบที่ได้จะ สด ใหม่ และเหนือความคาดการณ์เสมอ
 
 
Advertisements