“เขาต้องการให้เพื่อนรอบตัวยอมรับ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ยอมรับ”

260
ในโลกอินเตอร์เน็ตมีภาพหนึ่งที่กำลังเป็นไวรัลอยู่ ณ ขณะนี้ คือภาพของครูใหญ่กำลังใช้ปัตตาเลี่ยนตัดผมเด็กนักเรียนอยู่ แต่เขาไม่ได้ทำไปเพราะลงโทษ แต่ทำไปเพราะต้องการให้เด็กน้อยคนนี้มีความมั่นใจมากขึ้น
 
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นจากโรงเรียน Stonybrook รัฐอินดีแอนา สหรัฐอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้ครูใหญ่อย่าง Jason Smith ได้รับการติดต่อจากนักเรียนเกรด 8 (ประมาณ ม.2 บ้านเรา) ว่าเขาไม่ยอมถอดหมวกออกในชั้นเรียน ครูใหญ่จึงต้องออกมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
น้องที่ไม่ยอมถอดหมวกคนนี้มีชื่อว่า Anthony Moore ซึ่งน้องให้เหตุผลว่าที่ไม่ยอมถอดหมวก เพราะทรงผมของเขามันดูแย่เอามากๆ ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะมีนโยบายห้ามใส่หมวกในชั้นเรียนก็ตาม น้องเล่าว่าพ่อแม่พาไปตัดผมแต่ผลลัพธ์ที่ออกมา มันทำให้ตัวเขาไม่มีความมั่นใจ
 
ถึงแม้ว่ามันจะผิดกฎโรงเรียน แต่ Anthony ก็ยังยืนยันว่าไม่อยากถอดหมวกแล้วไปเจอกับเพื่อนๆ ครูใหญ่อย่าง Jason Smith เองก็ดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจ “เพราะวัยนี้ ความสำคัญของการยอมรับในสังคมเพื่อนวัยเดียวกันนั้นสำคัญมาก มากกว่าที่จะให้ผู้ใหญ่ยอมรับ”
 
“เขากลัวว่าจะถูกหัวเราะเยาะและเราค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีใครสังเกตเห็น แต่เขามองผ่านมุมมองของเขา” ครูใหญ่กล่าวเสริม
 
แทนที่ครูใหญ่จะลงโทษ แต่เขากลับทำสิ่งตรงกันข้าม เขาบอกกับเด็กน้อยว่าตัวเขามีประสบการณ์การตัดผมตอนอายุประมาณเท่าเธอ พร้อมกับโชว์รูปภาพสมัยนั้น และตอนที่เขากำลังตัดผมลูกชายตัวเองให้เด็กน้อยดู
 
ตอนแรกดูเหมือนหนุ่มน้อย Anthony จะไม่เห็นด้วย แต่มันก็อาจจะทำให้เขามั่นใจมากกว่าทรงนี้เลยยอมตกลงไป แต่ที่น่าสนใจคือทางครูใหญ่อย่าง Jason Smith ได้มีการโทรไปติดต่อขอความยินยอมจากผู้ปกครองก่อน ซึ่งผู้ปกครองก็ยินยอม เขาจึงรีบกลับบ้านไปเอาปัตตาเลี่ยน
 
ประเด็นนี้ค่อนข้างน่าสนใจในบ้านเรา เพราะถ้าจะกระทำการใดๆ กับตัวนักเรียน ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนจะมีอำนาจในการตัดสินใจเมื่ออยู่ที่โรงเรียน แต่ยังต้องแจ้งไปทางผู้ปกครองให้ทราบหรือขอความยินยอมก่อนจะกระทำการใดๆ เสมอ
 
ภาพที่กำลังแต่งผมนักเรียนของครู Smith กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียในสัปดาห์นี้ โดยหลายคนยกย่องว่า Smith ช่วยบรรเทาสถานการณ์แทนที่จะส่งนักเรียนกลับบ้านหรือหยุดพักจากโรงเรียน โดยปกติจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนทั่วไป
 
“สิ่งนี้อาจจะดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่เขาอยากให้ผู้สอนเข้าใจถึงความสำคัญของรูปลักษณ์และความมั่นใจของตนเองในวัยนี้” – ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกล่าว
 
“ทุกพฤติกรรม ลักษณะนิสัย การแสดงออกของเด็ก คือ การสื่อสารและเมื่อเห็นเด็กมีพฤติกรรมที่แปลกออกไป เราต้องถามตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กคนนี้ แทนที่จะมองว่าพวกเขามีปัญหา” – Jason Smith กล่าวปิดท้าย
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
 
 
Advertisements