อันตรายของการ “ผัดวันประกันพรุ่ง” มากเกินพอดี

1273
นอกเหนือจากงานประจำที่ทำทุกวันแล้ว บางครั้งเราอาจจะต้องทำงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น โทรศัพท์แจ้งกำหนดการประจำวันให้หัวหน้า หรือส่งอีเมลเวียนให้พนักงานในบริษัท งานยิบย่อยเหล่านี้เราสามารถทำให้เสร็จได้ภายในไม่กี่นาที แต่บางคนเลือกที่จะ “เดี๋ยวค่อยทำแล้วกัน” แล้วก็ลืมไปเสียสนิท หรือทำในนาทีสุดท้ายก่อนถึงกำหนดส่ง หลายคนทำบ่อยจนติดเป็นนิสัยที่ชอบ “ผัดวันประกันพรุ่ง”
 
การผัดวันประกันพรุ่งงานเล็กๆ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่
 
คนที่ผัดผ่อนงานจนติดเป็นนิสัยนั้นมักพบว่า มีระดับความเครียดที่สูง พักผ่อนไม่เป็นเวลา และความสามารถในการทำงานแย่ลง โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานที่อาศัยการตัดสินใจและคิดวิเคราะห์ ทั้งยังพบความเชื่อมโยงของนิสัยนี้กับโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล และสามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคนอื่นๆ แย่ลง เพราะเมื่อเราผัดวันประกันพรุ่ง ก็เท่ากับเราทำลายความเชื่อมั่นของคนอื่นที่มีต่อตัวเราด้วยเช่นกัน
 
การผัดผ่อนงานชิ้นใหญ่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะงานใหญ่ๆ นั้นใช้เวลา พลังงาน และความรับผิดชอบอย่างมหาศาลในการจัดการ ทว่าการผัดผ่อนงานชิ้นเล็กนั้นนำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่งในระดับที่แย่ยิ่งกว่า
 
‘Fuschia Sirois’ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ (University of Sheffield) ประเทศอังกฤษ อธิบายว่า ผู้คนไม่ได้ผัดผ่อนงานเพราะลืม ที่จริงแล้วพวกเขานั้นตั้งใจทำต่างหาก ซึ่งสาเหตุเกิดจาก งานที่ได้รับมอบหมายนั้นกระตุ้นความกลัว ความไม่มั่นใจ หรือคิดว่าตนเองนั้นไม่เก่งพอที่จะทำ
 
หลายคนมองว่า คนชอบผัดผ่อนงานนั้นมีปัญหาในเรื่องการบริหารเวลา แต่ Sirois กล่าวว่า ที่จริงแล้วมันคือเรื่องการจัดการอารมณ์มากกว่า
“การผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้แปลว่าคนที่ทำจะเป็นคนขี้เกียจเสมอไป แท้จริงแล้วคนเหล่านี้มักเป็นกังวลเกี่ยวกับเรื่องผัดผ่อนงานมากกว่าปกติเสียด้วยซ้ำ”
 
แล้วจะรับมือกับนิสัยผัดผ่อนงานได้อย่างไร
 
‘Timothy Pychyl’ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ในออตตาวา ประเทศแคนาดา และเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘Solving the Procrastination Puzzle’ บอกว่า การกระทำนั้นสร้างแรงจูงใจ ดังนั้น หากคุณตั้งใจทำงานนั้นทันทีโดยไม่เสียเวลาคิดว่า ทำไมฉันถึงต้องทำมัน คุณอาจพบว่าในระยะยาวนั้น พฤติกรรมการทำงานของคุณจะดีขึ้น
“หากรู้สึกว่าตัวคุณนั้นไม่อยากทำงานที่ได้รับมา ลองถามตัวเองว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะให้งานนี้มันเสร็จ” เขากล่าว “เป็นการหันเหความคิดไม่ให้จดจ่อกับความรู้สึกไม่ดี และหันมาโฟกัสกับงานที่ต้องทำแทน”
 
งานวิจัยชิ้นหนึ่งของ Pylchyl ที่ทำการศึกษาในนักศึกษามหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นว่า เมื่อเริ่มลงมือทำงานนั้น พวกเขารู้สึกเครียดน้อยลง และมองว่าความยากของงานนั้นลดลง
“มันสื่อให้เห็นว่า ภาวะอารมณ์นั้นส่งผลกระทบต่อความรู้สึกที่เรามองสิ่งต่างๆ” Pychyl อธิบาย
 
Pychyl เสริมอีกว่า เมื่อเรานึกถึงการทำงาน สมองจะสั่งให้เรามีทัศนคติแง่ลบต่องาน ฉะนั้น การลงมือทำงานทันทีนั้นจะช่วยลดความรู้สึกเชิงลบที่มีต่องาน และทำงานให้เสร็จได้โดยเร็ว อีกวิธีหนึ่งคือ การกำหนดช่วงเวลาที่จะทำงานชิ้นเล็กๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรู้สึกว่า งานเล็กเบียดเวลาทำงานใหญ่
 
ฝึกเห็นอกเห็นใจและเข้าใจตัวเราเอง
 
ทั้ง Sirois และ Pychyl กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรกดดันตนเองมากจนเกินไป เพราะการส่งงานล่าช้าในบางครั้งไม่ได้แปลว่าคุณเป็นคนชอบผัดวันประกันพรุ่ง
 
“ความล่าช้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” Pychyl กล่าว “บางครั้งผมเองก็หยุดทำงานที่มีความสำคัญน้อย และไปทำงานที่จำเป็นมากกว่า มันคือการจัดลำดับความสำคัญของงาน”
 
แต่ถ้าหากยังรู้สึกว่า ตัวเรานั้นยังชอบผัดวันประกันพรุ่ง การมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจตัวเองนั้นอาจช่วยให้เราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ งานวิจัยอีกชิ้นของ Pychyl แสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่สามารถให้อภัยตนเองได้จะลดโอกาสผัดผ่อนงานในอนาคต ขณะที่งานวิจัยของ Sirois อธิบายว่า การเห็นอกเห็นใจและเข้าใจตนเองสามารถลดความเครียดบางส่วนจากการทำงานล่าช้าได้
 
“เมื่อไหร่ที่เราหยุดโทษตัวเอง” Sirois กล่าว “เราจะสามารถแก้นิสัยแย่ๆ ได้ง่ายขึ้น”
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
 
 
Advertisements