อย่าประมาทกับชีวิต ว่าด้วยกฎ 300 : 29 : 1

353
ในโลกธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงจะขึ้นอยู่กับ 2 กรณีคือ บริษัทตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเอง กับอีกแบบคือ สถานการณ์บีบให้ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนครับว่าอย่างหลังเป็นการเปลี่ยนที่เจ็บปวดและรุนแรงกว่าอย่างแรก เพราะมันเกิดจากวิกฤต เช่น ล้มละลาย หรือถูกคู่แข่งแซงหน้าไปแล้ว ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างกันมาเพียบ (และจะเห็นอีกเพียบ)
 
ผมจะบอกว่าชีวิตคนเราก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน หลายคนได้เปลี่ยนตัวเองตอนที่สถานการณ์ยังไม่รุนแรง แต่ก็มีอีกหลายคนเปลี่ยนเพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องเปลี่ยน
 
ทำให้ผมนึกถึงเรื่อง “300 : 29 : 1”
 
แนวคิด 300 : 29 : 1 เป็นของ ‘ไฮน์ริช’ ที่เขาพบตัวเลขจากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า การเกิดอุบัติเหตุใหญ่หนึ่งครั้ง จะมีความประมาทที่ไม่มีอุบัติเหตุ หรือรอดจากอุบัติเหตุมาได้ 300 ครั้ง และมีอยู่ 29 ครั้งที่เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ และอีก 1 ครั้งคือเป็นอุบัติเหตุใหญ่ไปเลย ถ้าพูดอีกอย่างคือ การเกิดอุบัติเหตุใหญ่หนึ่งครั้ง เคยมีความประมาทเกิดขึ้นมาแล้วถึง 329 ครั้ง
 
คนเรามากมายก็ใช้ชีวิตแบบนี้เลยครับ หลายคนประมาททำสิ่งที่ไม่ถูก ไม่ควร หรือไม่เหมาะ โดยเคยมีคนอื่นหรือเหตุการณ์ย้ำเตือนเจ้าตัวให้เปลี่ยนมาแล้วหลายครั้ง บางคนโชคดี ยอมเปลี่ยนตั้งแต่คำเตือนแรกๆ ก็รอดตัวจากปัญหาหนักไปได้ แต่บางคนโชคร้าย ยังทู่ซี้ไม่ยอมเปลี่ยนสักที มารู้ตัวอีกทีก็เจ็บหนักไปเลย
 
ผมเคยอ่านเรื่องของ เบน โฮโรวิทซ์ นักธุรกิจและนักลงทุนด้านบริษัทไอทีที่มีชื่อเสียงในซิลิคอน วัลเลย์ เขาเล่าว่าสมัยที่เขาทำงานใหม่ๆ ตอนนั้นเขาได้ทำงานให้บริษัทไอทีแห่งหนึ่ง ความโชคร้ายคือหัวหน้าของเขาที่เป็นเจ้าของบริษัทนั้นเป็นคนบริหารงานไม่เป็น ทุกอย่างในบริษัทเลยพังเละเทะไปหมด และนั่นทำให้ตัวเบนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก สถานะทางการเงินของเขาย่ำแย่มาก จนไม่มีเงินพอจะซื้อแอร์ให้ภรรยาและลูกเล็กๆ ทั้งสามคนในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ ได้
 
มีอยู่วันหนึ่ง พ่อของเบนก็มาเยี่ยมเขากับครอบครัว เมื่อพ่อเห็นสถานการณ์ทุกอย่างในบ้าน พ่อก็พูดกับเบนว่า
 
“ลูกรู้ไหม อะไรคือของราคาถูก?”
 
เบนตอบว่าไม่รู้ พ่อเลยพูดกับเขาว่า “ดอกไม้ ดอกไม้คือของราคาถูก แล้วลูกรู้อีกไหมว่า อะไรคือของราคาแพง?” เบนบอกว่าไม่รู้เช่นกัน พ่อเลยเฉลยกับเขาว่า
 
“การหย่าร้างคือของราคาแพง”
 
สิ่งที่พ่อของเบนบอกคือการเตือนให้เบนรู้ว่า อะไรบางอย่างในชีวิต หากเราไม่ยอมเปลี่ยนหรือจ่ายเพื่อมันเลย สุดท้ายราคาปัญหาที่เราต้องจ่ายจะแพงจนเราต้องเสียใจ อย่างเช่น “การหย่าร้าง”
 
ซึ่งโชคดีมากครับว่าเบนเข้าใจสิ่งที่พ่อเตือน และเขาก็ลงมือเปลี่ยนแปลงด้วยการบอกลาบริษัทเก่าในทันที และรีบหางานใหม่ที่พอให้เขาและครอบครัวไม่ลำบากเหมือนแต่ก่อน ซึ่งกลายเป็นว่าหลังจากนั้นชีวิตเขาก็เข้าที่เข้าทางมาเรื่อยๆ จนทำให้เขาได้มีโอกาสรู้จักกับพาร์ทเนอร์ที่ทำให้เขาก้าวมาสู่ความสำเร็จทุกวันนี้
 
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีแบบเบนนะครับ เพราะมีคนที่เมินเฉยต่อการแจ้งเตือน จนสุดท้ายชีวิตก็เอาคืนอย่างรุนแรง
 
อย่างเรื่องราวของ อาเรียนนา ฮัฟฟิงตัน ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังของโลก “ฮัฟฟิงตันโพสท์” มีอยู่วันหนึ่งในปี 2007 อยู่ดีๆ อาเรียนนาก็ล้มลงไปกับพื้นและจมอยู่บนกองเลือดตัวเอง ซึ่งเกิดจากกระดูกแก้มที่แตกตอนกระแทกพื้น เหตุผลที่เธอฟุบสลบลงไปอย่างนั้นก็เป็นเพราะเธออ่อนเพลียมากๆ ครับ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอนอนเพียงวันละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้น และใช้เวลากว่า 18 ชั่วโมง ไปกับการทำงานเพื่อปลุกปั้นฮัฟฟิงตันโพสท์
 
แต่เหตุการณ์ที่เธอถูกหามส่งเข้าโรงพยาบาล ก็เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้อาเรียนนาเปลี่ยนตัวเองใหม่ ซึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอโชคดีมากที่เธอไม่ตาย โดยหลังจากเหตุการณ์นั้นเธอก็สัญญากับตัวเองว่า เธอจะไม่ประมาทหรือปล่อยตัวเองให้อยู่ในสถานการณ์เฉียดตายแบบนี้อีกแล้ว เธอเลยกลายเป็นคนที่หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพและให้ความสำคัญเรื่องการพักผ่อนมากๆ
 
ซึ่งต้องบอกเลยนะครับว่า เคสของอาเรียนนาถือว่าโชคดี
 
เพราะบางคนก็ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว
 
เช่นเรื่องราวของช่างตัดผมคนนี้ หลายปีก่อนผมได้ยินเรื่องช่างตัดผมดาวรุ่งคนหนึ่ง เธอคนนี้เป็นคนมีฝีมือด้านการทำผมจนคิวนัดลูกค้าแน่นเอี้ยดตลอดเวลา และด้วยความที่เธออยากสร้างเนื้อสร้างตัวได้เร็วๆ เธอก็เลยโหมรับงานลูกค้าตลอดทั้งวันและแทบทุกวัน จนไม่มีเวลาแม้แต่จะกินข้าวหรือนั่งพัก ซึ่งเธอทำแบบประจำหลายปีเลยครับ จนมาวันหนึ่งเธอถูกพาส่งเข้าโรงพยาบาล จากนั้นอีกสองวันเธอก็เสียชีวิตลง ในวัยที่ยังไม่ถึงสี่สิบและต้องจากลูกสาวเล็กๆ หนึ่งคนไป
 
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องสุดเศร้าเรื่องหนึ่ง แต่ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้ใครหลายคนได้กลับมาคิดทบทวนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของตัวเอง ซึ่งผมเชื่อว่า ก่อนหน้าที่ช่างตัดผมคนนี้จะเสียชีวิต คงมีคนรอบตัวเตือนเธอเรื่องหยุดทำงานหนักบ้างแล้ว หรือร่างกายเธออาจเคยแสดงอาการผิดปกติอะไรบางอย่างให้เห็น แต่เพราะความที่ไม่หยุด สุดท้ายชีวิตก็หยุดเธอเอง ซึ่งนี่เป็นเคสที่โชคร้ายที่สุดครับ
 
สุดท้าย เหตุผลที่ผมเล่าเรื่องทั้งหมดนี้ ก็เพราะอยากชวนคิดเรื่องอันตรายของความประมาทครับ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทำงานหนัก หรือทำงานผิดที่ผิดทางเท่านั้น แต่ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ที่คุณรู้แก่ใจว่ามันไม่ถูก ไม่ควร อันตราย หรือเกินพอดี ผมคิดว่าแง่คิดนี้สามารถนำปรับใช้ได้
 
นั่นคือ คุณจะยอมเปลี่ยนตัวเองในระยะที่เท่าไร 300, 29 หรือ 1
 
แต่ถึงอย่างไร ก็อย่าลืมนะครับว่ายิ่งปล่อยไว้นาน ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มขึ้นเสมอ จากเรื่องนี้ ผมเลยคิดครับว่า “คนที่ประมาทแล้วรอดตัวได้เรื่อยๆ เป็นคนที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะเขาไม่มีทางได้รู้ตัวเลยว่า ทุกครั้งที่เขารอดตัวไปได้ เขากำลังเข้าใกล้วิกฤติที่แสนเจ็บปวดอยู่”
 
 
Advertisements