หรือนี่จะเป็นเวลาที่ใช่สำหรับ ReCommerce? ในวันที่ยุคสมัยและผู้คนเอื้อต่อตลาดมือสอง

308
หากพูดถึง eCommerce เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพูดถึง ReCommerce หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักคำนี้ หรืออาจจะยังไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร
 
ReCommerce นั้นย่อมาจาก Resale Commerce หรือ Reverse Commerce หากพูดกันง่ายๆ มันก็คือ ‘การขายสินค้ามือสอง’ โดยสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในตลาดนี้คือสินค้าแฟชัน อย่างเสื้อผ้า รองเท้า และกระเป๋า ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะคุ้นเคยกับตลาดนี้อยู่แล้ว โดยในหลายปีที่ผ่านมาตลาดมือสองมีอัตราการเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ก็เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมในยุค COVID-19 นี้ ReCommerce ถึงเป็นที่จับตามองมากขึ้น
 
การเปลี่ยนผ่านของ Generation: จาก Millenials สู่ Gen Z
 
จากการวิจัยของ EY Consulting ในหัวข้อ ‘The Next Big Disruptor: Gen Z’ ได้มีการพูดถึงข้อแตกต่างระหว่างคน Gen Z และคนรุ่น Millenial ไว้ว่า คน Gen Z จะให้ความสำคัญกับบทบาทของตัวเองต่อโลกและเป็นความรับผิดชอบของพวกเขาในการช่วยพัฒนาให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นในฐานะที่ตัวเองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก
 
ในช่วงหลายปีให้หลังมานี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงได้เห็นการชุมนุมและการเรียกร้องของเด็กรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมกันในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจแฟชันที่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด คน Gen Z เริ่มที่จะตระหนักถึงผลเสียจากอุตสาหกรรม Fast Fashion เรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) และเรื่องของสิทธิมนุษยชน (Human Rights)
 
จากการหาโซลูชันที่จะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าหลายๆ คนก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วอาจจะมองว่าการเลิกซื้อสินค้าแบรนด์ Fast Fashion นั้นคงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวนของแบรนด์ Fast Fashion นั้นมีค่อนข้างมาก ทำให้การหลีกเลี่ยงนั้นเป็นไปได้ยาก รวมถึงในเรื่องข้อจำกัดทางด้านรายได้ ทำให้หลายๆ คนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพดีที่มีราคาสูงกว่านี้
 
ดังนั้น โซลูชันที่จะช่วยไม่ให้เกิดขยะจำนวนมหาศาลจากการใส่แล้วทิ้งคือการใช้สินค้าที่ซื้อมาให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด อาจจะเป็นการใส่ให้บ่อย หรือจะเป็นการขายหรือซื้อสินค้ามือสอง เพื่อยืดการใช้งานของสินค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
 
การก้าวสู่ยุคดิจิทัล เร่งการเติบโตตลาด ReCommerce
 
เราอาจจะเรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นช่วงเวลาของการตระหนักรู้บวกกับความพร้อมของดิจิทัลแพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้ ReCommerce นั้นสามารถที่จะขยับขยายและเข้าถึงได้มากกว่าแต่ก่อน ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจาก COVID-19 อย่างถาวรทำให้ผู้คนนั้นสามารถเข้าถึงสินค้ามือสองได้ง่ายมากขึ้นผ่านโลกออนไลน์ ไม่ใช่แค่คน Gen Z เท่านั้น แต่คนรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
 
การซื้อขายสินค้ามือสองสามารถทำได้อย่างสะดวกสบาย ผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่างๆ เช่น Lazada, Shopee หรือ Hangles รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook และ Instagram
 
การเข้าสู่ตลาด ReCommerce ของแบรนด์ใหญ่
 
ยิ่งไปกว่านี้ เราอาจจะไม่คาดคิดว่าจะมีแบรนด์หรูอย่าง Gucci ลงมาเป็นหนึ่งผู้เล่นในตลาด Recommerce ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา โดยมีการร่วมมือกับเว็บไซต์ The RealReal นอกจาก Gucci แล้วยังมีแบรนด์อย่าง Levi’s ที่มีโครงการ Levi’s Secondhand เป็นของตัวเอง โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้านำเสื้อผ้ามือสองมาขายให้กับทางแบรนด์ เพื่อแลกกับบัตรของขวัญสำหรับการซื้อสินค้าในอนาคต และยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถซื้อสินค้ามือสองกับทางแบรนด์ได้โดยตรงผ่านทางเว็บไซต์อีกด้วย
 
อย่างที่พูดไปในตอนต้นแล้วว่า ReCommerce นั้นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น และตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ได้เห็นอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี ในปีนี้และปีต่อๆ ไป เราอาจได้เห็นการก้าวกระโดดของตลาด ReCommerce จากปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านของยุคสู่ Gen Z การตระหนักรู้ที่เพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ การเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทั่วถึง และดิจิทัลแพลตฟอร์มที่พร้อมมากกว่าเดิม รวมถึงผู้เล่นรายใหญ่ที่เริ่มกระโดดเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดนี้มากขึ้น ก็สามารถดึงผู้ซื้อกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในตลาดมือสองมากยิ่งขึ้นด้วย
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
 
 
Advertisements