ทำไมไม่ควรเชื่อ “ความประทับใจแรกพบ”

2705

“Don’t judge a book by its cover”
อย่าตัดสินหนังสือเพียงแค่คุณเห็นหน้าปก


สำนวนชวนคิดนี้ถูกเปรียบเปรยกับพฤติกรรมการด่วนตัดสินใจของมนุษย์ เพียงเพราะเห็นแค่ “ภาพลักษณ์ภายนอก”

และนี่อาจเป็นหลุมพรางทางความคิดที่มนุษย์ยังคงถูกลวงให้ติดกับดักอยู่เสมอ สภาวะเหล่านี้สามารถเรียกในเชิงทฤษฎีได้ว่า “Halo Effect”

Halo Effect คือ การที่เราตัดสินคน หรือสิ่งของจากลักษณะใดลักษณะหนึ่งเพียงด้านเดียว แล้วเหมารวมว่า คนหรือสิ่งของนั้นมีคุณสมบัติทั้งหมดเหมือนภาพลักษณ์ที่แสดงออกมา

ในทุกๆ วันเราต่างถูกหลอกลวงให้เชื่อความประทับใจแรกเห็นอย่างง่ายดาย โดยคนที่หลอกลวงเรานั้นไม่ใช่ใครอื่นไกล แต่เป็น “ตัวเรา” นั่นแหละ…

เวลาที่เห็นคนแต่งตัวดี เรามักจะคิดไปว่าเขาต้องเป็นคนมีฐานะ มีการศึกษาดี หรือมีชาติตระกูลที่สูงศักดิ์ นั่นเป็นเพราะ Halo Effect ทำให้เกิด “อคติหรือความลำเอียง (Bias)” และทำให้เราใช้เหตุผลในการตัดสินน้อยลง ไม่วิเคราะห์ถึงรายละเอียดมากพอ แต่ใช้เหมารวมเอาเองว่ามันจะต้องเป็นอย่างที่ตาเห็นแน่นอน

เราถูกโน้มน้าวให้ตัดสินว่าคนนั้นเป็นคนฉลาด เพียงเพราะเขาใส่แว่นเหมือนเด็กเนิร์ด ถูกโน้มน้าวว่าของชิ้นนี้ดี เพียงเพราะมันมีป้ายแบรนด์ดังติดอยู่ ทั้งที่ความจริงแล้วมันอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย

ตลอดเวลาที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ Halo Effect ทำงานอย่างหนัก ไม่เคยหยุดพัก และสร้างความเจ็บปวดมาอย่างยาวนานให้กับมนุษยชาติ เพราะ Halo Effect ทำให้คนไม่พิจารณาคุณค่าที่แท้จริงของมนุษย์ แต่ตัดสินคุณสมบัติทั้งหมดตั้งแต่แรกเห็น


ในวงการธุรกิจ Halo Effect ก็ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน


Halo Effect กลายมาเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่นักการตลาดมากมายนำมาเพิ่มยอดขายให้กับสินค้า และหนึ่งในนั้น คือ แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ตระกูล Apple ที่ผลิตสินค้าชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad หรือ AirPods

Apple ใช้ “Halo effect” มาทำการตลาด เพื่อสร้าง Brand Loyalty ในหมู่ผู้คน จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่ Apple เปิดตัวสินค้าใหม่ จะเกิดปรากฏการณ์ต่อคิวยาวหน้า Shop ตั้งแต่ก่อนถึงเวลาห้างเปิดเสียอีก

คุณภาพสินค้าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แบรนด์ดังนี้เติบโต แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การสร้าง Halo Effect เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ Apple สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอื่นในตลาดได้

ตั้งแต่แรก Apple สร้าง Halo Effect ไว้แล้วว่า สินค้าของตัวเองเป็นของดี หรูหรา ทำให้สินค้าของ Apple เป็นที่หมายปองของคนมากมาย และไม่เคยหลุดจากผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของคนรักสมาร์ทโฟนได้เลย

ตรงข้ามกับเทวดา ก็ต้องมีปีศาจ มารู้จัก “Horns Effect” หรือ ศัตรูคู่ตรงข้ามของ Halo effect

หาก Halo effect คือ การเหมารวมว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้เด่น Horns Effect ก็คือ อคติที่เกิดจากการยึดเอาข้อมูลด้านลบที่เห็น ไปเหมารวมเลยว่าคนนี้ไม่ดี สินค้านี้ไม่เหมาะสม ซึ่งการมีอคติในแง่ลบนี้ก็ส่งผลเสียไม่แพ้การมีอคติในแง่ดีเลย เพราะอาจทำให้เราพลาดที่จะรู้จัก หรือศึกษาใครสักคนให้ดีเสียก่อน

เหมือนอย่างที่บางคนชอบพูดว่า “ตอนแรกเราไม่ชอบคนนี้เลย แต่ตอนนี้มาสนิทกันเฉย” นั่นเป็นเพราะเราโดน Horns Effect บังตาอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งนั่นเอง

หลังจากที่ได้ล้วงลึกปรากฏการณ์ Halo Effect และ Horns Effect กันไปแล้ว หวังว่าต่อจากนี้พวกเราจะพิจารณาทุกอย่างรอบคอบมากขึ้น กลั่นกรองทุกข้อมูลอย่างดี ลดอีโก้ที่เรามีแต่อาจมองไม่เห็นลง เพราะเมื่อไหร่ที่เราสามารถปัดเป่าฝุ่นควันแห่งอคติออกไปจนหมดสิ้น เราจะได้เห็น “ความจริง” อันมีค่ารอคอยอยู่

Advertisements


อย่าตัดสินหนังทั้งเรื่องจากฉากเพียงฉากเดียว
ทั้งที่ยังมีเรื่องราวมากกว่า 2 ชั่วโมงรอคอยให้ค้นหาอยู่…


อ้างอิง:
https://www.versiondaily.com
https://www.healthline.com
https://www.verywellmind.com
https://www.dmh.go.th
https://medium.com

Advertisements
Advertisements