ทำไมปีนี้ผมถึงตั้งใจอ่านหนังสือมากกว่าปีอื่นๆ

160
จั่วหัวก่อนนะครับว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว ใครคิดว่าไม่ใช่แนวผ่านได้เลยครับ
 
ปี 2021 ผมคิดว่าจะเป็นปีแห่งการอ่านของผมมากๆ เลยครับ เอาเข้าจริงๆ ปีหลังๆ ไม่ค่อยได้ตั้งเป้าหมายเรื่องการอ่านเท่าไรแล้วเพราะทำไม่ถึงซักที บางทีก็ท้อเหมือนกัน เลยเลิกตั้งมันซะเลย
 
แต่สำหรับปีนี้เป็นปีที่ผมตั้งเป้าหมายเรื่องการอ่าน และตั้งใจแบบจริงจังว่าจะทำให้ได้ด้วย เพราะปีนี้สำหรับผมไม่เหมือนปีอื่นจริงๆ ครับ
 
มันมีเรื่องอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ที่ทำให้ผมต้องให้การอ่านเลื่อนลำดับความสำคัญมาแทบจะบนสุดของเป้าหมายเลย และเป็นการอ่านแบบหวังผล คือไม่ได้อ่านเอาบันเทิง เพราะปีนี้สำหรับผมมีเรื่องที่น่าสนใจหลายประเด็นครับ
 
1. โลกเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป
อย่าพึ่งเบื่อคำว่าโลกเปลี่ยนแปลงเร็วกันนะครับ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผมคิดว่ามันเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เร็วขึ้นไปอีก อาจจะไม่ทุกธุรกิจ แต่สำหรับธุรกิจของผมต้องบอกว่าพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมากๆ
 
เมื่อมีเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องศึกษาเยอะ และไม่รู้เหมือนกันว่าเรื่องไหนจะได้ใช้ การหาความรู้ “เบื้องต้น” ที่ง่ายที่สุดและเร็วที่สุดสำหรับผมคงเป็นหนังสือนี่แหละครับ
 
การได้อ่านหนังสือหลายประเด็นทำให้เราพอจะ “เลือก” ได้ว่าจะศึกษาเรื่องอะไรเยอะขึ้น
 
ในหัวข้อนี้ หนังสือภาษาอังกฤษค่อนข้างได้เปรียบ เพราะหนังสือที่ว่าด้วยศาสตร์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มักถูกเขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อน แล้วค่อยถูกแปลทีหลัง แต่เนื่องด้วยความ “ด่วน” ของการเปลี่ยนแปลง บางเล่มรอหนังสือแปลอาจไม่ทันการ
 
เมื่อได้อ่านจากหนังสือเป็นความรู้ “เบื้องต้น” แล้ว ถ้าหากพิจารณาว่าควรนำมาใช้ ก็สามารถไปต่อยอดความรู้ด้วยการเรียนคอร์สออนไลน์ได้ครับ ที่ผมชอบอ่านหนังสือก่อน เพราะเรียนคอร์สออนไลน์มันนานอยู่กว่าจะจบ เพราะฉะนั้นอยากเลือกเรียนเฉพาะเรื่องที่เรามีความรู้เบื้องต้นแล้วว่ามันน่าสนใจจริงๆ
 
2. เรากำลังอยู่บนรอยต่อของการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี
ความเชื่อส่วนตัวของผมคือว่า ในช่วงปี 2021 – 2023 นั้น เทคโนโลยีต่างๆ จะมีการใช้งานอย่างก้าวกระโดดจริงๆ
 
ที่ผ่านมาเราได้รู้จักกับเทคโนโลยีอย่าง AI, Blockchain, AR/VR, Data Analytics ฯลฯ ซึ่งเราก็เห็นองค์กรขนาดใหญ่เริ่มใช้กันมาสักระยะแล้ว แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหลังจากนี้องค์กรขนาดเล็ก และบุคคลทั่วไปจะเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมันง่ายต่อการใช้งานมากขึ้นเช่นการใช้ Low-Code เป็นต้น อีกส่วนหนึ่งก็เพราะว่าราคาของเทคโนโลยีเหล่านี้ถูกลงด้วย
 
เมื่อสองอย่างมาประกอบกันความนิยมก็จะแพร่หลายมากขึ้น คนทั่วไปก็จะเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้นไปอีก เราเริ่มเห็น Use Case จริงๆ จังๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ของบางอย่างเช่น Autonomous Driving Cars หรือ Voice Command ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น
 
บางอย่างก็เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อและอารมณ์ของสังคมด้วย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาบอกว่าสาเหตุที่มีการขยับมูลค่าของ Cryptocurrency อย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ก็เพราะหลายคนมีความพยายามที่จะขบถต่อ “ตัวกลาง” หรือ “รัฐ” มากขึ้น
 
ตัวอย่างของ Bitcoin คือการพยายามเอาตัวกลาง ซึ่งในที่นี้คือธนาคารกลางและกระทรวงการคลัง ออกจากสมการ เพื่อให้เรื่องของเงินเป็นเรื่องที่ Decentralized อย่างแท้จริง
 
นี่เป็นที่มาว่า ทำให้ผมรู้สึกว่าเราต้องมีความเข้าใจเรื่องพวกนี้พอสมควร เพราะพฤติกรรมของลูกค้าเราจะเปลี่ยน พฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยน การจับจ่ายใช้สอยก็เปลี่ยน ซึ่งในบางเรื่องพฤติกรรมเปลี่ยนเร็วมาก คนที่คาดการณ์ได้ก่อนจะได้เปรียบสุด
 
การอ่านหนังสือโดยเฉพาะหนังสือจากตะวันตก (และจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ถ้ามีอ่านได้) จะค่อนข้างได้เปรียบ เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีของเขานำหน้าเราอยู่ ซึ่งเหมือนข้อแรกครับ อันนี้ความเร็วก็สำคัญ บางทีต้องรีบอ่านตัวต้นฉบับก่อน
 
ส่วนหนังสือของคนไทยที่เขียนโดยคนไทยเองในหัวข้อเหล่านี้ก็มีให้เลือกอ่านเช่นกันครับ เช่น หนังสือของ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ก็ช่วยฉายภาพเหล่านี้ให้เราได้เห็นพอสมควรครับ
 
3. เราต้องพยายามฝึก System 1 ของเราให้เก่งขึ้น
มีอยู่ครั้งหนึ่งผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วันนั้นอาจารย์เล่าเรื่อง System 1 / System 2 จากหนังสือ “Thinking Fast and Slow” ของ Daniel Kahneman ที่บอกว่าสมองมนุษย์ของเราทำงานสองแบบใหญ่ๆ
 
System 1คือระบบที่เป็น Intuition & Instinct ซึ่งทำงานได้เร็ว, ทำงานกับข้อมูลจำนวนมากได้ แต่ความแม่นยำต่ำ และหลายอย่างเราทำแบบ Auto Pilot ไม่ได้รู้สึกตัวตอนทำ
 
นึกถึงบรรพบุรุษของเรา หากอยู่ในที่มืดๆ ถ้าพุ่มไม้สั่นๆ อยู่ใกล้ๆ เพียงเสี้ยววินาทีจะตัดสินใจเลยว่าจะสู้หรือหนี (Flight or Fight) เพราะในพุ่มไม้อาจจะเป็นเสือหรือกวางก็ได้ ซึ่งทั้งสองอย่างมีผลต่อชีวิตทั้งสิ้น อาจจะตายเพราะโดนเสือกิน หรือตายเพราะไม่มีอาหารกินเพราะล่ากวางไม่ได้ก็ได้
 
เวลาเราโดนคนขับรถปาดหน้าแล้วเราอยากจะลงไปต่อยคนที่มาปาดหน้าเรา อันนี้ System 1 ก็ทำงานเหมือนกัน
 
System 2 คือ Rational Thinking หรือการทำงานของสมองส่วนตรรกะและเหตุผลทำงานโดยควบคุมผ่านสมองส่วน Pre-Frontal Cortex ที่ทำให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์อื่นมากๆ สมองส่วนนี้เราใช้ตอนทำงาน เช่น การเขียนหนังสือ หรือการทำโจทย์ทางคณิตศาสตร์ เป็นต้น
 
แต่การทำงาน System 2 นั้น ช้า, ใช้พลังงานเยอะ, ทำเยอะๆ แล้วเหนื่อย ดังนั้น สมองเราจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ System 2 นอกจากจำเป็นจริงๆ
 
โดยเฉลี่ยเราใช้ System 2 ราว 5% เท่านั้นเอง
 
เพราะว่าเราใช้ System 1 เยอะมาก แต่มันเป็นระบบที่ไม่ค่อยจะรอบคอบเท่าไรนัก หลายครั้งมันก็นำปัญหาชีวิตมาให้เราเยอะมาก
 
อ.ชัชชาติ ซึ่งเป็นอีกท่านที่อ่านหนังสือเยอะมากบอกว่า การอ่านช่วยฝึก System 1 ให้เก่งขึ้นได้จริงๆ หรืออย่างน้อยก็เป็นแรงกระตุ้นให้เราไปฝึกต่อ เช่น ไปฝึกนั่งสมาธิต่อเป็นต้น
 
System 1 ฝึกยาก สอนยาก แต่ทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการอ่านหนังสือเยอะๆ
 
ส่วนตัวผมคิดว่าหนังสือแทบทุกประเภท สามารถช่วยพัฒนา System 1 ของเราได้ครับ
 
4. โอกาสที่เกิดทั้งระหว่างและหลังวิกฤต ไม่ได้มาจากการทำงานแบบเดิมๆ
สิ่งที่ผมคิดว่า เราต้องเปลี่ยนเยอะมากในช่วงเปลี่ยนผ่านของวิกฤตโควิด-19 ก็คือเรื่อง Business Model ครับ ผมเชื่อจริงๆ ว่าโอกาสระหว่างและหลังวิกฤตนั้นมาจากวิธีการคิดเรื่อง Business Model ใหม่
 
เราจะคิด Business Model ใหม่ได้ดี เราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเยอะๆ การอ่านก็เป็นวิธีที่ง่ายและเร็วมากวิธีหนึ่งครับ
 
ด้วยเหตุผลทั้ง 4 ประการนี้ ผมจึงเชื่อว่า การอ่านจะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในช่วงนี้ และถ้าเป็นการอ่านแบบหวังผลก็จะยิ่งดีไปกันใหญ่
 
Charles W. Eliot เคยกล่าวไว้ว่า
 
“Books are the quietest and most constant of friends; they are the most accessible and wisest of counselors, and the most patient of teachers.”
 
“หนังสือคือเพื่อนที่เงียบที่สุดแต่ไว้วางใจได้ หนังสือเป็นที่ปรึกษาที่ฉลาดที่สุดและเข้าถึงได้ง่าย และหนังสือเป็นครูที่มีความอดทนที่สุด
 
Advertisements