ทำไมต้อง “หมอชนะ”? ความเสี่ยงที่มากขึ้น หมอชนะจะช่วยคุณได้อย่างไร

274
จากประเด็นร้อนแรงของวันนี้ (7 ม.ค. 64) สื่อหลายสำนักได้พากันพาดหัวข่าวถึงคำแถลงการณ์ของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ในตอนหนึ่งว่า ต่อไปหากพบใครติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่มีแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” จะถือว่าละเมิดข้อกฎหมายตามข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 17
 
ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 17 จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
แต่เมื่อช่วงบ่ายของวันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาแถลงเพิ่มเติม ถึงกรณีที่ ศบค. แถลงไปก่อนหน้า โดยมีใจความว่า การโหลดแอป หมอชนะ เป็นเพียงการขอความร่วมมือ ไม่ได้มีความผิด ยกเว้นมีเจตนาปกปิดข้อมูล
 
ทำเอาหลายคนสงสัยไปตามๆ กันว่า ทำไมต้องโหลด “หมอชนะ” เพิ่มขึ้นมาอีก? ใช้แค่ “ไทยชนะ” เหมือนแต่ก่อนไม่ได้หรอ?
 
เป็นที่รู้กันดีว่าเวลาเราไปห้าง หรือสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก จะต้องเช็กอินและเช็กเอาต์ด้วยระบบสแกน QR Code ในแอปไทยชนะทุกครั้ง เพื่อคอยนับจำนวนคนให้เหมาะสมกับสถานที่ โดยแอปจะทำการเก็บข้อมูลและติดตามย้อนหลังหากเจอผู้ป่วยที่เคยไปสถานที่ดังกล่าว
 
แต่ปัญหา คือ แอปดังกล่าวต้องบันทึกข้อมูลโดยผู้ใช้งานเอง ซึ่งบางครั้งผู้ใช้งานอาจไม่ได้สแกนเข้าออกสถานที่นั้น ทำให้ตัวแอปไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น
 
ในทางกลับกันแอปหมอชนะจะบันทึกตำแหน่งผู้ใช้งานได้อัตโนมัติ ด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth Low Energy (BLE) พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับมือถือเครื่องอื่นที่ติดตั้งแอปหมอชนะไว้เช่นเดียวกัน ทำให้แอปสามารถเตือนเราได้ตลอดเวลาหากมีการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยง หรือเมื่อเข้าสู่พื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ และแจ้งเตือนให้ไปโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
 
แต่แอปหมอชนะจะทำงานได้ผลดีก็ต่อเมื่อมีคนใช้งานแอปนี้อยู่ร่วมด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ดาวน์โหลดใน Play Store เพียงหลักหมื่นครั้งเท่านั้น อีกทั้งยังพบว่าคำถามตรวจเช็กความเสี่ยงก็ดูเหมือนจะกว้างเกินไป
 
หลายความเห็นจึงแนะนำให้ใช้ Google Maps Timeline ที่มีผู้ใช้งานมากกว่า แม้จะไม่มีระบบตรวจเช็กความเสี่ยงของตัวเอง หรือเตือนหากมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยง แต่ก็สามารถย้อนดูสถานที่ที่เราเดินทางไปได้เป็นปีๆ
 
กล่าวโดยสรุป คือ “ไทยชนะ” เราจะต้องกดเช็กอินและเช็กเอาท์เองทุกครั้ง โดยจะสามารถดูได้ว่าสถานที่นั้นมีคนเข้าใช้บริการมากน้อยแค่ไหน เป็นประโยชน์ต่อการใช้จำกัดจำนวนคน แต่คนก็ไม่ได้ลงชื่อเข้าออกทุกครั้ง ในขณะที่ “หมอชนะ” จะ Track ข้อมูลการเดินทางของเราได้อัตโนมัติ สะดวกกว่า แต่ใช้จำกัดจำนวนคนไม่ได้ ทาง ศบค. จึงแนะนำให้ใช้ร่วมกับการสแกน QR Code ของไทยชนะ อีกทั้งจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้งานร่วมด้วยจำนวนมากๆ
 
แน่นอนว่า สำหรับคนที่ห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว อาจจะไม่ชอบ “หมอชนะ” เท่าไร แม้ทางผู้พัฒนาจะเคยออกมาชี้แจงถึงการจัดเก็บข้อมูลที่รัดกุมแล้วก็ตาม
Advertisements