ทำอะไร (ขาย) เพิ่มดีในวันที่รายได้ลดลง แต่ภาระยังเท่าเดิม

334
วันก่อนได้มีโอกาสไปคุยกับน้องคนหนึ่งแบบบังเอิญ เราเจอกันตอนผมนั่งรอประชุมที่ตึกใจกลางเมือง เขาบอกว่าอยากปรึกษาเรื่องงาน จะโทรหาผมก็เกรงใจ ไหนๆ บังเอิญเจอแล้วจะรบกวนขอนั่งคุยซักพัก ผมก็โอเคเพราะยังเหลือเวลาอีกนิดหน่อยก่อนถึงเวลานัด
 
น้องคนนี้มีอาชีพทำขนมขายแบบทั่วไป มีหน้าร้านเล็กๆ หนึ่งที่ แต่จริงๆ แล้วเน้น Delivery แล้วส่วนหนึ่งก็ส่งขายที่โรงแรมต่างๆ ด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ส่วนที่ส่งขายโรงแรมนั้นเงียบเหงาไปพอควร
น้องก็เลยอยากทำอะไรใหม่ๆ มาขาย เพื่อต้องการหารายได้เพิ่ม แล้วก็อยากดูแลพนักงานให้ได้ครบทุกคน ไม่อยากให้ใครต้องออกจากงานตอนนี้
 
เนื่องจากมีเวลาคุยกันแค่ 15 นาที แล้วต่างคนต่างต้องไปธุระต่อ ผมเลยแนะนำสั้นๆ ไปว่าการขายของเพิ่มถ้าเอาแบบเร็วๆ มันมีอยู่ 4 อย่างด้วยกัน ซึ่งแต่ละอย่างมีความยากง่ายและต้นทุนที่แตกต่างกันออกไป
 
1. ขายสินค้าเดิมให้ลูกค้าเดิม
ส่วนนี้เริ่มง่ายสุดเพราะไม่ต้องทำอะไรใหม่ แล้วก็อาจจะดีด้วย เพราะลูกค้าเคยซื้อของกันอยู่แล้ว ย่อมมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และเข้าใจตัวสินค้าพอสมควร ถ้าทำแบบเร็วๆ ก็คือการทำโปรโมชันลดราคาหรือการเข้าหาลูกค้าให้บ่อยขึ้น เมื่อเขาต้องการซื้อสินค้าจะได้นึกถึงเรา
 
ทั้งนี้ การเข้าหาลูกค้าอาจจะเป็นการไปหาจริงๆ หรือเป็นการใช้โฆษณากับกลุ่มเป้าหมายเดิมก็ได้
แบบนี้อาจจะช่วยเพิ่มความต้องการในระยะสั้นได้ แต่ถ้าความต้องการเชิงโครงสร้างของลูกค้า
 
เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เขาอาจจะไม่ต้องการขนม Delivery แล้วเพราะกำลังลดน้ำหนักอยู่ วิธีนี้ก็อาจจะไม่ได้ผลก็เป็นได้
 
2. ขายสินค้าใหม่ให้ลูกค้าเดิม
เมื่อไรก็ตามที่มีการทำสินค้าใหม่ ความเสี่ยงอีกประเภทก็จะเริ่มมีขึ้นทันที เพราะฉะนั้นเพื่อทดลองความเสี่ยงในช่วงแรกควรทำแบบ Trial and Error หรือการทดสอบสมมติฐานก่อน ลองดูว่าแนวคิดของเรานั้น พอออกมาเป็นสินค้าจริงๆ แล้ว มันสามารถทำงานได้ตามแบบที่เราต้องการไหม
เนื่องจากลูกค้ายังเป็นกลุ่มเดิม ถ้าความต้องการสินค้าประเภทนี้มีอยู่ โอกาสขายก็ง่ายขึ้น เพราะลูกค้ารู้จักเราดีอยู่แล้ว
 
สมมติว่า สินค้าใหม่นี้เป็นขนมสำหรับคนลดน้ำหนัก ถ้าได้ทดลองขายกับลูกค้าจริงแล้ว ควรเก็บ Feedback ให้เยอะๆ เพราะแนวโน้มคือมันจะยังไม่ถูกใจลูกค้ามากนัก อาจต้องปรับกันหลายรอบ ก่อนจะเริ่มขายได้เป็นกอบเป็นกำ
 
โดยคอนเซปต์ตัวสินค้าอาจจะตรงกับความต้องการที่เปลี่ยนไปในเชิงโครงสร้างของลูกค้าบางคน แต่ตัวสินค้ายังต้องได้รับการทดสอบพอสมควร
 
3. ขายสินค้าเดิมให้ลูกค้าใหม่
กรณีของการขาย Delivery มีหลายอย่างที่สามารถลองทำได้ เช่น อาจจะเพิ่มช่องทางการขายกับแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างแอปพลิเคชัน Robinhood ที่พัฒนาโดยธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งไม่คิดค่า GP กับร้านค้าด้วย ทำให้เราไม่ต้องรับภาระเรื่องนี้
 
หรือการทำโฆษณากับ Target Group ใหม่ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ในกรณีของขนม ถ้าหากว่ารสชาติและคอนเซปต์นิ่งแล้ว วิธีนี้อาจจะต้องใช้เวลาหน่อยแต่การบริหารจัดการความเสี่ยงจะไม่ยาก
 
4. ขายสินค้าใหม่ให้ลูกค้าใหม่
ถ้าว่ากันตามคอนเซปต์อันนี้คือยากที่สุด และมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะต้องทดสอบทั้งตัวสินค้าและความต้องการของลูกค้าไปพร้อมๆ กัน แต่ก็สามารถทำได้
 
ถ้าเป็นกลุ่มนี้ กระบวนการ Trial and Error ต้องทำอย่างรัดกุมที่สุด โดยแนวคิดเรื่องการทำทดสอบสมมติฐานนั้นคือการใช้เงินให้น้อยที่สุด และแต่ละการทดลองให้ลดความเสี่ยงได้มากที่สุดนั่นเอง
 
แบบสุดท้ายนี้จะเหนื่อยหน่อยเพราะตัวแปรเยอะสุด ต้องบริหารจัดการหลายเรื่อง แต่ถ้าคิดแล้วทำแบบมีระบบ ก็จะเป็นฐานรายได้ใหม่ที่น่าสนใจเช่นกัน
 
ด้วยเวลาอันจำกัดจึงไม่สามารถลองรายละเอียดกับน้องท่านนี้ได้มากกว่านี้ แต่ผมเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้นเลยต่อคำถามที่ว่า ในวันที่รายได้ลดลง แต่ภาระยังเท่าเดิม
 
“จะขายอะไรเพิ่มดี”
Advertisements