“ตอนกลางคืน” ช่วงเวลาแห่งความคิดสร้างสรรค์ของเหล่า Night Owl

9973

Advertisements
ถ้าคุณเป็นมนุษย์ที่ต้องตื่นเช้า เพื่อไปนั่งจ้องแผ่นกระดาษหรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ และเค้นสิ่งที่อยู่ในหัวออกมา แต่แม้จะผ่านไปหลายชั่วโมงกลับดูเหมือนว่า ไม่ค่อยมีสิ่งใดคืบหน้า หรือดำเนินไปช้ากว่าที่ควรจะเป็น ก็อาจต้องหันกลับมาสำรวจพฤติกรรมของตนเองกันใหม่ ว่าแท้จริงแล้ว คุณรู้สึกเหนื่อยในช่วงเวลานั้นชั่วคราว เป็นพวกเคี่ยวเข็ญไม่ขึ้นจริงๆ หรือเป็นพวกนกฮูกกลางคืน (Night Owl) กันแน่
 
เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง (Night Owl) การที่มีนิสัยชอบนอนดึกตื่นสาย ไม่ก็นอนกลางวันตื่นมาทำงานตอนกลางคืน แต่เลือกงานที่ไม่มีความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน และยังต้องเปลี่ยนกิจวัตรการตื่นมาเป็นแบบพวก Early Riser หรือคนที่ตื่นก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น เพื่อไปทำงานให้ทัน ก็เหมือนเป็นการจำกัดความคิด ความสามารถแห่งการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองอย่างน่าเสียดาย
 
แต่เคยสงสัยไหมว่าเหตุใดความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงแรงบันดาลใจของใครหลายคน โดยเฉพาะ นักเขียน ศิลปิน และนักประดิษฐ์ ถึงมักจะมาตอนกลางคืน?
 
จากบทความ Night Writers: Why Are We Most Creative at Night? ของ Olivia Petris ได้อธิบายไว้ว่า สาเหตุที่หลายคนมักมีความคิดสร้างสรรค์ในตอนกลางคืน เกิดขึ้นจากสองปัจจัยหลัก
 
1. จิตวิทยาสภาพแวดล้อม
เวลากลางคืน การเปลี่ยนแปลงทางจิตวิทยาทำให้เกิดการไหลบ่าของความคิดสร้างสรรค์ นักเขียนอย่าง Stephanie Meyer เคยกล่าวไว้ว่า สาเหตุหลักที่เขาชอบเขียนงานตอนกลางคืน เนื่องจากไม่มีสิ่งใดรบกวน เด็กๆ เข้านอน และโลกภายนอกนั้นเงียบสงบ ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะมีสิ่งใดดึงเขาออกจากงานเขียนเหล่านั้นได้ หรือถ้าลองเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่า
 
งานของคนส่วนใหญ่มักเสร็จสิ้นในตอนเย็น ซึ่งหมายความว่า เราจะมีเวลาหาแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่มีคุณค่าในช่วงเวลาหลังจากนั้น
 
เราไม่ได้รู้สึกผิดที่จะเขียนในตอนกลางคืน เพราะไม่มีอะไรต้องทำอีกแล้ว ช่วงกลางคืนคือเวลาของเรา
 
ความมืด แสงไฟสลัวๆ ประกอบกับบรรยากาศโดยรวมที่ปกคลุมไปด้วยความเงียบ มีแนวโน้มที่เราจะผ่อนคลายมากขึ้น สิ่งนี้ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อกับงานที่กำลังทำอยู่ได้อย่างเต็มที่
 
2. สารเคมีในสมอง
โดยปกติแล้วการทำงานของสมองจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการนอนหลับของเรา (หรือที่เรียกว่า Circadian Rhythms) ซึ่งในเวลาที่เราหลับ สมองบางส่วนจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ
 
แต่สมองซีกขวาของเหล่า Night Owl ไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการที่มันเป็นเหมือนศูนย์กลางควบคุมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งตั้งแต่อารมณ์ สัญชาตญาณ ไปจนถึงรูปแบบของความฝัน ทำให้เมื่อถึงเวลากลางคืน สมองซีกขวาของคนกลุ่มนี้จะทำงานมากขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกเขามักมีความคิดสร้างสรรค์ในเวลากลางคืนอย่างเห็นได้ชัด
 
อีกทั้งในช่วงเวลากลางคืน ต่อมใต้สมองจะหลั่ง โปรแลคติน (Prolactin) ออกมา ที่แม้จะเป็นฮอร์โมนเกี่ยวข้องกับการสร้างน้ำนมเป็นหลัก แต่ก็มีผลช่วยให้เรารู้สึกสงบได้ ซึ่งสภาวะดังกล่าวนี้ สามารถก่อเกิดเป็นความคิดที่มีความสด แปลกใหม่ และอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดได้เช่นกัน ดังคำกล่าวของ Vincent Van Gogh ที่ว่า
 
“ ฉันมักจะคิดว่าเวลากลางคืนมีชีวิตชีวาและมีสีสันสดใสกว่ากลางวัน”
 
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ถ้าคุณไม่สร้างกิจวัตรให้เข้ากับงานโดยเร็ว ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบงานให้เข้ากับกิจวัตรของคุณแทน เพื่อประสิทธิภาพของงานเอง และลดอาการเหนื่อยล้าจากการทำงานของคุณเองด้วย
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก : https://bit.ly/395n3Ed
 
Advertisements