ตรวจสอบและทิ้ง Gadget เสื่อมสภาพอย่างไรให้ปลอดภัย

284
เมื่อคุณซื้อโทรศัพท์สักเครื่องหนึ่ง คุณไม่ได้ซื้อเพียงแค่โทรศัพท์ แต่ยังต้องซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ หรือ Gadget พ่วงด้วย เช่น แบตเตอรี่สำรองหรือพาวเวอร์แบงค์ สายชาร์จโทรศัพท์ และหูฟัง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีอัตราการเติบโตในตลาดที่สูงมาก ขณะเดียวกันเมื่อเสื่อมสภาพ อุปกรณ์เหล่านี้ก็สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ปริมาณมหาศาล เพราะหลายคนไม่รู้ว่าต้องตรวจสอบอย่างไรและทิ้งอุปกรณ์นี้ที่ไหนให้ปลอดภัย
 
อุปกรณ์เสริมสร้างขยะเยอะขนาดนั้นจริงหรือ?
 
เมื่อลองสำรวจตลาดอุปกรณ์เสริมต่างๆ ในประเทศไทยและระดับโลก พบว่า พาวเวอร์แบงค์ในประเทศไทยนั้นมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้พาวเวอร์แบงค์จะมีอายุการใช้งานประมาณ 4 ปี และชาร์จได้ประมาณ 500-800 ครั้ง ถึงจะเสื่อมสภาพ แต่ยังพบว่า 85% ของผู้ใช้งานจะยังคงเก็บพาวเวอร์แบงค์เสื่อมภาพไว้ใช้ต่อ โดย 1 คนจะมีพาวเวอร์แบงค์เก็บไว้ 2-3 เครื่อง
 
ประเภทแบตเตอรี่ของพาวเวอร์แบงค์ที่ได้รับความนิยมคือ ชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-Ion) เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ราคาเข้าถึงได้ และกักเก็บพลังงานได้สูง แต่เมื่อเสื่อมและหมดอายุการใช้งาน หากทิ้งไม่ถูกวิธีหรือกำจัดโดยไม่คายประจุก่อน แบตเตอรี่จะสามารถติดไฟและเป็นชนวนเร่งให้เกิดการระเบิดได้
 
ไม่เพียงแค่พาวเวอร์แบงค์ แต่อุปกรณ์สวมใส่ (Wearable Device) เช่น หูฟังและนาฬิกาอัจฉริยะก็มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น 52% หรือประมาณ 125 ล้านชิ้นทั่วโลก ซึ่งหูฟังนั้นมียอดจำหน่ายสูงสุด คิดเป็น 55.79% ของอุปกรณ์สวมใส่ทั้งหมด และมีอัตราการเติบโตของยอดขายสูงสุดที่ 58% รองลงมาคือนาฬิกาอัจฉริยะ 36.2% และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย 9.4%
 
นอกจากนี้ บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก Canalys ยังคาดการณ์ว่า ภายในปี 2566 จะมีอุปกรณ์ไอทีอัจฉริยะขนาดเล็กมากถึง 3 ล้านล้านชิ้นทั่วโลก และหูฟังจะเป็นอุปกรณ์ที่มีจำนวนมากที่สุดถึง 726 ล้านชิ้นทั่วโลกไม่นับรวมโทรศัพท์มือถือ ถือได้ว่าอุปกรณ์สวมใส่นั้นเป็น “สมรภูมิใหม่ของขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่เราต้องหาวิธีจัดการโดยเร่งด่วน
 
แล้วเราจะตรวจสอบอุปกรณ์เสริมที่เสื่อมสภาพได้อย่างไร?
 
อุปกรณ์เสริมแต่ละชนิดมีลักษณะการเสื่อมสภาพแตกต่างกัน ซึ่งสามารถตรวจได้โดยสังเกตสภาพดังนี้
 
– แบตเตอรี่บวมและพาวเวอร์แบงค์เก่า: นำแบตเตอรี่เก่าหรือพาวเวอร์แบงค์วางบนโต๊ะหรือบริเวณที่มีพื้นผิวเรียบ แล้วหมุนแบตเตอรี่ด้วยมือ หากหมุนได้เกิน 1 รอบ ถือเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจมีอาการบวม และหากเป็นแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออนรุ่นเก่าที่เสื่อมสภาพแล้ว อาจเกิดการระเบิดได้
– สายชาร์จขาด: หากสายชาร์จฉีกขาดจนเห็นสายไฟด้านใน หรือบริเวณข้อต่อมีการหักงอหรือชำรุด จะส่งผลให้ชาร์จไฟได้ไม่เต็มที่ แบตเตอรี่เสื่อมเร็ว และอายุการใช้งานของโทรศัพท์มือถือจะลดลง
– หูฟังพัง: หากสายหูฟังชำรุด มีร่องรอยการฉีกขาด แล้วเริ่มได้ยินเสียงหูฟังสองข้างไม่เท่ากัน มีเสียงรบกวน หรือสัญญาณขาดหาย หากใช้ต่อไปอาจทำให้หูเสื่อม
 
เหตุใดเราต้องทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ถูกที่?
 
นอกจากเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นแล้ว อุปกรณ์ขนาดเล็กเหล่านี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนแร่มีค่า เช่น ลิเธียม โคบอลต์ ทองแดง ฯลฯ แร่เหล่านี้เมื่อนำมาผ่านกระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี จะสามารถนำกลับมาใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ได้
 
การที่ขยะอิเล็ทรอนิกส์มีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีจะสร้างปัญหาขยะล้นโลกและส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อม Dtac ได้เล็งเห็นปัญหานี้ จึงก่อตั้งโครงการ “ดีแทค ทิ้งให้ดี” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ปัจจุบันมีถังเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ศูนย์บริการดีแทค 51 สาขาทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างถูกต้อง และดูแลโลกของเราให้สะอาดและปลอดภัยจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต
 
 
ที่มา:
[1] Powerbank expert, 2563
[2] งานวิจัยสถานภาพการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ชนิดที่มีลิเทียมในองค์ประกอบในประเทศไทย ม.เทคโนโลยีสุรนารี 2562
[3] IDC, 2563
[4] Canalys, 2563
Advertisements