ชีวิตที่เคยอยู่บ้าน จะเปลี่ยนกลับไปทำงานได้อย่างไร

70
สำหรับชีวิตครอบครัว คนที่ต้องสละเวลาออกจากงานมาดูแลบ้าน หรือเลี้ยงลูก หากวันหนึ่งอยากจะเปลี่ยนกลับไปทำงานคงไม่ใช่เรื่องง่าย
 
จากงานวิจัยของ The Center for Talent Innovation แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่พร้อมไปด้วยคุณวุฒิ คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ ต้องการกลับไปทำงาน แต่มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ได้งานประจำ
 
ปัญหานี้เกิดจากอะไร และคุณจะเอาชนะได้อย่างไร Dorie Clark เจ้าของบทความ How Stay-at-Home Parents Can Transition Back to Work ที่เผยแพร่ใน Harvard Business Review อธิบายไว้ว่า
 
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในอาชีพ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือ การจัดการกับอคติ และข้อกังวลในงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนที่คุณควรทำ
 
1. แสดงให้เห็นถึงทักษะที่จำเป็นในปัจจุบัน
ความกังวลของนายจ้างที่ว่า คุณอาจตามไม่ทันกระแสโลก แม้ที่ผ่านมาจะเคยมีประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่นมากแค่ไหนก็ตาม เพราะทุกวันนี้โลกขับเคลื่อนไปด้วยเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัด มีคำศัพท์ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น New Normal, Digital Disruption หรือ Innovative Thinking ที่อาจทำให้คุณพลาดการเรียนรู้ถึงรูปแบบการทำงานที่จำเป็นในปัจจุบัน และอนาคตได้
 
ฉะนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณมีโปรไฟล์ที่แข็งแรง และเท่าทันยุคสมัยมากพอ โดยคุณอาจถูกขอให้เปิดเผยข้อมูลบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ว่ามีการโพสต์แสดงความสนใจเกี่ยวกับตำแหน่งงานนี้หรือไม่ เพื่อแสดงว่า คุณก้าวทันแนวโน้มการเป็นไปของโลกธุรกิจ
 
หรือจะดียิ่งขึ้นหากการสัมภาษณ์ของคุณมีการอ้างถึงประสบการณ์การเป็นอาสาสมัครหรือเคยเป็นผู้นำโครงการ สมาคมอะไรบางอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทักษะอันมีค่าขององค์กร ที่จะช่วยให้นายจ้างลดข้อสงสัยในความสามารถของคุณ
 
2. เสริมสร้างเครือข่ายทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
แม้คุณจะมีโปรไฟล์ที่แข็งแรง แต่อาจไม่เพียงพอหากอยากออกมาหางานทำ ฉะนั้นการติดต่อกับเพื่อนร่วมงานเก่า หรือสร้าง Connection กับคนใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้งานใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเอง
 
3. อธิบายเหตุผลของการเข้ามาทำงานให้ได้
ในสถานการณ์ของการรับพนักงานใหม่ ผู้จัดการมักมีข้อกังวลอยู่ 2 ประการ คือ
 
คุณอยากอยู่ที่นี่จริงๆ หรือ? และ
 
คุณมีภาระหน้าที่อะไรที่คาดว่าจะขัดขวางการทำงานร่วมกันกับองค์กรหรือไม่? (เช่น มีลูกเล็กต้องดูแล ไปรับ-ส่งที่โรงเรียน)
 
การตอบข้อกังวลของผู้จัดการให้ได้ว่า ทำไมถึงมาสมัครงานที่นี่ ตำแหน่งนี้ หรือแม้กระทั่งช่วงเวลานี้ มีผลอย่างมากต่อการรับเข้าทำงาน เพราะความจริง อย่างความจำเป็นในเรื่องของเงินเพียงอย่างเดียว อาจทำให้พวกเขารู้สึกว่า ถ้ามีบริษัทไหนให้เงินเดือนที่สูงกว่า คุณก็พร้อมจะไปได้เช่นกัน
ฉะนั้นจึงต้องแสดงให้เห็นว่าคุณมีความกระตือรือร้น อยากกลับเข้ามาทำงาน (ตอบให้ได้ว่า คุณสามารถทำอะไรให้กับบริษัทได้ และจะกระทำการอย่างไร) ที่จะไม่ถูกรบกวนจากภาระหน้าที่ส่วนตัวมากเกินไป
 
4. เปลี่ยน “จุดอ่อน” เป็นความแข็งแกร่ง
เป็นเรื่องง่ายที่ผู้จัดการจะใช้โอกาสนี้ในการทดสอบคุณด้วยการพูดเชิงว่า “ในขณะที่คุณเลือกเส้นทางอื่น คนที่อายุพอๆ กับคุณเขาทำงาน เรียนรู้ทักษะทางวิชาชีพใหม่ๆ จนได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปหมดแล้ว คุณไม่คิดว่ามันจะช้าเกินไปสำหรับตำแหน่งงานนี้เหรอ”
 
ซึ่งคุณต้องไม่ยอมรับกรอบความคิดนั้น และควรตอบโต้อย่างมีชั้นเชิง เช่น “ฉันรู้ว่าฉันอาจมีประสบการณ์ไม่มากเหมือนกับผู้สมัครคนอื่นๆ แต่…” และอาจทิ้งท้ายด้วยว่า “มันคือความท้าทายอย่างหนึ่ง”
 
5. อย่าท้อแท้ แม้จะทำตามขั้นตอนทั้งหมดแล้ว
เพราะความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นในทันที บางครั้งก็ต้องอาศัยเวลา และความอดทนรอในโอกาสที่จะเข้ามา ซึ่งในระหว่างนั้น คุณอาจพิจารณารับงานที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำ (หรืออาจไม่ได้) หากมันจะนำไปสู่ทักษะใหม่ๆ หรือเครือข่ายทางสังคมที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณเจองานที่เหมาะสมได้
 
สุดท้าย จากทั้ง 5 ขั้นตอนที่กล่าวไปนี้ คุณต้องเริ่มจากการเอาชนะความกลัวในใจตัวเองให้ได้ก่อน เลิกมองว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น “ไม่ยุติธรรม” สำหรับคุณ และอย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอยู่เสมอ เพื่อให้ตัวเองสามารถกลับเข้าสู่ชีวิตการทำงานได้อย่างไม่มีข้อครหา
 
อ้างอิง : https://bit.ly/3rFs5Pe
 
Advertisements