จิตวิทยาเบื้องหลังพฤติกรรมที่ผิดจรรยาบรรณ

579
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมคนจำนวนมากที่รับรู้ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำ บ่อยครั้งถึงยอมให้เกิดพฤติกรรม “ผิดจรรยาบรรณ” ในอาชีพการงานของตนเอง
 
จากบทความ “The Psychology Behind Unethical Behavior” ของ Merete Wedell-Wedellsborg นักจิตวิทยาองค์กร ได้อธิบายถึงพลวัตทางจิต 3 ประการที่มีส่วนช่วยให้ผู้คนประพฤติตนไปในทางที่ไม่ดีนี้
 
1. การมีอำนาจเบ็ดเสร็จ (Omnipotence) คือสิ่งที่คนเรารู้สึกได้ถึงสิทธิ์ที่มีมากเหนือคนอื่น เขาจะเชื่อว่ากฎที่ช่วยสร้างพฤติกรรมที่ถูกที่ควรนั้นไม่ได้มีไว้ใช้สำหรับตัวเขาเอง และด้วยสิทธิ์ที่พึงมี ยังทำให้เขาเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นไปในทิศทางที่ไม่ดีได้
 
นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับสถานการณ์ที่คนเรายึดติดกับงานของตนมากเกินไป จนทำให้ความรู้สึกภักดีต่ออาชีพหรือองค์กรถูกแทนที่ด้วยความเป็นเจ้าของ เพราะหลงลืมว่างานที่เขาทำให้องค์กรก็คืองานขององค์กรที่ยอมจ่ายเงินจ้างเขาอีกที ซึ่งอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ร้ายแรงอย่างการฉ้อโกงในภายหลัง
 
2. ความชินชาทางวัฒนธรรม (Cultural Numbness) มักเกิดขึ้นเมื่อผู้คนกระทำการบางอย่างตามกันมาเรื่อยๆ แม้จะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นคือ “ความผิด” จนไปสร้างบรรทัดฐานที่ต้องยอมรับให้คนใหม่ๆ ที่อยากจะเข้ามาทำงานในองค์กร ซึ่งอาจไปทำลายหลักการภายในใจใครหลายคนอย่างสมบูรณ์แบบ
 
หรือในกรณี พฤติกรรมที่เอื้อให้กระทำผิดจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในองค์กรอยู่แล้ว ทำให้พนักงานจำนวนมากต้องหาเหตุผลเข้าข้างหรือปกป้องตัวเองจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งนำไปสู่จุดที่พนักงานที่แสดงท่าทีอารยะขัดขืนจะต้องถูกกดดันให้เลือกระหว่าง “การยอมรับ” กับ “มองหางานใหม่”
 
แต่ไม่ว่าคุณจะมีหลักการอย่างไร จะต้องตระหนักว่า เมื่อเวลาผ่านไปสิ่งที่คุณเคยยึดมั่นจะถูกทำให้เปลี่ยนไปสู่วัฒนธรรมขององค์กรหรือทีมของคุณเช่นกัน
 
3. การละเลยต่อความชอบธรรม (Justified Neglect) มักเกิดขึ้นเมื่อมีรางวัลที่จับต้องได้เป็นเดิมพัน และความเสี่ยงที่จะถูกจับได้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้คนจำนวนมากยอมไม่พูดถึงการละเมิดจริยธรรม เพราะพวกเขาคิดถึงผลตอบแทนที่หวังไว้ อย่างการได้รับความมั่นคงทางอาชีพ หรือการช่วยเหลือจุนเจือจากผู้มีอำนาจ
 
ผู้จัดการหลายคนต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่าง “การรับรางวัล” หรือ “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง” แต่อาจไม่ถูกใจใคร ทำให้บ่อยครั้งเกิดความคิดที่ว่า “นี่เป็นสถานการณ์ยกเว้น…เดี๋ยวมันก็จบ” “เราต้องยอมบ้างเพื่อความสำเร็จในอนาคต” หรือแม้แต่ “เรามาที่นี่เพื่อหาเงิน ไม่ใช่เพื่อการกุศล”
 
อย่างไรก็ตาม “หลักการที่เคยตั้งตรง เมื่อวันหนึ่งถูกทำให้โค้งงอ นานวันเข้าก็จะกลายเป็นทางลาดลื่น ซึ่งง่ายต่อการเพิ่มความเร็วเช่นกัน”
 
ดังนั้น จาก 3 พลวัตทางจิตที่กล่าวมา องค์กรจึงจำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบที่มีอำนาจมากพอ และสามารถเชื่อถือได้ อีกทั้งคนในองค์กรเองก็ต้องตระหนักถึงสภาวะทางจิตที่มีจริยธรรมในใจให้ได้ ผ่านการตรวจสอบตัวเองเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
 
แปลและเรียบเรียงจาก : https://bit.ly/2XE4ccX
 
 
 
Advertisements