จาก COVID-19 สู่ปัญหาแรงงานข้ามชาติ เมื่อระเบิดเวลาปะทุออก กลายเป็นผลกระทบในวงกว้าง

106
ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของ COVID-19 “ระลอกใหม่” หลายคนคงจำได้ว่า WHO หรือองค์การอนามัยโลก เคยออกมาชื่นชมประเทศไทย ว่าเป็นต้นแบบของการประสบความสำเร็จ ในการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐ และภาคประชาสังคม ต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้จะยังไม่มีวัคซีนออกมา
 
ซึ่งเสียงหลายกระแสได้ยกความดีความชอบนี้ให้กับการทำงานอย่างหนักของบุคลากรด้านสาธารณสุขและประชาชนชาวไทยที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
 
แต่ครั้งนี้ ไม่เหมือนเดิม ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และที่น่าตกใจยิ่งไปกว่านั้น คือ มีจำนวนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางมาทำงานอย่างผิดกฎหมายมากกว่าแรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องหลายเท่าตัว
 
คนจึงมุ่งเป้าไปที่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายทหาร และฝ่ายพลเรือนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลเขตแดน ว่าปล่อยปละละเลยมาได้อย่างไร แต่ทุกครั้งที่มีการออกมาแถลงก็มักจะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนใดๆ จึงเกิดคำถามใหม่ขึ้นมาว่า เรื่องแบบนี้เป็นความปกติของสังคมไทยใช่ไหม?
 
หรือจริงๆ แล้ว สาเหตุที่รัฐไม่ออกมารายงาน หรือเปิดเผยข้อมูลในเชิงยอมรับถึงปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ผิดกฎหมาย ว่ามีส่วนของระบบราชการและเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง อาจเนื่องมาจากกลัวผลกระทบทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ…
 
เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจับตามองจากสหรัฐ และหลายประเทศในยุโรปถึงประเด็นการค้ามนุษย์ ซึ่งตามรายงาน Trafficking in Persons Report หรือ TIP Report ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ในปี 2562 ประเทศไทยอยู่ระดับ Tier 2 ที่หากถูกลดระดับลงมาอยู่ในระดับต่ำสุด หรือ Tier 3 ก็จะถูกบอยคอต ตัดความช่วยเหลือต่างๆ จากนานาประเทศ
 
และหากมาดูในประเด็นของลูกจ้างหรือแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะผ่านมานานแค่ไหน ก็ยังต้องมีการจ่ายหัวคิวให้นายหน้า เพื่อให้การเดินทางเข้ามาทำงานเป็นไปได้อย่างสะดวก ซึ่งกระบวนการดังกล่าวก็ถือเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่งที่ฝังรากลึกในสังคมไทยมายาวนาน
 
ในขณะที่ผู้เป็นแรงงานเอง ก็รู้สึกว่าการจ่ายหัวคิวเป็นการลดความยุ่งยากของระบบ อีกทั้งการดำเนินงานที่ไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งหากแรงงานต้องการเปลี่ยนงานหรือนายจ้าง จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เอง ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นแรงงานเถื่อน หรือผิดกฎหมายทันที
 
ประกอบกับกฎหมายแรงงานข้ามชาติฉบับ 2562 ที่กำหนดบทลงโทษแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต หรือไม่ต่ออายุใบอนุญาตตามเวลาที่กฎหมายกำหนด จะถือว่าผิดกฎหมาย และมีโทษไปถึงนายจ้างด้วย
 
โดยกรณีนายจ้าง จะมีโทษปรับคิดเป็นรายบุคคล ตั้งแต่ 10,000 – 100,000 ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือหากกระทำผิดซ้ำ จะมีโทษปรับ 50,000-200,000 ต่อลูกจ้าง 1 คน ไปจนถึง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามนำเข้าแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี
 
ทำให้นายจ้างที่มีแรงงานเหล่านี้ต้องยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ เพื่อลดปัญหาหรือความยุ่งยากที่จะตามมา
 
อีกทั้งเหตุผลด้านอุปสงค์แรงงาน ที่นายจ้างเลือกแรงงานข้ามชาติมากกว่า เนื่องจากงานจำนวนไม่น้อยเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะเฉพาะ และหาแรงงานคนไทยทำได้ค่อนข้างยาก หรืออาจจะหาได้แต่ต้องจ่ายค่าแรงสูงขึ้น ภายใต้เงื่อนเงื่อนไขการทํางานที่มากขึ้นตาม
 
จึงอธิบายได้ว่า ทำไมทุกวันนี้ยังเกิดปัญหาการลักลอบขนย้ายแรงงาน หรือมีการหลบหนีเข้ามาทำงานกันเป็นจำนวนมากอยู่ เพราะถ้ารัฐ แรงงาน และนายจ้างไม่พูด ก็ไม่มีใครเสียผลประโยชน์
 
แต่เมื่อสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น และประชาชนยังได้รับผลกระทบที่ตามมาอยู่ ความเชื่อเดิมที่ว่า เป็นเรื่องไกลตัว เพราะรู้สึกว่า “พูดไปก็ไม่ช่วยอะไร มีแต่จะนำปัญหาเข้ามาให้” จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป และยิ่งมีวลีจากฝ่ายรัฐบาล ที่บอกให้ประชาชน “เสียสละอีกครั้ง” ย่อมนำไปสู่ความไม่พอใจ เพราะปัญหาที่เกิดจากคนเพียงบางกลุ่ม ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องมาร่วมกันรับผิดชอบ
 
อย่างไรก็ตามการให้แรงงานข้ามชาติไม่ว่าจะถูกกฎหมายหรือไม่ มารายงานตัว ก็คงเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนี้
 
สุดท้ายในระยะยาวภาครัฐจะทำแบบเดิมอีกคงไม่ได้ ควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม สามารถทำให้กระบวนการทำงานมีความยืดหยุ่น ที่จะช่วยดึงแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบทะเบียน หรือสามารถแก้ปัญหาค่าแรงเพื่อดึงแรงงานคนไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ โดยที่นายจ้างยังอยากจะดำเนินกิจการต่อ ซึ่งนำไปสู่ระบบการตรวจสอบที่ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ หากเกิดโรคระบาดที่ต้องติดตามรายชื่อผู้ติดเชื้ออีกครั้ง
 
Advertisements