คิดงานไม่ออก ทำยังไงดี?

2672
หลายครั้งที่เราปล่อยให้พื้นที่สีขาวในหน้าจอโปรแกรม Word มีเพียงเคอร์เซอร์กะพริบถี่รัว โดยไม่มีตัวอักษรสักตัวปรากฏอยู่บนนั้น หรือการนั่งจ้องมองสไลด์ในคีย์โน้ตที่ว่างเปล่า เพราะไร้ไอเดียจะพรีเซนต์
 
อาการ ‘คิดไม่ออก’ เป็นสิ่งที่คนทำงานต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหลายๆ คนก็น่าจะหาวิธีแก้ไขกันอยู่ตลอด ซึ่งช่วง “เจ็ดโมงครึ่ง” ของ Mission Daily Report รายการข่าวเช้าของเรา ‘พี่ปิ๊ก’ ได้พูดถึง วิธีการ “คิดให้ออก” ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
 
“ไม่คิด” กับ “คิดไม่ออก” ไม่เหมือนกัน
 
เราอาจเห็นคนที่คิดเก่งๆ พูดหรือทำอะไรออกมาก็ปังก็ว้าวไปเสียหมด ซึ่งการ “คิดเก่ง” นี้เกิดจากนิสัย บวกกับทักษะการคิด ทำให้เราเห็นว่า คนที่คิดเก่งๆ มักมีนิสัยไม่ชอบอยู่นิ่ง ต้องคิดทำนู่นนี่อยู่ตลอดเวลา เมื่อผสานกับการฝึกฝนทักษะอย่างเหมาะสม ก็ทำให้เป็นคนคิดเก่งขึ้นเรื่อยๆ
 
แต่เราก็อาจจะเจอกับคนที่ “ไม่คิด” คือชอบทำอะไรตามคนอื่นไปเรื่อยๆ ไม่ออกไอเดีย ไม่มีความคิดเห็น ซึ่งการ “ไม่คิด” ก็เป็นนิสัยเช่นกัน ในขณะที่การ “คิดไม่ออก” นั้นต่างออกไป เพราะคนที่คิดไม่ออกคือคนที่พยายามคิดแล้ว แต่คิดไม่ได้ ดังนั้น อาการคิดไม่ออกจึงแก้ไขได้ด้วยการฝึกฝนการคิด และเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อการคิดออก เพื่อรับมือกับอาการนี้
 
วิธีการ “คิดให้ออก” ด้วยการจัดการกับ ‘ปัจจัยภายนอก’
 
1. พาตัวเองไปพบเจอสิ่งแปลกใหม่ หรืออยู่ในสถานที่ใหม่ๆ
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมบางคนนั่งร้านกาแฟแล้วสมองแล่นกว่าอยู่ห้อง ซึ่งการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมจะทำให้สมองได้รับข้อมูลใหม่ๆ จนเกิดไอเดียดีๆ ขึ้นมาได้ แต่ถ้าหากเป็นตอนทำผลงานออกมา อาจจำเป็นต้องอยู่ในที่เดิมๆ ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ เพื่อนำข้อมูลที่มีมาเรียบเรียงอีกที
 
2. พยายามคลุกคลีกับสิ่งที่กำลังคิดอยู่
ลองเข้าใกล้หรือสัมผัสรายละเอียดของสิ่งที่กำลังคิด ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ หรือสถานที่ก็ตาม เราอาจเห็นแง่มุมที่ยังไม่เคยเห็น เพื่อต่อยอดไอเดียของตัวเองได้มากขึ้น
 
3. หาข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายๆ สื่อ
อย่าหยุดตัวเองที่แหล่งความรู้เดียว ถ้าคุณอ่านหนังสือ ให้ลองเพิ่มการค้นหาทางโซเชียลมีเดีย อ่านความคิดเห็นของผู้คน หรือหาภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ดู ก็ช่วยทำให้เราเห็นมุมมองอื่นๆ ได้
 
วิธีการ “คิดให้ออก” ด้วยการจัดการกับ ‘ปัจจัยภายใน’
1. เลือกสิ่งที่อยากรู้อยากทำก่อนเสมอ
ถ้ามีเรื่องที่ต้องคิดหลายเรื่อง ให้หยิบเรื่องที่สนใจที่สุด หรืออยากรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นที่สุดมาก่อน แล้วความชอบจะผลักดันให้เราศึกษาหาข้อมูล และพยายามคิดให้ได้
 
2. มองภาพใหญ่ หรือนึกถึงฉากจบของสิ่งนั้นให้ได้
เวลาคิดงาน ให้คิดถึงตอนจบของเรื่อง คิดถึงความสำเร็จที่เราต้องการ จากนั้นให้คิด Reverse กลับมาถึงเส้นทางไปสู่สิ่งนั้น อาจพยายามฝึกการคิดรีเวิร์ส ด้วยการลองนำความสำเร็จของคนอื่นมาคิดกลับดูว่าเขาสำเร็จได้อย่างไร
 
3. เชื่อมโยงสิ่งที่อยากรู้หลายๆ เรื่องเข้าด้วยกัน
เราอาจเคยได้ยินคำว่า Connect The Dot กันมาบ้าง การคิดเชื่อมโยงจากเรื่องหนึ่งสู่เรื่องหนึ่งก็เป็นการเชื่อมต่อจุดเช่นกัน พยายามหาความเชื่อมโยง ผลักดันความคิดให้ออกมาด้วยการเชื่อมต่อความรู้ที่หาไว้หรือความรู้ที่มีให้มากที่สุด
 
4. ถ่ายทอดสิ่งที่คิดให้คนอื่นฟังเพื่อรับฟีดแบ็ก
สิ่งที่เราคิดอาจไม่ได้ครบรอบด้าน ลองเล่าให้คนอื่นๆ ฟังถึงสิ่งที่เรากำลังคิด แล้วให้คนฟังลองฟีดแบ็กดูว่าเขาเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ไหม หรือมีคำถามอะไรเพิ่มเติม เพื่อให้เราอุดจุดด้อยในส่วนนั้นที่เราอาจมองไม่เห็น
 
5. ขยันตั้งคำถามกับหลายๆ คน
วิธีพัฒนาความคิดอย่างหนึ่งก็คือ การถาม ถ้าคุณมีเพื่อนรอบๆ ตัว ลองตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังคิด และลองฟังคำตอบจากคนที่เราถาม โดยเลือกถามคนที่หลากหลาย มาจากคนละอาชีพหรือสังคม เพื่อให้ได้คำตอบหลายๆ มุม เปิดมุมมองให้มากขึ้น
 
6. จดไอเดียที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้
ทุกครั้งที่พยายามคิด พูดคุย หรือหาความรู้ อย่าปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปเฉยๆ พยายามจดไอเดียเอาไว้ เพื่อนำไปใช้ต่อ บางไอเดียอาจยังไม่สามารถแก้ปัญหาในวันนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไร้ประโยชน์ตลอดไป ดังนั้น จงเตรียมพร้อมที่จะจดไอเดียเสมอ
 
อย่างไรก็ตาม การคิดเก่งหรือคิดได้นั้น ไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะเก่งหรือประสบความสำเร็จกว่าคนอื่น เพราะคนที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า คือคนที่เปลี่ยนความคิดนั้นให้กลายเป็นจริง ด้วยการลงมือทำ
 
 
ฟังเรื่อง “ทำไมบางคนคิดเก่ง บางคนคิดไม่ค่อยออก | เจ็ดโมงครึ่ง” ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=mouhBcGs0y4
 
 
Advertisements