ขี้เกียจ (ให้พอดี) นั้นมีประโยชน์! เพราะความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้เมื่อเราหยุดพัก

587
ความขี้เกียจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้สำหรับทุกคน แต่ทุกครั้งที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ หลายคนมักมองความขี้เกียจในแง่ร้าย บ้างว่าสร้างนิสัยไม่ดี บ้างว่าทำลายประสิทธิภาพในการทำงาน และอีกมากมาย แต่รู้หรือไม่ว่าคนเก่งระดับโลกหลายคน เช่น ‘ว็อล์ฟกัง อมาเดอุส โมทซาร์ท’ ก็มีช่วงขี้เกียจเหมือนกัน โมทซาร์ทอธิบายไว้ว่า เขาแต่งทำนองเพลงใหม่ๆ ได้จากการรับประทานอาหาร ออกไปเดินเล่น หรือแม้ตอนกำลังจะเข้านอน
 
แม้แต่นักเขียนระดับโลกอย่าง ‘อกาธา คริสตี’ ยังเขียนในอัตชีวประวัติของเธอว่า ไอเดียในการเขียนนิยายของเธอนั้นมักผุดขึ้นในเวลาที่เธออาบน้ำ
“สำหรับฉันแล้ว ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นเมื่อเราอยู่เฉยๆ บางครั้งก็มาจากความขี้เกียจเสียด้วยซ้ำ” คริสตีกล่าว
 
นักจิตวิทยาหลายท่านนั้นดูจะเห็นด้วยกับแนวคิดของทั้งสอง เพราะงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การขี้เกียจ “ในระดับที่พอดี” ช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมื่อเราเลิกสนใจงานตรงหน้าแล้วไปทำอย่างอื่น สมองจะมีเวลา “ประมวลผล” และ “บ่มเพาะความคิด” สำหรับงานชิ้นก่อนหน้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น
 
 
ความคิดนั้นต้องใช้เวลาบ่มเพาะ
 
นั่งคิดหลายตลบแต่ยังแก้ปัญหาไม่ตก ทว่าพอหยุดทำไปสักพัก บางครั้งจู่ๆ วิธีแก้ก็พุ่งพรวดขึ้นมา นั่นเป็นเพราะสมองยังคงคิดเกี่ยวกับทำงานที่ทำก่อนหน้าโดยที่เราไม่รู้ตัว แม้จะหยุดทำงานตรงหน้าแล้วผละไปทำอย่างอื่นก็ตาม สิ่งนี้คือ “การบ่มเพาะของความคิด”
 
เหตุใดความคิดถึงผุดขึ้นเมื่อเราหยุดทำงานตรงหน้า? เพราะการจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างนั้นเป็นการบังคับสมองให้มองภาพหรือวิธีการในมุมเดียว การหยุดจดจ่อกับสิ่งเดิมและหันเหไปทำสิ่งอื่นช่วยให้สมองเกิดการเปิดกว้างทางความคิด การบ่มเพาะจะเกิดได้ดีที่สุดเมื่อเราทำสิ่งอื่นๆ ที่ง่าย แต่เราชื่นชอบหรือสนใจ
 
‘Benjamin Baird’ นักจิตวิทยาและทีมงานได้ทำงานการทดลองในปี 2012 โดยแบ่งอาสาสมัครเป็นสามกลุ่ม เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายไประยะหนึ่ง กลุ่มแรกจะได้พักผ่อนไม่ต้องทำอะไร กลุ่มที่สองจะได้ทำงานเล็กน้อยที่ง่าย ขณะที่กลุ่มสุดท้ายจะต้องทำงานอีกชิ้นที่ยากกว่าชิ้นแรก ซึ่งทั้งสามกลุ่มจะมีเวลาทำงานทั้งหมด 12 นาที แล้วจะต้องกลับไปทำงานชิ้นแรก
 
ผลการทดลองพบว่า หลังจากกลุ่มที่สองได้ทำงานง่ายๆ นั้น ระดับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาสำหรับงานชิ้นแรกเพิ่มขึ้นถึง 40% ขณะที่กลุ่มแรกและกลุ่มสามนั้นระดับความคิดสร้างสรรค์แทบไม่เพิ่มขึ้นเลย
 
Baird จึงสรุปว่า การหันเหความสนใจจากงานหลักไปทำงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ยากมากจะช่วยให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เพราะสมองได้มีเวลาบ่มเพาะความคิดนั่นเอง
 
 
เอ้อระเหยสักนิดช่วยให้งานออกมาดี
 
ศาสตราจารย์ ‘Jihae Shin’ และ ‘Adam Grant’ ทำการศึกษาวิจัยโดยให้อาสาสมัครคิดแผนงานว่า หากมีเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ พวกเขาจะเปิดบริษัทได้อย่างไร ในระหว่างทำแผนงานนั้นอาสาสมัครสามารถผ่อนคลายด้วยการเปิดวิดีโอรายการทอล์กโชว์ที่ Shin และ Grant เตรียมไว้ให้
 
ผลการทดลองพบว่า กลุ่มที่ดูรายการทอล์กโชว์ระหว่างพักนั้นจะคิดไอเดียใหม่ๆ ออกมาได้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ และเมื่อไปสอบถามพนักงานและผู้บริหารจากบริษัทรับออกแบบในเกาหลีใต้เกี่ยวกับพฤติกรรมการทำงาน พบว่าพนักงานที่พักผ่อนหรือเอ้อระเหยบ้างในระหว่างทำงานนั้นมีไอเดียที่หลากหลายมากกว่าพนักงานที่มุ่งทำแต่งานเพียงอย่างเดียว
 
 
แล้วจะฆ่าเวลาอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
 
เมื่อไหร่ที่เราคิดจะพัก เส้นตายหรือกำหนดส่งงานก็มักจะลอยขึ้นมาจนเราไม่กล้าหยุดทำงาน แต่อย่างที่กล่าวไปว่าการผละจากงานหลักไปทำอย่างอื่นนั้น ช่วยให้สมองเรามีเวลาบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น เราจึงไม่ควรจะรู้สึกแย่แต่อย่างใดหากจะพักผ่อนสักนิดเพื่อให้ได้งานที่ดีกว่าเดิม
 
แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าต้องทำอะไรถึงจะช่วยบ่มเพาะความคิด “การเดิน” อาจเป็นทางเลือกที่ดี งานวิจัยของ ‘Marily Oppezzo’ และ ‘Daniel Schwartz’ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า การเดินไม่ว่าจะในที่ร่มหรือที่แจ้งนั้น ช่วยให้สมองกลับมาสดชื่นและทำให้แนวคิดมีความหลากหลายมากขึ้น
 
ทว่าปัญหาอีกประการหนึ่งคือ การจะเดินหรือออกกำลังกายนั้นจำเป็นต้องมีพื้นที่มากในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะสามารถจัดหาพื้นที่เหล่านั้นให้กับพนักงานได้ อีกทั้งในปัจจุบันการทำงานแบบ Work From Home ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
 
แต่ใช่ว่าปัญหานี้จะไม่มีทางแก้ บริษัทอาจจะกำหนดชั่วโมงพักระหว่างทำงานให้พนักงาน หรือหากเป็นไปได้ ลองปรับปรุงออฟฟิศให้เหมาะแก่การทำงานและพักผ่อนไปพร้อมๆ กัน ก็จะเป็นการช่วยให้พนักงานไม่เครียดเกินไป และยังเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยเช่นกัน
 
 
ในยุคปัจจุบันที่การทำงานนั้นหลอมรวมกับการใช้ชีวิต และการแข่งขันพุ่งสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ แม้เราจำเป็นจะต้องพัฒนาคุณภาพของงานและศักยภาพขององค์กรขนาดไหน ก็อย่าลืมว่า ลูกทีมและพนักงานคือฟันเฟืองสำคัญ การที่เราได้พักจากโลกที่เร่งรีบบ้างนั้นส่งผลดีกว่าการตะบี้ตะบันทำโดยไม่หยุดพัก ขนาดเครื่องจักรยังต้องพักเครื่อง มนุษย์อย่างเราก็ต้องพักร่างกายบ้างเช่นกัน
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
 
 
Advertisements