การบอกให้อดทนและขยันต่อไปเรื่อยๆ อาจ “ไม่ใช่หนทางเดียว” สู่ความสำเร็จ

505
โลกที่เต็มไปด้วยกระแสแห่งความเป็นคนโปรดักทีฟ จนทำให้หลายๆ คนน่าจะเคยมี “ความรู้สึกผิด” ที่ไม่ได้ทำงานหรือทำอะไรสักอย่างที่สามารถช่วยให้การงานของตัวเองก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นได้
 
ซึ่งนั่นเป็นเพราะรูปแบบทางสังคมที่กำลังบีบบังคับเราเกินไปหรือเปล่า?
 
จากงานวิจัย Conspicuous Consumption of Time: When Busyness and Lack of Leisure Time Become a Status Symbol ในปี 2016 พบว่า ปัจจุบันคนอเมริกันที่ทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอด ไม่มีเวลาว่าง มักถูกมองเป็นคนพิเศษ เป็นคนที่มีสถานะทางสังคมสูงกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่าคนทั่วไป
 
ยิ่งคนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมาก มักมาจากการกวดขันตัวเองให้ทำงานหนักและมีชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่าคนอื่นๆ ก็ยิ่งไปสร้างอุดมคติให้คนอเมริกันเชื่อสนิทใจว่า “ความสำเร็จ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความบากบั่นพยายามอย่างเต็มที่”
 
แต่ถึงแม้ความเชื่อเรื่องการทำตัวให้ยุ่ง จนไม่มีเวลาว่าง หรือการพยายามกวดขันตัวเองให้ทำงานหนักของชาวอเมริกันจะมีความสัมพันธ์กับสถานะทางสังคมที่สูงขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าอุดมคติดังกล่าวจะต้องเป็นรูปแบบเดียวกันกับคนทั่วโลก โดยเฉพาะกับชาวอิตาลีที่ดูเหมือนจะ “ตรงกันข้าม” กันเลย
 
เนื่องจากคนอิตาลีจำนวนมาก ให้สถานะทางสังคมที่สูงกับคนที่มีวิถีชีวิตการทำงานแบบสบายๆ มากกว่าคนที่ทำตัวยุ่งวุ่นวายอยู่ตลอด
 
และถ้าถามว่า “อะไรคือสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความเชื่อที่แตกต่างกันนี้?”
 
คำตอบคือ การรับรู้ถึงการขยับขยายทางสังคม (Perceived Social mobility)
 
ในสหรัฐอเมริกา สถานะที่ได้รับมีอิทธิพลอย่างมากต่อการรับรู้สถานะโดยรวม ชาวอเมริกันเชื่อว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความพยายามของแต่ละบุคคล และความพยายามนั้นสามารถเคลื่อนย้ายผู้คนขึ้นไปสู่สถานะทางสังคมที่ดีกว่าได้ ในขณะที่คนในฝั่งยุโรปเชื่อว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในสังคมที่ยากจะขยับฐานะ หรือการ “ติดอยู่” ในชนชั้นทางสังคมดั้งเดิมของพวกเขาเอง
 
และด้วยการรับรู้ถึงการขยับฐานะทางสังคมที่แตกต่างกันนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอิตาลี ซึ่งรวมไปถึงผู้คนชาวยุโรปจำนวนมากจะให้ความสำคัญกับเวลาว่างเทียบเท่าหรือมากกว่าเวลาทำงานด้วยซ้ำ
 
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าปัจจัยหรือรูปแบบทางสังคมที่ต่างกัน มีผลต่อความเชื่อด้านการทำงานที่ต่างกัน แม้จะเป็นคนที่อยู่ในประเทศพัฒนาเหมือนๆ กัน
 
ซึ่งหากถามต่อว่า แล้วสภาพสังคมของประเทศไทยล่ะ คนส่วนใหญ่เชื่อแบบไหน?
 
แม้เราจะยังหางานวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมไม่ได้ แต่ในยุคสมัยของคนรุ่นใหม่ เราเชื่อว่าคำตอบที่ดูจะเหมาะสมไม่ว่าในสภาพทางสังคมรูปแบบใด ก็คือ การใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ทั้ง Work Hard และ Play Hard
 
แน่นอนว่าอุปสรรคก็คงหนีไม่พ้นที่หลายๆ องค์กรในปัจจุบันบีบบังคับให้เราเป็น (สวนทางกับความคิด) ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม อย่าง การ Work Hard จนไม่มีเวลา Play Hard ที่สะท้อนได้จากชั่วโมงการเรียน รวมไปถึงชั่วโมงการทำงานในปีที่ผ่านๆ มาของไทย สูงเกินค่ามาตรฐานโลกค่อนข้างมาก
 
เรื่องของการบอกให้อดทนและขยันต่อไปเรื่อยๆ ถึงจะประสบความสำเร็จ จึงแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะหลายๆ คนก็คงกำลังทำอยู่
 
แต่ด้วยรูปแบบการทำงานจริงกับความคิดที่อยากประสบความสำเร็จของพวกเขาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันนี้ หากยังเป็นแบบนี้อยู่ก็คงยากที่จะทำให้คนโปรดักทีฟไปได้ตลอด ยากที่จะจัดสรรเวลา จัดการตัวเองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์หรือทำในสิ่งใหม่ๆ เพื่อประสิทธิผลกับงาน หรืออาจถึงขั้นเบิร์นเอาท์จนกู้กลับมาไม่ได้
 
ดังนั้น การเข้าใจสภาพสังคม และมี Work-Life Flow หรือการปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ไหลไปตามจังหวะของชีวิต โดยไม่ไปบีบคั้นให้อยู่แต่การแบ่งว่าในแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละวันจะต้องทำอะไรบ้างอาจเป็นคำตอบที่เป็นไปได้ที่สุดสำหรับบทความนี้
 
 
แปลและเรียบเรียงจาก:
หนังสือ It Doesn’t Have to Be Crazy at Work แต่งโดย Jason Fried และ David Heinemeier Hansson
 
 
Advertisements