การบริหารงานแบบยืดหยุ่น ในโลกความผันผวนสูง

1043
หนึ่งในบุคคลที่ผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์แล้วประทับใจมากที่สุดคือ คุณซิกเว่ เบรกเก้ CEO ของ Telenor Group และสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในการสัมภาษณ์ครั้งนี้คือ เรื่องหลักการบริหารแบบ Trust based leadership
คุณซิกเว่บอกว่าผู้นำที่แข็งแกร่งที่สุดคือ ผู้นำที่ลูกทีมมีความสามารถหลากหลายอยู่รอบตัว โดยแต่ละคนนั้นมีความสามารถหรือความรู้แต่ละหัวข้อดีกว่าตัวผู้นำเอง คุณซิกเว่ยังบอกอีกว่า ในโลกที่ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงมากเช่นนี้ สภาวะผู้นำ Leadership จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
นั่นคือ คุณต้องมี Leadership ที่อยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจ (Trust based leadership)
ซึ่ง Trust based leadership คือ สิ่งที่คุณซิกเว่อธิบายต่อว่าเป็นการบริหารแบบ Tight – Loose – Tight (แน่น – หลวม – แน่น)
 
#Tight
Tight แรกคือ Tight ของการทำ Expectation หรือการคาดหวัง
การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนฟังดูเหมือนจะง่าย แต่ไม่ง่ายเลย
เพราะ Expectation ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวเลข แต่บางอย่างอาจเป็นนามธรรมซึ่งถือว่าวัดได้ยากมากๆ
 
รวมไปถึงความจริงที่ว่า Expectation ต้องมีองค์ประกอบของ “เหตุผล” ที่แข็งแรง ว่าเราทำไปทำไม รวมไปถึงการต้องมีแรงขับเคลื่อนบางอย่างซ่อนอยู่ด้วย เช่น Underdog spirit หรือ ความฝันอันแรงกล้าที่จะเติบโตและพัฒนา เป็นต้น
Expectation ขององค์กรนั้นคล้ายกับการเข้าใจตัวเองว่า เราชอบหรือไม่ชอบอะไร เพราะอะไรเราถึงชอบในสิ่งนั้น รวมถึงความเข้าใจตัวเองว่าเราเก่งหรือไม่เก่งเรื่องอะไร อะไรทำให้เรามีความสุขจริงๆ
 
การวาง Expectation จึงเหมือนกับเข็มทิศเพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าต้องไปทางไหน และอะไรคือ เรื่องสำคัญที่ต้องใช้เวลากับมันเยอะ อะไรคือ เรื่องไม่สำคัญที่เราจำเป็นต้องปล่อยผ่านได้ เป็นต้น
ถ้าทุกคนเข้าใจตรงกัน จะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพขึ้นเยอะมาก
 
Loose คือ วิธีการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์และมีการทดลองอยู่เสมอ
 
หนึ่งในสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่คนทำงานส่วนใหญ่อยากได้คือ ความสามารถในการบริหารจัดการและเป็นเจ้าของงานนั้นเองได้ มีอิสรภาพในการออกแบบวิธีการทำงานของตัวเองได้
 
จริงๆ คุณซิกเว่กล่าวรวมเรื่องนี้กับเรื่องความยืดหยุ่นของเวลาทำงานและสถานที่ทำงานด้วย สั้นๆ คือ มี Autonomy หรือ อิสรภาพการทำงานนั่นเอง
 
เรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะในฐานะผู้นำบางครั้งเราต้องยอมให้คนล้มเหลว ยอมให้เกิดการทดลองขึ้น และยอมให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นเช่นกัน
 
สิ่งที่คุณซิกเว่บอกคือ แต่ละทีม ถ้ามีสมาชิกในทีมที่เก่งกว่าหัวหน้าในหน้าที่ที่เขาต้องรับผิดชอบ และปล่อยให้แต่ละคนแสดงฝีมือกันเอง โดยหัวหน้าทีมมีหน้าที่โค้ช นั่นเป็นการบริหารจัดการการทำงานที่ดีที่สุด
 
ถ้าลองนึกภาพตาม CFO ผู้บริหารด้านการเงิน ก็ควรจะเก่งเรื่องการเงินกว่า CEO หรือ CTO ผู้บริหารด้านเทคโนโลยี ก็ควรจะเก่งเรื่องเทคโนโลยีมากกว่า CEO, COO ผู้บริหารด้านการลงทุน ควรเก่ง Operations มากกว่า CEO และ CMO ผู้บริหารด้านฝ่ายการตลาด ก็ควรเก่ง Marketing มากกว่า CEO เป็นต้น
 
หน้าที่ของ CEO คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนในทีมเก่งขึ้นเรื่อยๆ และทำงานของตัวเองได้ดีที่สุด โดยช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ ออกไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น การให้ “พื้นที่” ในการทำงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ
 
Tight สุดท้ายคือ การติดตามวัดผล ตัวผู้นำต้องเข้าใจการติดตามงานที่ดี มีการวัดผลที่ดี และให้ Feedback ที่ดี มีการวัดความก้าวหน้าของงานอย่างเป็นระบบ มีการ Feedback ทั้งสองทางเพื่อให้การทำงานดีขึ้นเสมอ การ Feedback เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ สำหรับการพัฒนาทั้งลูกทีมและหัวหน้าทีม
 
ซึ่งความซับซ้อนของมันจะอยู่ตรงที่ บางอย่างเป็นเรื่องสำคัญแต่วัดผลยาก เช่น วัฒนธรรมองค์กร การวัดผลองค์กรจึงเป็นเหมือนทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่ง
 
คุณซิกเว่บอกว่าคอนเซปต์นี้ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อนแต่เอาเข้าจริงๆ ทำไม่ง่ายนัก เพราะมีผู้นำหลายคนทำงานแบบ Tight-Tight-Tight
 
พวกเขาทั้งเข้มงวดว่าต้องทำอะไร เข้มงวดที่วิธีการและเข้มงวดที่การติดตาม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะทำให้ผลที่ออมาไม่ค่อยดีเท่าไร
 
และก็มีผู้นำหลายคนที่เป็นแบบ Loose-Loose-Loose
 
พวกเขาไม่บอกให้ชัดเจนว่าต้องทำอะไร ปล่อยให้ทำกันแบบไม่มีทิศทาง แล้วก็ไม่ติดตามผลด้วย เรียกว่าปล่อยตามมีตามเกิด
 
อันนี้คุณซิกเว่ไม่ได้พูดแต่หัวหน้าอีกแบบที่แย่พอกันคือ Loose-Tight-Loose คือ ตัวหัวหน้าเอง ยังไม่รู้ความต้องการของตัวเอง แต่กลับเข้มงวดกับกระบวนการทำงานมากๆ และไม่สามารถ
 
ติดตามผลได้และไม่รู้จะวัดผลอย่างไร เพราะโจทย์ความต้องการไม่ชัดเจนตั้งแต่เริ่ม
 
สำหรับคุณซิกเว่ Trust based leadership นี้จึงสำคัญมากกับการบริหารจัดการในยุคที่อนาคตมีความผันผวนสูงเช่นนี้
 
ปีหน้าผมมีคาถาบริหารองค์กรสองอย่าง อันแรกคือ “ทำงานเสร็จ ไม่เท่ากับทำงานสำเร็จ เราต้องทำงานให้สำเร็จเสมอ”
 
อันที่สองคือ Tight-Loose-Tight จากคุณซิกเว่
 
รู้สึกขอบคุณมากที่ได้เรียนรู้ข้อคิดอันเฉียบคมนี้ เพื่อเอาไว้เตือนตัวเองเสมอเมื่อจะวางแผนกลยุทธ์องค์กร
 
ซึ่งเรื่องนี้ของคุณซิกเว่ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของอดีตประธานาธิบดี โรแนลด์ เรแกน ที่ว่า
 
“The greatest leader is not necessarily the one who does the greatest things. He is the one that gets the people to do the greatest things.” – Ronald Reagan
 
“หัวหน้าที่ยอดเยี่ยมที่สุดไม่จำเป็นต้องทำเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากๆ แต่เขาเป็นคนที่สามารถทำให้คนอื่นทำเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากๆ ได้ต่างหาก”
Advertisements