เพราะรู้สึกผิดจึง “ขอโทษ” แต่เหตุใดเราถึงต้องขอโทษและชดเชยให้กับ “ความผิดของคนรุ่นก่อน”

778
เชื่อว่าหลายคนที่อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือฟังพอดแคสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ อย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือการกระทำที่ไร้ซึ่งมนุษยธรรมกับเพื่อนร่วมโลก จะต้องมีอารมณ์ร่วม หรือเกิดความรู้สึกสะเทือนใจกับผู้ที่ต้องสูญเสียกันบ้าง และคงคิดว่าไม่มีสิ่งใดมาชดใช้ความผิดที่พวกเขากระทำได้เท่ากับคำขอโทษ
 
แต่เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดคำขอโทษ ถึงต้องตกเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเรา ทั้งที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรจากการกระทำอันโหดร้ายทางประวัติศาสตร์เหล่านั้นเลย
 
จากหนังสือชื่อ Justice: What’s the Right Thing to Do? ที่เขียนโดย Michael J. Sandel ได้พาเราไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการขอโทษ และชวนให้ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอดีต
 
เมื่อพูดถึงการขอโทษที่สร้างอิมแพคให้กับสังคม ก็ต้องยึดโยงกับการเมือง ซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
 
ยกตัวอย่าง เยอรมนี ชาติที่แพ้สงคราม ต้องจ่ายเงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อเป็นค่าชดใช้ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ทั้งในรูปแบบเงินชดเชยรายบุคคลแก่ผู้รอดชีวิต และค่าชดเชยกับประเทศอิสราเอล ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาผู้นำทางการเมืองของเยอรมันหลายคนก็ได้ออกมากล่าวคำขอโทษ ยอมรับในความผิดของนาซีในระดับที่แตกต่างกัน
 
เช่น จากสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีคอนราด อาเดนาเออร์ ในปี 1951 อ้างว่า “คนเยอรมันเกือบทั้งประเทศชิงชังอาชญกรรมที่กระทำต่อชาวยิว และไม่ได้มีส่วนร่วมในอาชญากรรมนั้น” แต่เขาก็ยอมรับว่า “อาชญากรรมอันเลวร้ายได้ถูกกระทำในนามของชาวเยอรมัน จึงสมควรแล้วที่ชาวเยอรมันจะชดใช้ทั้งทางศีลธรรมและวัตถุ” หรือสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโยฮันน์ ราว ที่กล่าวต่อหน้ารัฐสภาอิสราเอล ในปี 2000 ซึ่งได้วิงวอนขอให้อภัยต่อสิ่งที่เยอรมันกระทำลงไป
 
ต่างจากญี่ปุ่นที่มีความลังเลมากกว่าเยอรมัน โดยในช่วงสงคราม (ทศวรรษที่ 1930 ถึง 1940) กองทหารญี่ปุ่นได้มีการบังคับขืนใจผู้หญิงชาวเกาหลีและชาติเอเชียอื่นๆ ให้มาเป็น “ทาสบำเรอกาม” ทำให้ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากนานาประเทศให้ออกมากล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ และชดเชยให้กับเหยื่อเหล่านั้น
 
แม้ญี่ปุ่นจะออกมาขอโทษต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบในสงคราม แต่ความจริงที่ว่าญี่ปุ่นใช้เวลามากมายในการปฏิเสธ (มากยิ่งกว่าความพยายามในการขอโทษ) ทำให้คำขอโทษนั้นไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไรนัก
 
ส่วนประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ วิวาทะว่าด้วยการขอโทษที่เป็นทางการ รวมไปถึงการชดเชย ก็ถือได้ว่าเพิ่งมาเป็นกระแสสังคมได้ไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น ในปี 1993 สภาคองเกรสได้ออกมากล่าวขอโทษต่อความผิดในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้นได้กระทำการบุกรุกและครอบครองอาณาจักรฮาวายอิสระ
 
หรือจากความกระอักกระอ่วนใจของชาวอเมริกันผิวขาวในประเด็นของ “การค้าทาส” กับสัญญาสมัยสงครามกลางเมืองอเมริกาที่ว่า ทาสทุกคนที่เป็นไทจะได้รับ “ที่ดิน 100 ไร่กับล่อ 1 ตัว” แม้จะไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ในปี 2007 เป็นต้นมา หลายรัฐที่เคยค้าทาสก็ได้ขอโทษอย่างเป็นทางการ หรือในปี 2008 รัฐสภาสหรัฐฯ ก็ลงมติให้ขอโทษชาวแอฟริกันอเมริกันสำหรับการค้าทาสและยุคแบ่งแยกสีผิว
 
จากที่กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้น การที่ประเทศต่างๆ ต้องออกมาขอโทษต่อความผิดพลาดของบรรพบุรุษในอดีตยังคงเป็นที่ถกเถียงเรื่อยมา
 
แต่ข้อถกเถียงที่น่าสนใจ เป็นของแนวคิดปัจเจกนิยมที่ว่า คนรุ่นปัจจุบันไม่ควรขอโทษสำหรับความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ (โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่เราจะเกิด) เพราะการขอโทษเป็นการแสดงความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง
 
หรือถ้าจะขอโทษมันต้องเป็นผลมาจากการกระทำของเรา ไม่ใช่ของคนอื่น หรือเหตุการณ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา เราไถ่บาปให้บิดามารดา ปู่ย่าตายาย หรือเพื่อนร่วมชาติของเราไม่ได้ เว้นแต่เราเคยไปสัญญากับปู่ย่าตายายเองว่า จะไปขอขมาแทนบาปที่พวกเขาเคยกระทำไว้
 
อีกทั้งการที่ยิ่งออกมาขอโทษและชดเชย (ถ้าเกิดจากแรงกดดันมากกว่าความจริงใจ) ก็เหมือนเป็นการโหมกระพือความเกลียดชังในอดีตที่กำลังจะดับ ก่อให้เกิดความอาฆาตแค้นฟังลึกยิ่งขึ้น ทำให้ความเป็นเหยื่อฝังแน่นมากขึ้น
 
อย่างในสหรัฐฯ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ก็เคยมีการพูดถึงประเด็นค้าทาสที่ว่า “ผมไม่เคยมีทาส ไม่เคยกดขี่ใคร ผมไม่รู้ว่าทำไมถึงต้องจ่ายชดเชยแทนคนที่เคยเป็นเจ้าของทาสหลายชั่วอายุคนก่อนผมเกิด” หรือ วอลเตอร์ อี. วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวแอฟริกันอเมริกันก็ได้แสดงทัศนคติคล้ายกันว่า “ถ้าหากรัฐบาลเอาเงินมาจากนางฟ้าหรือซานตาคลอส นั่นก็เยี่ยมเลย แต่รัฐต้องเอาเงินจากประชาชน ไม่มีประชาชนคนไหนที่มีชีวิตอยู่ในวันนี้ใช้แรงงานทาส”
 
ส่วนในอีกแง่มุมหนึ่งที่มีน้ำหนักไม่แพ้กัน กับเหตุผลที่ว่า แม้คำขอโทษอย่างเป็นทางการจะไม่สามารถลบล้างความผิดที่กระทำไว้ได้ แต่ในท่าทีสาธารณะ สิ่งเหล่านี้ก็พอจะช่วยรักษาบาดแผลของอดีต ช่วยสร้างรากฐานให้แก่การปรองดองทางศีลธรรมและทางการเมืองได้ ส่วนค่าชดเชยและการเยียวยาก็คือรูปธรรมของการขอโทษและไถ่บาปอย่างหนึ่ง รวมไปถึงช่วยบรรเทาผลกระทบของความอยุติธรรมที่มีต่อเหยี่ยและลูกหลานของพวกเขาด้วย
 
ซึ่งหากจะพูดว่า เป้าหมายสูงสุดของคำขอโทษคือการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้กับสังคม ก็คงไม่ใช่สิ่งเกินจริงเท่าไร
 
หรือหากมองในแง่ของพันธะ เราอาจมีพันธะพิเศษบางอย่างต่อเพื่อนร่วมชุมชนเฉพาะถิ่นที่เราอาศัยอยู่ และก็อาจมีพันธะพิเศษบางอย่างต่อคนอื่นที่ชุมชนของตนไปมีประวัติศาสตร์ร่วม ประวัติศาสตร์ที่ติดชะงักทางศีลธรรมเฉกเช่นความสัมพันธ์ระหว่างชาวเยอรมันกับชาวยิว ชาวญี่ปุ่นกับชาติเอเชีย หรือชาวอเมริกันผิวขาวกับชาวแอฟริกันอเมริกา
 
ทำให้การขอโทษรวมหมู่และการชดใช้สำหรับความอยุติธรรมในอดีตถือเป็นตัวอย่างที่ดีของกรณีพันธะแห่งความสามัคคี สร้างความรับผิดชอบทางศีลธรรมของชุมชนที่อยู่นอกชุมชนของเรา
 
อีกทั้งในแง่ของจริยธรรมของความภูมิใจและละอายแก่ใจ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความรับผิดชอบรวมหมู่ หากเราเชื่อและยืนยันว่าตัวเราในฐานะปัจเจกจะรับผิดชอบเฉพาะการกระทำของตัวเองเท่านั้น แล้วเราจะอธิบายความรู้สึกภูมิใจในประวัติศาสตร์และความสำเร็จของประเทศตนได้อย่างไร?
 
แล้วคุณล่ะ คิดว่าคนในยุคปัจจุบัน ควรต้องขอโทษหรือร่วมรับผิดชอบกับการกระทำของคนในอดีตหรือไม่ ลองมาแชร์ความคิดเห็นกัน
 
เรียบเรียงจาก : หนังสือ JUSTICE: What’s the Right Thing to Do? เขียนโดย Michael J. Sandel (แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล)
 
 
Advertisements