หรือการทำงานกับคน “โหด” จะช่วยให้เราแอคทีฟขึ้น?

651
“ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”
 
เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่เด็กๆ เรื่องราววัฏจักรของสัตว์สองขนาดที่ต่างฝ่ายต่างขวนขวายเอาตัวรอด แต่ท้ายที่สุดแล้ว มีเพียงผู้แข็งแกร่งเท่านั้นที่จะยืนอยู่ได้ในทุกวงการ
 
“ทฤษฎีปลาฉลาม” ที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ ก็มีส่วนคล้ายกับเรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็กเช่นกัน โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เริ่มจากประเทศญี่ปุ่น ดินแดนปลาดิบที่หลายคนโปรดปราน
 
ญี่ปุ่น เป็นชาติหนึ่งที่รักการกินปลาเป็นชีวิตจิตใจ โดยเฉพาะปลาสดๆ จากท้องทะเล จะเป็นที่ต้องการ และสามารถขายได้ราคาสูง นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังใส่ใจคุณภาพของเนื้อปลาอย่างมาก โดยจะคอยแยกคุณภาพระหว่างปลาเป็น และปลาตายอยู่เสมอ ทำให้ชาวประมงต้องพยายามหาวิธีจับปลาสดกลับมาขายให้ได้มากที่สุด
 
แต่ปัญหา คือ เวลาที่ชาวประมงออกเรือไปหาปลา ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ ทำให้ปลาที่จับได้ตั้งแต่วันแรกๆ ไม่สด และต้องแช่แข็งเอาไว้ แม้สุดท้ายแล้วจะรู้ว่าได้ราคาต่ำก็ตาม
 
วันหนึ่ง มีคนปิ๊งไอเดียสุดล้ำที่จะช่วยให้สามารถจับปลาเป็นๆ กลับไปยังฝั่งได้ แม้ว่าจะออกเรือเป็นเวลานานก็ตาม โดยให้ชาวประมงสูบน้ำเข้ามาใส่ไว้ใต้ท้องเรือ จากนั้นเอาปลาที่จับมาได้ปล่อยไว้ในนั้น รอเวลานำไปขายเมื่อถึงฝั่ง
 
ดูเหมือนนี่จะเป็นความคิดที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันกลับไปไม่เป็นอย่างที่หวัง แม้ว่าปลาจะยังสดอยู่ แต่เมื่อนำไปปรุงอาหาร รสชาติที่ออกมาก็ยังไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น แทนที่จะขายได้ในราคาดี กลับถูกกดราคาให้ต่ำลงไปอีกซะงั้น
 
ส่วนเหตุผลที่ปลารสชาติไม่ดี ก็เป็นเพราะว่าปลาที่จับมา ถูกขังอยู่ใต้ท้องเรือเป็นเวลาหลายวัน ทำให้พวกมันขี้เกียจว่ายน้ำ เอื่อยเฉื่อย ลอยวนไปมา เนื้อปลาจึงไม่แน่นเหมือนปลาที่จับสดๆ จากท้องทะเล
 
แล้วแบบนี้ควรทำยังไงดี…?
 
หลังมีการครุ่นคิดอยู่นาน ว่าจะทำยังไงให้ปลาที่ถูกขังไว้ขยันว่ายน้ำเหมือนตอนอยู่ในทะเล ก็มีคนเสนอว่าให้ปล่อย “ปลาฉลาม” ลงไปใต้ท้องเรือ เพื่อให้ค่อยไล่กินปลาตัวเล็กตัวน้อย
 
ใช่… ปลาฉลามใต้ท้องเรือ!
 
แม้จะฟังดูเป็นความคิดที่แปลกประหลาด แต่ปรากฏว่ามันให้ผลลัพธ์ที่ดีมาก​! เพราะเหล่าปลาตัวน้อยๆ ต่างพยายามว่ายน้ำเพื่อหนีจากการเป็นเหยื่อของฉลาม แม้ว่าวิธีนี้จะทำให้ชาวประมงต้องเสียปลาไปจำนวนหนึ่ง แต่ผลตอนแทบที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามากทีเดียว
 
เรื่องนี้สอนอะไรกับเราได้บ้าง…?
 
ในแง่ของการทำงาน ทฤษฎีนี้สามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรของคุณได้ หากบริษัทมีพนักงานที่แสนเอื่อยเฉื่อย ซึมเศร้า เหมือนปลาที่โดนจับขัง ก็อาจจะต้องหา “ปลาฉลาม” ที่แสนดุดันมาช่วยกระตุ้นให้เขาตื่นตัวมากยิ่งขึ้น
 
แม้ว่าคนที่มีนิสัยเหมือนปลาฉลาม ดุดัน และเข้มงวด อาจจะทำให้บรรยากาศการทำงานไม่ค่อยราบรื่น หรือขุ่นมัวเป็นบางครั้ง แต่ก็จะทำให้บริษัทกลับมากระตือรือร้นมากขึ้นเช่นกัน และเหล่าพนักงานเอง ก็จะได้รับอานิสงค์จากการหนีเจ้าปลาฉลามนี้ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ดีขึ้น หรือหน้าที่การงานเติบโต
 
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัย “The Impact of Leadership Style on Employee’s Motivation” ของมหาวิทยาลัยในอินเดีย ชี้ให้เห็นว่า ผู้นำที่มีความกระตือรือร้นสูง จะทำให้ทีมงานมีแรงกระตุ้นในการทำงานเพิ่มขึ้นถึง 60% และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
 
และถ้าคุณกำลังรู้สึกหมดไฟ เบื่อ เซ็ง! อาจจะต้องเพิ่ม “ความท้าทายใหม่ๆ” เพื่อสร้างความสดใสให้กับชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมายอื่นๆ หรือการเรียนรู้สกิลใหม่ๆ บ้าง ก็ช่วยเพิ่มสีสันให้ช่วงเวลาอันเหี่ยวเฉาได้
 
ก็แหม… ชีวิตการทำงานที่เรียบง่าย สบายไปวันๆ มันก็ไม่สนุกใช่ไหมล่ะ?
 
ฉะนั้น เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าชีวิตเดินทางมาถึงทางตัน อย่าลืมลองถามตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะต้องใส่ “ปลาฉลามตัวใหม่” เข้าไปชีวิตของเรา
 
Author: Charuwan Sudaduong
Illustrator: Kannala Pooriruktananon
 
อ้างอิง:
Advertisements