“หมื่น-หนึ่ง” แม้มีความเสี่ยงต่ำเพียงหนึ่งในหมื่น แต่ก็ประมาทไม่ได้

482
แม้มีความเสี่ยงต่ำเพียงหนึ่งในหมื่น แต่ก็ประมาทไม่ได้
 
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในโลกเรามีอยู่ประมาณเกือบ 500 แห่ง
ประเทศที่มีมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยฝรั่งเศส
อันดับที่สามคือ ญี่ปุ่น
 
ในประเทศญี่ปุ่นมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 42 แห่ง ซึ่งสร้างโดยบริษัท 12 บริษัท เช่น บริษัท Tokyo Electric Power, Kansai Electric Power, Tohoku Electric Power, Japan Atomic Power Company ฯลฯ
 
โรงไฟฟ้าที่เราคุ้นชื่อคือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะ หรือชื่อเต็มว่า Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant ซึ่งถูกสร้างโดย Tokyo Electric Power Company หรือ TEPCO
 
ซึ่งเริ่มก่อสร้างปี 1967 และเปิดใช้งาน ในปี 1971 บนพื้นที่กว่า 3.5 ตารางกิโลเมตร และเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ลำดับที่ 15 ของโลก
 
ในตอนที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะถูกสร้างนั้น เรื่องต้นทุนและประสิทธิภาพนั้นถูกให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
ส่วนความกังวลเรื่องความปลอดภัยนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ที่เรื่องของการรับมือกับแผ่นดินไหว โรงไฟฟ้านี้จึงถูกสร้างขึ้นบนรากฐานที่เป็นหิน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนัก
 
ในตอนก่อสร้างนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ได้รับการขนส่งมาทางเรือ แต่ระหว่างโรงไฟฟ้ากับทะเลนั้นมีกำแพงหินที่สูงมาก ซึ่งต้องถูกทำลายลงเพื่อให้การขนส่งอุปกรณ์นั้นสะดวกมากขึ้น
 
ประมาณ 60 กิโลเมตรจากจุดที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของฟุกุชิมะ ก็มีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โอนากาวะ (Onagawa Nuclear Power Plant) ซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัท Tohoku Electric Power Company ซึ่งเริ่มก่อสร้างในปี 1980
 
ลักษณะของโรงไฟฟ้าโอนากาวะ นั้นคล้ายการก่อสร้างนั้นคล้ายกับโรงฟุกุชิมะ คือตอนแรกก็สร้างบนหินใกล้ทะเลเหมือนกัน
 
แต่ VP ของบริษัท Tohoku Electric Power Company ชื่อ Yanosuke Harai เสนอว่าควรจะย้ายสถานที่สร้างเข้าไปห่างจากทะเลอีกหน่อย พื้นที่ที่เขาเสนอนั้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 15 เมตร พร้อมทั้งเสนอให้สร้างกำแพงสูง 15 เมตรเอาไว้กั้นน้ำทะเลอีกด้วย
 
วิศวกรหลายคนค้านว่ากำแพงจริงๆเอาแค่สัก 10 เมตรก็น่าจะเหลือเฟือแล้ว
 
เหตุผลที่แท้จริงที่ Yanosuke Harai ต้องการให้ทำเรื่องนี้ก็เพราะว่า เมื่อสมัยที่ครอบครัวของเขาพาเขาไปที่ Aneyoshi ที่นั่นมีก้อนหินที่บันทึกเหตุการณ์สึนามิ อายุหลายร้อยปีอยู่ที่นั่น และสร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิด้วย
 
นอกเหนือจากเรื่องที่ตั้งและกำแพง เขายังให้สร้างระบบฉุกเฉินเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับระบบหล่อเย็นเสมอ เพราะเวลาสึนามิมานั้นน้ำจะถูกดูดจากชายฝั่งเข้าไปที่ทะเล
 
แทบทุกคนคิดว่านี่เป็นการ overreact มาก และยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุด้วย เพราะที่ญี่ปุ่นนั้น เรื่องที่คนกังวลมากส่วนใหญ่คือเรื่องแผ่นดินไหว ไม่ใช่สึนามิ
 
แต่ด้วยความดื้อดึงของ Yanosuke Harai ในที่สุดเขาก็ได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เตรียมพร้อมรับมือไม่ใช่แค่สึนามิ แต่พร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวด้วย
 
ในปี 2011 เกิดแผ่นดินไหวขนาดแมกนิจูด 9.0 โดยมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของคาบสมุทรโอชิกะ จุดศูนย์กลางอยู่ใต้พื้นดิน 32 กิโลเมตร นับได้ว่าเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และเป็นแผ่นดินไหวที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ของโลก
 
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะและโรงไฟฟ้าโอนากาวะ สามารถต้านทานแผ่นดินไหวครั้งนี้ได้
 
แต่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไม่สามารถต้านทานสิ่งที่ตามมาหลังแผ่นดินไหวได้ นั่นคือสึนามิที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่มีคลื่นความสูงหลายสิบเมตร มีผู้เสียชีวิตเกิน 20,000 คน และมีคนหลายแสนคนไม่มีที่อยู่
 
คลื่นสึนามิสร้างความเสียหายให้กับอุปกรณ์ที่ใช้ในการหล่อเย็นฉุกเฉินของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ และทำให้เครื่องปฏิกรณ์ 3 เครื่องในจำนวน 6 เครื่องขาดสารหล่อเย็น จนทำให้เกิด nuclear meltdown ในที่สุด และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา สร้างความตื่นตะลึงให้แก่โลกเป็นอย่างมาก นับจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิลเมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว
 
โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะเสียหายอย่างหนัก ในขณะที่โรงไฟฟ้าโอนากาวะกลับไม่เป็นอะไรเลย ทั้งๆ ที่อยู่ใกล้มากกว่าและถูกคลื่นสึนามิสูงกว่าด้วยซ้ำ นอกจากไม่เป็นอะไรแล้วโรงไฟฟ้าโอกานาวะยังเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงหนึ่งเดียวที่ได้รับความเสียหายน้อยมากในบริเวณนั้น จนผู้คนที่ไร้บ้านจากเหตุการณ์สึนามิต้องมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าโอนากาวะเพื่อหลบภัย
 
เมื่อเรื่องนี้ได้รับการสืบสวนถึงสาเหตุ ประธานของ Nuclear Accident Independent Investigation Commission (NAIIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำการสืบสวนเรื่องนี้ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฟุกุชิมะไม่ใช่อุบัติเหตุที่เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ เพราะเหตุการณ์นี้สามารถป้องกันได้
 
เพราะความดื้อของ Yanosuke Harai ที่ตอนนั้นหลายคนมองว่ามันไม่สมเหตุสมผลเอาซะเลย และแทบไม่มีใครเห็นด้วยกับเขาสักคน ความดื้อนี้ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์โอกานาวะรอดปลอดภัยมาได้
 
เขาไม่กลัวที่จะถูกมองว่า overreact หรือหนักกว่านั้นคือเขาไม่กลัวที่จะถูกมองว่าโง่ด้วย และยืนหยัดในความเชื่อของตัวเองมากๆ เพราะเขาคิดว่าเรื่องนี้คือเรื่องสำคัญแบบคอขาดบาดตาย
 
30 ปีผ่านไปมันพิสูจน์ว่าเขาคิดถูก ไม่ใช่แค่คิดถูกอย่างเดียว การตัดสินใจของเขายังช่วยชีวิตคนไว้มหาศาลด้วย
 
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงบทความที่พี่โจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ เคยเขียนถึงคุณไกรสร จันศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ผลิตทูน่ากระป๋องเบอร์ 1 ของโลก เคยเล่างานแห่งหนึ่งว่า
 
คุณไกรสร สอนลูกทุกคนถึง “บ่วงอิก” บ่วง แปลว่าหมื่น ส่วนอิกแปลว่าหนึ่ง คุณไกรสรบอกว่า ต่อให้มีความเสี่ยงต่ำมากขนาดหนึ่งในหมื่น แต่ถ้าความเสี่ยงนั้นจะทำให้ธุรกิจพังหรือล่มจม ต้องระวังและไม่ทำเด็ดขาด เป็นคำสอนที่ลูกหลานยึดมั่นและทำให้ TUF เติบโตขึ้นมาถึงวันนี้
 
สองเรื่องนี้สอนผมว่า เราต้องรู้ว่าความเสี่ยงที่สุดในการทำงาน การทำธุรกิจ หรือการใช้ชีวิตคืออะไร
 
เมื่อรู้แล้ว เราจะต้องหาทางป้องกันทุกวิธีทาง และต้องกล้าที่จะต่อสู้ยืนหยัดเพื่อจะทำเรื่องนี้ให้ได้ด้วย
 
Martin Luther King Jr. เคยกล่าวไว้ว่า
 
‘“OUR LIVES BEGIN TO END THE DAY WE BECOME SILENT ABOUT THINGS THAT MATTER.”
 
‘ชีวิตเราจะค่อยๆ สิ้นสุดลง เมื่อเราเลือกที่จะเงียบในสิ่งที่เราต้องพูด’
 
Advertisements