“ฉันต้องเข้าเส้นชัยให้ได้ ถึงแม้จะต้องคลานไปก็ตาม”
ในปัจจุบัน การวิ่งมาราธอนถือเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่แพร่หลายเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าใครหรือเพศไหน อายุเท่าไหร่ ก็สามารถลงแข่งได้อย่างเท่าเทียมกัน แต่เมื่อก่อนกีฬานี้ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าแข่งขัน เพราะยังมีเส้นแบ่งของเพศสภาพและแนวคิดชายเป็นใหญ่ แถมยังมีความคิดที่ว่าจะทำให้ขาใหญ่ หรือมดลูกได้รับความเสียหายได้ขณะวิ่ง
Kathrine Switzer หญิงสาววัย 19 ปี คือคนที่ออกมาแสดงจุดยืนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศและปฏิเสธความเชื่อเดิมๆ ออกไป เพราะเกิดความสงสัยที่ว่าทำไมโค้ชของเธอถึงบอกว่าผู้หญิงไม่สามารถวิ่งมาราธอนได้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะผู้หญิงบอบบางและไม่สามารถวิ่งได้ไกลเท่าผู้ชาย แต่โค้ชของเธอก็ยังให้เธอได้ฝึกซ้อมและพิสูจน์ตัวเอง จนเธอได้ลงแข่งขัน Boston City Marathon ในปี 1967
“ไม่มีผู้หญิงคนไหนลงวิ่งใน Boston Marathon หรอก”
“ทำไมล่ะ แต่ฉันวิ่งได้คืนละ 10 ไมล์นะ!”
แล้วถ้าหากถามว่าทำไมเธอถึงลงแข่งได้ทั้งๆ ที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่ง ก็เพราะในใบสมัครเธอใช้ชื่อว่า K.V. Switzer และในใบสมัครเองไม่ได้ให้กรอกว่าเป็นเพศไหน (ก็เพราะมันลงได้แต่ผู้ชาย) ทำให้เธอได้รับหมายเลข ‘261’ ออกวิ่งไปพร้อมกับโค้ชและแฟนของเธอ หลายคนตื่นเต้นที่ได้เห็นเธอ ช่างภาพพยายามเก็บภาพของเธอตอนกำลังวิ่ง
แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อมีกลุ่มชายหัวรุนแรงพยายามเข้ามาฉุดรั้งเธอและขัดขวางการวิ่ง หนึ่งในนั้นคือผู้จัดงานที่วิ่งลงจากรถมากระชากแขนเธอ เพื่อจะเอาป้ายหมายเลขออก
“ออกไปจากการแข่งขันของฉัน และเอาป้ายนั่นคืนมาซะ!”
แต่โชคยังดีที่แฟนหนุ่มของเธอเข้ามาช่วยผลักชายคนนั้นออกไป จนเธอสามารถวิ่งมาราธอนได้ถึงเส้นชัย โดยใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งเธอได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าเหตุผลจริงๆ แล้วเธอก็แค่ ‘อยากวิ่ง’ เท่านั้นเอง
หลังจากนั้น Kathrine Switzer ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเท่าเทียมของผู้หญิงและกีฬา รวมถึงทำให้ผู้หญิงออกมาวิ่งมาราธอนกันมากขึ้น จนในปี 1972 Boston อนุญาตให้ผู้หญิงสามารถลงสมัครเข้าแข่งขันอย่างเป็นทางการ ต่อมาในปี 1984 โอลิมปิกได้บรรจุกีฬาวิ่งมาราธอนหญิงขึ้นเป็นครั้งแรก กลายเป็นว่า Movement ของเธอในครั้งนี้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับวงการกีฬา
เรื่องราวความน่าประทับใจยังไม่จบเพียงเท่านี้ เวลาผ่านไป 50 ปี Kathrine Switzer ในวัย 70 ปี กลับมาลงแข่งขันรายการ Boston City Marathon อีกครั้ง แถมยังสวมหมายเลข 261 ที่เธอลงแข่งในครั้งแรกอีกด้วย ทำให้เบอร์นี้กลายเป็นเบอร์นำโชคของนักวิ่งมาราธอนหญิงหลายๆ คน
แปลและเรียบเรียงจาก
แหล่งที่มาเพิ่มเติม