ความเชื่อใจ’ เปรียบเสมือนสกุลเงินที่มีค่าที่สุดของมนุษย์ เพราะหากเราสามารถสร้างความเชื่อใจ สิ่งที่ตามมา คือ พลังแห่งการ ‘โน้มน้าว’ ที่ทำให้อีกฝ่ายทำตามที่ใจเราหวังอย่างง่ายดาย
ในชีวิตประจำวันของเราก็เช่นกัน เราต้องพบเจอกับผู้คนหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในการทำงาน หรือในเรื่องความสัมพันธ์ เพราะฉะนั้น คนที่สามารถสร้างความเชื่อใจในเวลาอันสั้นได้ จะส่งผลให้พบเจอกับ ‘โอกาส’ ที่ตามมาอีกมากมายในชีวิต
แต่หากเราเผลอพลั้ง สร้างเหตุการณ์ที่ทำลายความเชื่อใจของอีกฝ่ายไปแล้ว คงยากหน่อยที่จะพัฒนาความสัมพันธ์นี้ให้ไปต่อ หรืออาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการเรียกความมั่นใจกลับมา
นิสัยพื้นฐานของมนุษย์ล้วนต้องการได้รับ ‘การยอมรับ’และ ‘ไว้วางใจ’ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รู้สึกเป็นคนสำคัญของอีกฝ่าย เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ความเชื่อใจ’ เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยสร้างความสำเร็จในชีวิต
โรบิน ดรีก อดีตหัวหน้าโครงการวิเคราะห์พฤติกรรมของ ‘FBI’ หรือ หน่วยสืบสวนคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ บอกเล่าวิธีการสร้าง ‘ความเชื่อใจ’ ในเวลาอันสั้น ผ่านประสบการณ์ที่เขาพบเจอมากับการเผชิญหน้าโจรผู้ร้าย และต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้อีกฝ่ายยอมฟังในสิ่งที่ตนเองอยากทำข้อตกลง
1. การใช้ภาษากายช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ และพยายามสร้างบรรยากาศที่ ‘ไม่เป็นทางการ’ จนเกินไป คุณสามารถออกท่าทางตามอีกฝ่ายเหมือนเป็นกระจกสะท้อน เพื่อสร้างความคุ้นชินให้แก่เขา หรือการรู้จักยิ้มรับอีกฝ่ายอยู่ตลอด เหตุเพราะทุกคนล้วนชอบอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคย มันส่งผลให้รู้สึกถึง ‘ความปลอดภัย’
2. ใช้การสบตาช่วยบรรเทาความอึดอัด เมื่อเราจ้องเข้าไปในตาของอีกฝ่ายอย่างตั้งใจ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับอีกฝ่ายได้แบบไม่รู้ตัว ไม่ว่าเขาต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หากเรารู้จักทิ้งจังหวะให้เขาพูดและฟังอย่างตั้งใจ รอจนจบประโยคแล้วค่อยตอบกลับสิ่งที่เขาสื่อสารอย่างเข้าอกเข้าใจ จะช่วยเสริมความเชื่อใจกลับมาได้ไม่มากก็น้อย
3. เป็นผู้ฟังที่น่าเชื่อถือ ทั้งวิธีการพูดจา หรือโทนน้ำเสียง ต้องไม่พูดเร็วจนเกินไป เพราะการพูดหรือแสดงปฏิกิริยาอย่างรวดเร็วเปรียบเสมือนการโจมตี รุกล้ำขอบเขตทางความคิดอีกฝ่ายโดยไม่รู้ตัว ให้คำนึงเสมอว่าเรามาเพื่อฟังสิ่งที่เขาอยากสื่อสารเป็นหลัก และหลีกเลี่ยงการขัดจังหวะหรือคำพูดที่ต้องการเอาชนะความคิดของอีกฝ่าย
4. โยนคำถามปลายเปิดเพื่อให้อีกฝ่ายได้แสดงความคิดต่อเรื่อยๆ หากคุณกำลังตั้งใจฟังเขาอยู่จริงๆ การคิดคำถามในหัวข้อใกล้เคียงกันกับสิ่งที่เขาพูดคงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผู้คนส่วนมากล้วนชื่นชอบการเล่าสิ่งที่ตัวเองสนใจอยู่แล้ว แต่ในหลายครั้งบทสนทนามักถูกตัดจบไปดื้อๆ เพราะไม่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อของผู้ฟัง
เพราะคุณมีโอกาสในการสร้างความประทับใจแรกเพียงครั้งเดียว และภายในเวลาไม่กี่นาทีที่คุณอยู่กับบทสนทนา คุณควรตั้งใจซึมซับอยู่กับโมเมนต์นั้น เพื่อไม่ให้คุณต้องเสียใจกับโอกาสที่ทำหลุดลอยไป เพียงเพราะคุณไม่ได้ตั้งใจอยู่กับมันจริงๆ แม้เป็นแค่ดีเทลเล็กน้อยก็ตามที
Author: Supakorn Thepvichaisinlapakun
Illustrator: Kannala Pooriruktananon
อ้างอิง: