แน่นอนว่า “คุณค่าของมนุษย์” คือ การได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิเท่าเทียม สามารถกำหนดหรือเลือกทิศทางชีวิตด้วยตัวเองได้ เพราะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด ที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับแต่กำเนิด
ถึงแม้วันนี้ พ.ร.บ. การสมรสคู่รักเพศเดียวกัน จะผ่านร่างกฎหมายโดยกระทรวงยุติธรรม และได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสได้
แต่ “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ที่ชาว LGBTQ+ ได้รับมา ไม่เท่ากับ “พ.ร.บ. คู่สมรส” เสียทีเดียว มีสิทธิประโยชน์บางอย่างที่ยังคลุมเครือ รู้สึกถูกปฎิบัติแบบแบ่งชั้น และเกิดคำถามมากมายในใจผู้คน
เพราะเมื่อลองพิจารณาดูแล้ว สิ่งที่จำกัดเรื่องความสนใจทางเพศ เห็นจะมีเพียง ‘คำนิยาม’ ที่ใช้เรียกกลุ่มคนเหล่านี้ตามกันมา คำที่ถูกจำกัดกรอบโดยระบบสังคมเดิม
แต่เนื้อแท้ของความรัก หากเราถอดขนบธรรมเนียม ประเพณีดั้งเดิมออกไป เรากลับพบว่า มันบริสุทธิ์ หอมหวาน ไร้เดียงสา และไม่มีพิษมีภัย
เพราะความรักไม่ได้ชวนทะเลาะหรือพาให้ใครต้องเดือดร้อน “เว้นแต่คุณจะเข้าไปก้าวก่ายกับมันเอง”
ที่สำคัญ คือ การได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการเลือกสิ่งที่ใจบอกว่า ‘ใช่’
หากมีใครมาพรากสิทธิพิเศษเหล่านี้ไป คงจะเศร้าหมองและหมดพลังใจไปไม่น้อย
เพียงช่วงชีวิตหนึ่งที่ได้เติบโต ทุกคนต้องทำความรู้จักกับความรักไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง รักในครอบครัว รักจากมิตรสหาย และรักที่มอบให้กันโดย ‘คู่ชีวิต’
และไม่ว่าคุณจะเป็นชายหรือหญิง ทุกคนล้วนอยากเรียนรู้ที่จะ ‘รัก’ กับคนที่ใจได้เลือกเอง
และเมื่อได้เริ่มรักแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่คุณอยากได้จากคนรัก คือ “ความซื่อสัตย์และจริงใจ”
แต่หากความสัตย์ตรงต่อความรู้สึกของกลุ่มรักร่วมเพศ ที่มีโอกาสได้เรียนรู้และพบรักกัน ไม่ต่างกับคนรักธรรมดาทั่วไป จะถูกจำกัดไว้เพียงเพราะกรอบในสังคม ใครบางคน หรือตัวคุณเอง ที่บอกว่ามัน ไม่เหมาะสม ไม่เป็นธรรมชาติ ไม่ถูกที่ถูกทาง และมองว่าเป็นสิ่ง ‘ผิด’
ลองคิดดูให้ดี… นี่เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวไปหรือเปล่า?
ที่ไม่อยากให้คนอื่นมีสิทธิครอบครอง “ความสุขทางใจ” อย่างเท่าเทียมกัน
ในขณะที่คุณเอง ก็อยากได้รับความสุขนั้นไม่ต่างกันเลย…
Author: Supakorn Thepvichaisinlapakun
Illustrator: Kannala Pooriruktananon
อ้างอิง: