ร้านราเมนขนาดย่อมตามตรอกซอกซอยของญี่ปุ่น ดูเหมือนจะอยู่คู่บ้านคู่เมืองมานานแสนนาน ร้านราเมนขนาดกะทัดรัดที่มีทั้งคนญี่ปุ่นเองและนักท่องเที่ยวอัดแน่นเต็มร้าน ชนิดตัวแทบติดกันเป็นภาพปกติที่เราคุ้นชินกัน
แต่การมาถึงของวิกฤต COVID-19 กำลังทำให้ชะตาชีวิต ของร้านราเมนขนาดเล็กเริ่มหวั่นไหว
การที่ต้องมี Social Distancing หมายความว่า ร้านขนาดเล็กเหล่านี้ไม่สามารถจุคนได้เยอะเหมือนเดิมอีกต่อไป แถมบางร้านชั่วโมงการเปิดก็ลดลงอีกด้วยตามคำขอร้องของรัฐบาล
ทางเลือกของพวกเขาดูเหมือนจะมีแค่สองทางคือ ถ้าไม่ขึ้นราคา ก็ต้องปิดร้าน แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นการขึ้นราคาอาหารที่เป็นที่พึ่งของคนจำนวนมากเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ไม่มีใครอยากทำ โดยเฉพาะเมื่อคิดว่าต้องขึ้นราคากับลูกค้าประจำ
Yoshihisa Saito อายุ 61 ปี เล่าให้ Bloomberg ฟังว่าตัวเขานั้นเป็นพนักงานของร้านราเมนเชนเล็กๆ ชื่อ Kouraku Honpo เล่าว่า
“การขึ้นราคาราเมนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การผลักภาระไปให้ลูกค้าของเราเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมอย่างมาก เพราะลูกค้าก็ลำบากจากวิกฤตครั้งนี้เหมือนกัน”
ด้วยเหตุนี้ Kouraku Honpo จำเป็นต้องปิดสาขา Shimbashi ลงอย่างถาวรในปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ร้านราเมนรวมถึงร้านอาหารจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านที่ขายอาหารราคาถูกและตัวร้านมีขนาดเล็กกำลังประสบปัญหานี้ และจำนวนมากต้องตัดสินใจปิดตัวลง
ข้อมูลจาก Teikoku Databank รายงานว่า จากการปิดกิจการทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีนี้ 10% มาจากร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งถือเป็นประเภทธุรกิจที่ปิดตัวลงมากที่สุด โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,221 ร้าน ซึ่งตัวเลขอาจจะสูงกว่านี้มากถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือ (มาตรการช่วยเหลือร้านค้าขนาดเล็กของรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นส่วนนึงของ แพ็กเกจมูลค่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐที่ออกมาในช่วงต้นปี)
Tsutomu Watanabe หัวหน้าแผนกเศรษฐศาสตร์ของ University of Tokyo บอกว่า ธุรกิจของญี่ปุ่นส่วนใหญ่ทำงานบนสมมติฐานที่ว่าอะไรก็ตามที่เคยราคาเท่าไร ก็จะราคาเท่าเดิมต่อไป
ถ้าจะว่าไปราคาราเมนของญี่ปุ่นไม่เคยเปลี่ยนมาเป็นสิบปีแล้ว
เมื่อมี Mindset เช่นนี้ ร้านจึงเลือกที่จะลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด และเมื่อไม่ไหวจริงๆ ร้านจำนวนมากจึงเลือกปิดดีกว่าที่จะขึ้นราคา ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วการขึ้นราคาเพียงเล็กน้อยก็อาจจะสามารถรักษาร้านไว้ได้โดยเฉพาะร้านที่มีลูกค้าประจำเยอะๆ
จะว่าไปแล้วการกลัวที่จะขึ้นราคาสินค้าเป็น Mindset ระดับชาติของญี่ปุ่น ประเทศที่ค่าเงินฝืดติดต่อกันมาหลายปี มีความพยายามจากธนาคารแห่งชาติของญี่ปุ่นในการเปลี่ยน Mindset นี้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก
แต่บางคนก็มีวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
Kazuhisa Tanaka เจ้าของร้านราเมนขนาดเล็กบอกว่า เขาเลือกจะใช้กลยุทธ์ที่เขาเองก็ไม่เคยทำมาก่อน เราจะเรียกว่า Dynamic Pricing ก็ได้
กลยุทธ์ที่ว่าคือการขึ้นราคาและลดราคาในวันเดียวกัน แต่คนละช่วงเวลา
กล่าวคือ จากเดิมที่เคยขายราเมนที่ราคา 1,000 เยนทั้งวัน ตอนนี้เขาจะ “ขึ้น” ราคาราเมนเป็น 1,500 เยนในช่วงเที่ยงซึ่งเป็นช่วงพีค และ “ลด” ราคาขายลงเหลือ 800 เยนตั้งแต่ 14:30 น เป็นต้นไป
กลยุทธ์ทั้งเพิ่มทั้งลดราคานี้ ทำให้ร้านของเขายังดำเนินกิจการต่อไปได้
ในขณะที่เชนยักษ์ใหญ่อย่าง Ippudo ซึ่งบอกว่ายอดขายของร้านในญี่ปุ่นลดลงเหลือประมาณครึ่งเดียวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว พวกเขาเลือกที่จะขึ้นราคาบางเมนู และออกเมนูใหม่ที่มีราคาถูกสำหรับลูกค้าที่ Price Sensitive มากๆ
วิกฤตครั้งนี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงและยาวนาน การปรับตัวในรูปแบบใบรูปแบบหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านราเมนก็เช่นกัน